หาเหยื่อในดงฉลาม/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

หาเหยื่อในดงฉลาม/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

กรณี “โกงบิทคอยน์” ที่กำลังเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ติดต่อกันหลาย ๆ วันนั้น ผมคิดว่าอาจจะทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามและวิเคราะห์อย่างละเอียดได้ “ภาพ” ที่ผิดจากความเป็นจริง เช่น คิดว่ามีกลุ่มคนโกงที่มีความฉลาดรอบรู้หลอกหรือต้มตุ๋นคนที่โลภและไม่เข้าใจว่าอะไรคือบิทคอยน์ให้เข้าไปเล่นและเสียเงินให้กับคนโกง เป็นต้น เพราะความเป็นจริงดูเหมือนจะเป็นเรื่องของคนที่เป็น “เซียน” หรือเป็น “ขาใหญ่” เจอกับ “ขาใหญ่” ที่ฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ เสียเงินก้อนใหญ่ระดับเกือบพันล้านบาทไปแล้วและกำลังพยายามเอาคืน แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ใช่ว่าจะชนะ เพราะกำลังประสบกับการรุกคืนที่อาจจะทำให้ “เจ็บ” รุนแรงยิ่งกว่า

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนั้น ต้องขอบอกก่อนว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่าใครโกงเพราะนั่นเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันต่อไปในศาล สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อก็คือเรื่องของ ความเสี่ยงของนักลงทุนหรือ “นักเล่นหุ้น” หรือตราสารหรือเครื่องมือลงทุนต่าง ๆ ว่าโดยทั่วไปจะมีสองอย่างนั่นก็คือ หนึ่ง ความเสี่ยงของตราสารหรือทรัพย์สินลงทุนที่เราจะซื้อว่ามันมีค่าสมควรแก่ราคาและราคาจะตกลงไปหรือไม่ และสองก็คือ ความเสี่ยงจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเราจะได้ของที่ถูกต้องในจำนวนที่ถูกต้องแค่ไหนเมื่อเราจ่ายเงินไปแล้ว เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถที่จะทำให้เรา “เจ๊ง” ได้ง่าย ๆ

กลับมาดูกรณีของการ “โกงบิทคอยน์” นั้น ข้อเท็จจริงของเรื่องก็คือ มีนักลงทุน “รายใหญ่” ที่ผมคิดว่าน่าจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องของการลงทุนไม่น้อยเลย ถ้าจะเปรียบเทียบก็น่าจะคล้าย ๆ กับ “ปลาฉลาม” หรือความสามารถระดับน้อง ๆ ฉลามที่สามารถล่าเหยื่อไปในน่านน้ำกว้าง เหตุเพราะว่ามีพอร์ตหรือมีเงินจำนวนมากแถมเป็นเงินในรูปแบบบิทคอยน์ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินมากพอเท่านั้นที่จะทำได้ เขาตกลงและจ่ายเงินหรือบิทคอยน์ซึ่งก็คือเงินสกุลหนึ่งเพื่อซื้อหุ้นของหลายบริษัทผ่านการแนะนำและจัดการหรือทำรายการโดยคนที่ “รู้จัก” และน่าจะมั่นใจได้ว่าจะ “ไม่โกง” ทั้งหมดนี้ก็ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรผิดปกติ ถ้าจะพูดว่าตนเอง “ถูกหลอก” ให้หลงซื้อหุ้นหรือตราสารการเงินที่ไม่มีค่าก็น่าจะยากที่จะเอาผิดคนขายได้เนื่องจากตนเองไม่ใช่ชาวบ้านหรือนักลงทุนรายเล็ก ๆ ที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการลงทุน เหนือสิ่งอื่นใด คนที่ซื้อ “หุ้นปั่นหุ้นเน่า” ในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อหุ้นผิดพลาด หุ้นตกลงไปจนกลายเป็นศูนย์หรือเหลือน้อยมากก็มีอยู่ตลอดเวลา จะไปอ้างว่าตนเองถูกหลอกนั้นคงทำไม่ได้

