Process & Proceeds/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

Process & Proceeds/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากมักจะเชื่อว่าความสำเร็จในการลงทุนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการหรือกระบวนการลงทุน พวกเขาคิดว่าวิธีการอย่างไรก็ได้ ขอให้ทำแล้วได้กำไร พูดง่าย ๆ ซื้อถูกแล้วขายแพง แต่ถ้าถามต่อว่าจะทำอย่างไรจึงจะซื้อได้ในราคาถูกและขายได้ในราคาที่แพงเป็นส่วนใหญ่เขาก็มักจะตอบไม่ได้ คนเหล่านี้ผมคิดว่าเขาลงทุนด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์มากกว่าการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลหรือวิชาการ เขารู้สึกว่าหลักการเหล่านั้นมันอาจจะยากเกินไปหรือช้าเกินไปสำหรับการลงทุน สำหรับเขาแล้ว หัวใจสำคัญก็คือการคอยดูว่า “เจ้ามือ” หรือนักเล่นหุ้นรายใหญ่เขาจะเล่นหรือซื้อขายหุ้นตัวไหนและในทิศทางไหน ดังนั้น การดูการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นคือสิ่งที่เขาจะต้องทำตลอดเวลา นอกจากนั้นพวกเขาก็จะต้องคอยติดตามข่าวสารต่าง ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เน้นเรื่องหุ้นและข่าวซุปซิบตามเว็บไซ้ต์และข้อมูลจากสื่อสังคมเช่นในไลน์กลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น ในสายตาของนักลงทุนที่มีความรู้หรือประสบการณ์แล้ว คนเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า “แมงเม่า” ซึ่งมักจะเข้ามาซื้อขายหุ้นรายวันในหุ้นที่กำลังมีการปรับตัวที่ “ร้อนแรง” ทั้งทางขึ้นและทางลง

นักลงทุนที่อาจจะมีขนาดพอร์ตใหญ่ขึ้นมาและมีความรู้และประสบการณ์สูงขึ้นก็จะมีวิธีการหรือกระบวนการลงทุนที่เป็นระบบหรือวิชาการมากขึ้น บางคนใช้วิธีการทางเทคนิคเพื่อที่จะบอกว่าเขาควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนและเขาก็มักจะทำตามโดยไม่สนใจข่าวสารหรือประเด็นอะไรเกี่ยวข้องกับตัวหุ้น เขาคิดว่าถ้ามีข่าว ข่าวนั้นก็ถูกสะท้อนเข้าไปอยู่ในราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้นอยู่แล้ว การนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์พิจารณาอีกก็จะกลายเป็นการซ้ำซ้อนและจะทำให้เกิดความผิดพลาด ในกรณีแบบนี้เขาก็จะถูกเรียกว่าเป็นนักลงทุนแนวเทคนิค

นักลงทุนที่ถูกเรียกว่า Value Investor นั้น มักจะเป็นคนที่ต้องแสวงหาข้อมูลและวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการอย่างถี่ถ้วนตั้งแต่การผลิตการตลาดการเงินและการแข่งขันของธุรกิจรวมถึงการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น การซื้อหุ้นนั้นจะต้องดูว่ามูลค่านั้นสูงกว่าราคาที่เป็นอยู่มากพอสมควรที่เรียกว่า Margin of Safety ส่วนการขายก็เป็นตรงกันข้ามนั่นก็คือ ราคาสูงเกินมูลค่าที่เหมาะสมไปแล้ว ดังนั้น คนที่เป็น VI จึงมักจะถือหุ้นอยู่นานกว่านักลงทุนแนวอื่น เพราะการเคลื่อนไหวของราคาอาจจะต้องใช้เวลา นอกจากนั้น มูลค่าพื้นฐานก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วย