ประเด็นที่สองก็คือเรื่องที่กล่าวโทษว่าจ่ายเงินหรือบิทคอยน์ไปแล้วแต่กลับไม่ได้รับหุ้นหรือตราสารที่ตกลงกันและนี่ก็คือเรื่องของการ “โกง” ที่เป็นข่าวเป็นเรื่อง และนี่เป็นประเด็นที่น่าจะต้องไปพิสูจน์กันในศาล ซึ่งนาทีนี้ดูเหมือนว่าน่าจะมีข้อโต้แย้งว่าฝ่ายที่ขายบอกว่าคนซื้อไม่ยอมรับโอน อาจจะเนื่องจากราคาของตราสารหรือหุ้นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ลดลงจนทำให้คนซื้ออยากจะได้เงินคืน ผมเองไม่รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาก็คือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์หรือตราสารที่อยู่ “นอกระบบ” เช่นบิทคอยน์หรือหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์นั้น มีความเสี่ยงในด้านของ Execution หรือการเปลี่ยนมือกันสูง ผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมจึงปล่อยให้มี “ช่องว่าง” ระหว่างการจ่ายเงินกับการโอนหุ้น บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีของการซื้อขายบิทคอยน์ก็เป็นได้ หรือไม่ก็อาจจะเป็นเรื่องของการโกงจริง ๆ ก็คือคนขายไม่ได้มีหุ้นหรือตราสารในมือหรือมีแต่ไม่โอนให้ทันทีก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าคงไม่เป็นข่าวใหญ่และดังขนาดที่เห็นถ้าไม่ใช่ “ตัวละคร” และเหตุการณ์ต่อจากนั้นที่มีการโอนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นและตราสารแก่บุคคลอื่น ๆ หลาย ๆ ราย ซึ่งรวมถึงดารา คนที่มีอิทธิพล และ “เจ้าพ่อตลาดหุ้น” รวมถึงการที่มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยและทั้งหมดนั้นกำลังถูกสอบสวนและอาจจะได้รับข้อหา “ฟอกเงิน” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีโทษสูง ทั้งหมดนั้นทำให้ข่าวมีสีสันและ “ขายได้” โดยเฉพาะเมื่อนำมาผสมกับคำว่า “บิทคอยน์” และคอยน์ชื่ออื่นที่มักจะมีเรื่องราวฉาวโฉ่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะจากต่างประเทศ ในความคิดของผม คนกลุ่มนี้ก็คือ “ฉลาม” หรือน้อง ๆ ฉลาม ที่กำลังถูก “ฉลาม” เล่นงาน เหตุเพราะว่าในตลาดการลงทุนโดยเฉพาะการเก็งกำไรในตราสารหรือเครื่องมือการลงทุนใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น มันเป็นเสมือนน่านน้ำที่เต็มไปด้วยฉลามหรือเป็น “ดงฉลาม” ที่บ่อยครั้งแม้แต่ฉลามหรือน้อง ๆ ฉลามก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อเสียเองได้

พูดกันตามตรง ผมเองรู้จักกับนักลงทุนรวมถึง VI ระดับ “เซียน” หลายคนเข้าไป “เล่น” ในตลาดนี้ การตัดสินใจลงทุนนั้นมักจะทำกันอย่างรวดเร็วมากหลังจากที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเสนอความคิดและผลิตภัณฑ์ของเขา เหตุผลอาจจะเป็นว่าถ้ามัน “ดี” และคุณตัดสินใจช้า หุ้นอาจจะหมด คุณอาจจะเห็นความเสี่ยงมากมายและมี “ช่องว่าง” ที่เปิดอยู่ขนาดที่เรียกว่าถ้าเขา “เบี้ยว” คุณแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยเพราะกฎหมายอาจจะก้าวไปไม่ถึง เงินลงทุนคุณอาจจะศูนย์และคุณอาจจะถูกตั้งคำถามในภายหลังว่า คุณทำอย่างนั้นได้อย่างไร? ไม่ได้นึกถึงความเสี่ยงเลยหรือ? ทั้งความเสี่ยงเรื่องของธุรกิจและเรื่องของการโอนหุ้นหรือการทำตามสัญญาที่มักจะ “ไม่มีผลบังคับ” ทั้งหมดนั้น ผมได้รับคำตอบว่า ในวงการนี้ คุณต้องเชื่อมั่นและไว้ใจผู้บริหาร ความสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งหมดอยู่ที่ผู้บริหาร ถ้าคุณคิดว่าเขาจะโกงคุณก็อย่าไปลงทุน คุณไม่มีสิทธิที่จะไปตั้งเงื่อนไขอะไรทั้งนั้น

เพื่อนผมที่ไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นต่างก็รู้และเข้าใจความเสี่ยงที่สูงลิ่วในทุกด้านดี เขาคิดว่าเงินที่ลงทุนนั้นเป็นเงินจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมของพวกเขา ดังนั้น ถ้ามันจะสูญหายไปก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันดี ผลตอบแทนก็อาจจะมหาศาล กำไรอาจจะเป็นมากกว่าสิบเท่าหรือสิบเด้งภายในเวลาไม่กี่ปี ว่าที่จริงมันก็อาจจะไม่ต่างกับหุ้นเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์มากนักแม้ว่าโอกาสได้เสียของสตาร์ทอัพอาจจะสูงกว่า ลึก ๆ แล้ว ผมคิดว่าบางคนอาจจะซื้อหุ้นของสตาร์ทอัพด้วยมุมมองที่ว่าถ้ามันเกิด “แจ็คพอต” เขาก็รวยไปเลย คล้าย ๆ กับถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งแต่ด้วยโอกาสที่สูงกว่ามาก เหนือสิ่งอื่นใด เขามีสิทธิวิเคราะห์และเลือกด้วยวิจารณญาณของตนเอง

สำหรับนักลงทุนทั่ว ๆ ไปแล้ว ผมคิดว่าเราต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่อยู่ “นอกระบบ” ของตลาดหลักทรัพย์และทางการทั้งหมด เหตุผลเพราะมันเสี่ยงเกินไป แม้แต่ผมเองที่อยู่ในตลาดมานาน ผมก็หลีกเลี่ยงการลงทุนในสตาร์ทอัพหรือการลงทุนที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ผมชอบการลงทุนในธุรกิจที่มั่นคง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยถึงแม้ว่ามันอาจจะโตช้ากว่า ผมชอบที่จะลงทุนเงิน 100% ในหุ้นที่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจมากกว่าที่จะลงทุนเพียง 60-70% หรือน้อยกว่านั้นแต่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูงลิ่วถ้าธุรกิจประสบความสำเร็จตามที่คาดแบบหุ้นสตาร์ทอัพ ในช่วงที่อายุยังไม่มากนั้น ผมเองเคยลงทุนในหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่มีตลาดหุ้นรองรับ กิจการไฮเท็คแนว “สตาร์ทอัพ” และหุ้น “ก่อนจะเข้าตลาดทรัพย์” โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงเท่าที่ควร ผลที่ได้รับก็คือความผิดหวัง บางบริษัทผมยังมีใบหุ้นอยู่แต่บริษัทคงหายไปแล้ว ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ บางบริษัทนั้นตอนนี้ผันตัวกลายเป็นหุ้นจดทะเบียนไปแล้ว แต่ใบหุ้นเก่าของผมนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นแค่กระดาษ ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาคงโอนกิจการทั้งหมดไปที่บริษัทใหม่และปล่อยให้บริษัทเดิมตายไปกระมัง
โพสต์โพสต์