นักลงทุนบางคนนั้น อาจจะใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ทั้งทางเทคนิคและพื้นฐานแบบ VI ในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ วิเคราะห์หุ้นที่จะซื้อหรือขายแบบ VI แต่จะซื้อหรือขายจริงก็ต้องรอให้เส้นกราฟทางเทคนิคบอกให้ทำ ด้วยวิธีนี้เขาบอกว่าจะทำให้ไม่ผิดพลาดในการเลือกตัวหุ้นที่จะลงทุนเช่นเดียวกับที่ทำให้ไม่ต้องรอนานในการสร้างผลตอบแทน แต่ถ้าพูดกันตามความจริง ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะใช้วิธีการแบบนี้ เหตุผลเพราะว่าคนที่เป็น VI ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยเชื่อในด้านของเทคนิคและก็มักจะไม่เรียนรู้วิธีที่จะทำ ในขณะที่นักเทคนิคเองนั้น เขาก็อาจจะคิดอยู่แล้วว่าข้อมูลด้านพื้นฐานนั้น ถ้าบริษัทกำลังมีผลงานที่ดีราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปรองรับอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องดูข้อมูลด้านคุณค่า ยิ่งนำมาคิดก็จะยิ่งสับสนทำให้พลาดการลงทุนในหุ้นหรือขายหุ้นเพราะ “ไม่เชื่อกราฟ”

นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้า” หรือเป็น “เซียน” ซึ่งมักจะมีขนาดของพอร์ตใหญ่ขึ้นหรือเป็นนักลงทุนที่มัก “เกาะ” ไปกับรายใหญ่ในการลงทุนนั้น บางทีไม่ได้ลงทุนแบบ “Passive” ในแง่ที่ว่าพวกเขาศึกษาและใช้แต่ข้อมูลที่มีการประกาศต่อสาธารณะแล้ว กระบวนการลงทุนของพวกเขาจะเป็นการหาข้อมูลที่ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไปและมักจะมีการติดต่อพูดคุยกับผู้บริหารและ/หรือเจ้าของบริษัท พวกเขาจะพยายามหา “ข้อมูลภายใน” โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญเช่น ผลประกอบการที่กำลังจะประกาศในเร็ว ๆ นี้ หรือข้อมูลอื่น ๆ เช่น การขยายเข้าไปทำธุรกิจเดิมหรือธุรกิจใหม่โดยการควบรวม เป็นต้น

นอกจากเรื่องของบริษัทแล้ว นักลงทุนแบบ “Active” ยังอาจจะพยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการซื้อขายและราคาหุ้นของบริษัทด้วย ซึ่งอาจจะรวมถึงการสั่งซื้อหุ้นจำนวนมากและชักชวนให้เพื่อนและนักลงทุนอื่น ๆ เข้าไปซื้อหุ้นโดยการ “สร้างกระแส” ข่าวดีและความน่าสนใจของหุ้นพร้อม ๆ กับราคาที่มักจะ “กระโดด” เนื่องจากแรงซื้อที่มากเมื่อเทียบกับ Free Float ของหุ้นในตลาด คนกลุ่มนี้บ่อยครั้งก็อาศัยการ Leverage หรือการกู้เงินจำนวนมากหรือใช้เครื่องมือขยายกำลังเช่น การทำ Block Trade เพื่อที่จะสามารถเพิ่มพลังการซื้อของตนเป็น 10 เท่า เพื่อที่จะขับดันราคาหุ้นให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้น โดยสรุปแล้ว กระบวนการในการเล่นหุ้นหรือลงทุนของ Active Investor แบบนี้ก็ต้องอาศัยการดำเนินการแบบเป็นกลุ่มที่ทุกคนต่างก็ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันโดยเฉพาะในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปมหาศาลแล้ว การร่วมมือก็มักจะหมดไป และจังหวะของการขายก็มักจะเป็นเรื่อง “ตัวใครตัวมัน”

พูดถึงเรื่องของวิธีหรือกระบวนการการลงทุนแล้วเราก็ต้องตามมาด้วย “ผลตอบแทน” หรือเงินที่จะได้รับจากการลงทุน ผมเองมีความเชื่อว่าการลงทุนแบบ “แมงเม่า” นั้น ไม่น่าจะมีใครสามารถทำเงินได้เป็นเรื่องเป็นราว ผมคิดว่าคนที่ทำนั้นเองก็อาจจะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตการเงินของตนเองหรือให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ตนเองได้แม้ว่าจะทำให้ “มีความหวัง” ทุกวันคล้าย ๆ กับคน “แทงหวย” หรือซื้อล็อตเตอรี่

ผมเองไม่เชื่อในการวิเคราะห์ทางเทคนิค ดังนั้น ผมก็ไม่ได้สนใจว่าจะมีใครสามารถทำเงินได้มาก ๆ ด้วยวิธีนี้ ผมรู้สึกว่าการเล่นหุ้นด้วยกราฟนั้นมักจะทำให้ต้องซื้อ ๆ ขาย ๆ บ่อยมากซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าคอมสูงซึ่งถ้าทำไปนาน ๆ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงก็น่าจะยาก

วิธีคิดและกระบวนการลงทุนแบบ VI นั้น ผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการที่สนุกตื่นเต้นโดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องของธุรกิจและการแข่งขัน มันต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการวิเคราะห์กิจการและประเมินมูลค่าของหุ้น มันต้องอาศัยจิตใจและการควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงไม่วอกแวกต่อสิ่งเร้าที่จะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด เราต้องรู้จักโลกและผู้คนที่อยู่รอบตัวในด้านต่าง ๆ ทั้งหมดนั้นหมายความว่าเราต้องอ่านอย่างหนัก และคนที่สามารถทำได้ดีกว่าคนอื่นก็น่าจะสามารถทำผลตอบแทนการลงทุนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

การลงทุนอย่าง “Active” นั้น บางครั้งหรืออาจจะบ่อยครั้งก็มักจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับคนที่ทำได้ กระบวนการที่เมื่อซื้อหุ้นแล้วก็พยายามทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเพื่อที่จะช่วยขับดันราคาหุ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป ในบางครั้งผมเองก็เข้าไป “โวย” หรือแนะนำให้ผู้บริหารทำบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้บริษัททำรายได้หรือกำไรสูงขึ้น หรือบางทีก็ไปเสนอให้บริษัทจ่ายปันผลในอัตราที่สูงขึ้นซึ่งน่าจะทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การทำกิจกรรมที่คาบเกี่ยวกับกฎหมายหรือจริยธรรมเช่น การแสวงหาข้อมูลภายใน การซื้อขายหุ้นในลักษณะที่เข้าข่ายหรือมีผลเท่ากับการ “ปั่นหุ้น” เพื่อที่จะขับราคาหุ้นให้ขึ้นไปผิดกับความเป็นจริงนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่า จริงอยู่ในระยะสั้นบางครั้งมันก็ทำให้เราได้กำไรหรือได้เงินหรือได้ผลตอบแทนดีขึ้นกว่าปกติมาก แต่ในระยะยาวแล้ว ก็อาจจะพลาด เสียหายอย่างหนักได้

การได้เงินมาก ๆ นั้น แน่นอนมันทำให้มีความสุข แต่การมีวิธีการหรือกระบวนลงทุนที่ถูกต้องไม่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีหรือ “ดิ่งเหว” ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความสุขไม่แพ้กัน วอเร็น บัฟเฟตต์พูดเรื่องนี้ไว้ว่า “We enjoy the process far more than the proceeds, though I have learned to live with those too.” ซึ่งแปลว่า “เรามีความสุขกับกระบวนการลงทุนมากกว่าเงินที่ได้รับมาก ถึงแม้ว่าผมจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน(เงิน)ด้วยเช่นกัน” หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือ จงสนุกกับการลงทุนและกระบวนการลงทุนที่ถูกต้อง ส่วนเรื่องเงินนั้น—มันก็คงจะมาเอง และคุณก็จะมีความสุขกับมันเช่นเดียวกัน! คนที่คิดว่าจะใช้วิธีไหนในการลงทุนก็ได้ ขอให้ได้กำไรก็พอ นั้น เขาอาจจะไม่ได้เงินหรือได้ก็ไม่ยั่งยืน หรือถ้าได้เงินก็อาจจะไม่มีความสุขมากนักเทียบกับคนที่ใช้วิธีการลงทุนที่ถูกต้อง
imerlot
Verified User
โพสต์: 2697
ผู้ติดตาม: 13

Re: Process & Proceeds/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

http://www.berkshirehathaway.com/letters/1989.html
We wouldn't have liked those 99:1 odds - and never will. A
small chance of distress or disgrace cannot, in our view, be
offset by a large chance of extra returns. If your actions are
sensible, you are certain to get good results; in most such
cases, leverage just moves things along faster. Charlie and I
have never been in a big hurry: We enjoy the process far more
than the proceeds - though we have learned to live with those
also.


* * * * * * * * * * * *

We hope in another 25 years to report on the mistakes of the
first 50. If we are around in 2015 to do that, you can count on
this section occupying many more pages than it does here.
Goiy
Verified User
โพสต์: 2
ผู้ติดตาม: 0

Re: Process & Proceeds/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณสำหรับบทความค่ะ
โพสต์โพสต์