Operation Big Bubble/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

Operation Big Bubble/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามโดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะนี่คือสงครามที่ “มีครบทุกเรื่องและทุกรส” มันเป็น “สงครามแห่งมวลมนุษยชาติ” มันทำลายล้างอย่างบ้าคลั่งในขณะเดียวกันมันก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่อาจจะหาได้ในช่วงเวลาแห่งความสงบ เพียง 4-5 ปี โลกเปลี่ยนไปอาจจะเท่ากับศตวรรษ เรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในสงครามก็คือ “แผนปฏิบัติการ” ทั้งหลายในการเอาชนะข้าศึกในแต่ละเรื่อง แผนเหล่านั้นถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลาย ๆ เรื่อง สิ่งที่สำคัญรวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายและตัว “แผนปฏิบัติการ” ว่ากำหนดขึ้นได้ดีและถูกต้องแค่ไหน แผนที่ดีนั้นมักนำไปสู่ชัยชนะ แต่แผนที่เลวนั้นนำไปสู่ความพ่ายแพ้ “Operation Sea Lion” ของเยอรมันในการเข้ายึดครองอังกฤษนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะกองทัพเรือเยอรมันนั้นด้อยกว่ากองทัพเรืออังกฤษมากในขณะที่กองทัพอากาศเองก็ไม่ได้เหนือกว่าอังกฤษมากนัก ตรงกันข้าม “Operation Overlord” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “D-Day” ของฝ่ายสัมพันธมิตรในการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีนั้น ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ผมพูดถึงเรื่องนี้เพราะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ดูเหมือนว่าบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งกำลังทำ “ปฏิบัติการเกี่ยวกับหุ้น” ที่ผมอยากจะเรียกว่า “Operation Big Bubble” หรือ OBB

เป้าหมายของ OBB นั้น ก็เพื่อที่จะ “ยกระดับ” ราคาหุ้นเป้าหมายให้สูงขึ้น อาจจะเป็นร้อยเท่าในเวลาอาจจะแค่ 3-4 ปี ปฏิบัติการนี้ จะเป็นการใช้เครื่องมือโดยเฉพาะทางการเงินหลากหลายที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลสูงในการขับดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน การสร้างแหล่งที่มาของรายได้และกำไรของบริษัทใหม่ ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะเป็น “ฐาน” ให้การเพิ่มขึ้นของราคานั้นมีความเป็นไปได้เนื่องจากผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ นั้น จะเป็นแหล่งของการเติบโตของกำไรอย่างรวดเร็วเป็นร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปีจากฐานที่ต่ำมากได้ ซึ่งนี่จะช่วยสนับสนุนราคาที่ขึ้นไปสูงมากจนทำให้ค่า PE เป็น 100 เท่าและยังมีนักวิเคราะห์ที่สามารถแนะนำให้ซื้อหุ้นโดยบอกว่ายังไม่แพงได้

OBB ที่จะประสบความสำเร็จนั้น ยังต้องมี “ปฏิบัติการทางจิตวิทยา” ที่มีประสิทธิผลสูง สื่อสารมวลชนทุกด้านจะต้องถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับข่าวสารที่จะต้องมีออกมาต่อเนื่องรวมถึง “ข่าวลือ” ที่จะต้องมีออกมาเป็นระยะ ข่าวทุกชิ้นจะต้องเอื้อต่อการที่จะให้คนเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจะโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและราคาหุ้นหรือมูลค่าหุ้นจะต้องเพิ่มขึ้นมหาศาลเนื่องจากจะมี “การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง” และบริษัทจะ “ไม่เหมือนเดิม” บริษัทจะโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตไปอีกนาน

กระบวนการที่จะขับราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้น จะไม่ใช้การพุ่งขึ้นเพียงครั้งเดียวและก็ “ดับ” แต่จะต้องมีปฏิบัติการย่อย ๆ ออกมาเป็นระยะ ๆ ทั้งเรื่องของตัวกิจการและผลประกอบการ และเรื่องของปฏิบัติการทางการเงินและจิตวิทยา ทั้งหมดนั้นต้องสอดคล้องกัน ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ราคาหุ้นในตลาดจะต้องพุ่งขึ้นตามกันไปไม่สามารถให้หุ้นอยู่นิ่งได้ เพราะราคาหุ้นนั้นเป็นข้อมูลสำคัญที่สุดที่จะยืนยันว่าสตอรี่หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่สาธารณชนได้รับนั้น “ถูกต้อง” การปล่อยให้ราคาหุ้นไหลลงมานานเกินไปจะทำลายความเชื่อมั่นของคนลง ดังนั้น การ “ดูแลราคาหุ้น” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในปฏิบัติการ BBO การที่จะ “ปิดปฏิบัติการ” เพื่อทำกำไรมหาศาลนั้น จำเป็นที่จะต้องทำอย่างระมัดระวังและเป็นการทยอยทำและทำในยามที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วไปต่อตัวหุ้นขึ้นสูงสุดเท่านั้น

ลองมาดูปฏิบัติการ BBO ที่มีการใช้กันในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงดูก็จะพบว่าบริษัท “เป้าหมาย” นั้น ล้วนเริ่มจากบริษัทที่เล็กมาก มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. นั้นอยู่ในหลักเพียงร้อยล้านบาทเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นบริษัทที่มียอดขายและกำไรน้อยมาก จำนวนมากยังขาดทุนอยู่ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการ “เปลี่ยนธุรกิจ” โดยการหันมาทำธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็วและทำเงินดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงเนื่องจากอาจจะเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องแข่งขันหรือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรอยู่แล้วในขณะที่บริษัทเข้าไปซื้อมาจากเจ้าของหรือคนอื่นที่อาจจะให้ดีล “พิเศษ” ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่า พลังงานทดแทนโดยเฉพาะที่เป็นพลังงานแสงแดดดูเหมือนว่าจะเป็นธุรกิจ “ยอดนิยม” ที่ถูกนำมาใช้ใน BBO มาก นอกจากนั้นก็อาจจะมีธุรกิจในด้านของ “เศรษฐกิจใหม่” ที่เรียกว่า ดิจิตอลอีโคโนมีก็อาจจะมีเช่นกัน ในบางรายก็อาจจะใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากมันเป็นเรื่องง่ายที่จะโตเร็วเป็นพิเศษจากธุรกิจนี้สำหรับบางราย

ในการทำ BBO นั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการทำ “ปฏิบัติการทางการเงิน” เนื่องจากเป็นเรื่องง่ายและ “ไม่มีต้นทุน” ที่จะทำ ดังนั้น เครื่องมือทางการเงินจึงถูกใช้อย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งแรกที่มักจะทำกันก็คือ การลดพาร์หรือมูลค่าทางบัญชีของหุ้นเพื่อทำให้หุ้นมีราคาซื้อขายที่ “ถูกลง” มากที่สุดที่จะทำได้แต่อาจจะไม่ได้ทำครั้งเดียวแต่ค่อย ๆ ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับดันราคาหุ้น สมมุติราคาพาร์เท่ากับ 1 บาทต่อหุ้นและราคาหุ้นในตลาดเท่ากับ 3 บาท การลดพาร์เหลือ 25 สตางค์ก็จะทำให้ราคาตลาดเหลือเพียง 75 สตางค์ซึ่งจะทำให้คนรู้สึกว่าหุ้นถูกมากราคาไม่ถึงบาท พอรอบต่อไปซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งปีต่อมา เขาก็อาจจะลดพาร์ลงอีกเหลือเพียง 10 สตางค์หรือต่ำกว่านั้น ผลก็คือ คนจะเข้ามาซื้อหุ้นเพราะหุ้น “ไม่แพง”

เมื่อบริษัทเริ่มทำธุรกิจใหม่และวางแผนจะต้องโตอย่าง “ก้าวกระโดด” สิ่งที่บริษัทต้องทำก็คือ การเพิ่มทุนเพื่อนำไป “ลงทุน” และการไป “เทคโอเวอร์” บริษัทอื่น การประกาศ เพิ่มทุนโดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิม มหาศาล เช่น ให้สิทธิ 1 ต่อ 1 ที่ราคา 1 บาท แต่ถ้าให้สิทธิเฉย ๆ ก็อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นรู้สึกแย่ว่าต้อง “เสียเงิน” ดังนั้น บริษัทก็มักจะต้อง “แถมวอแร้นต์” ให้อย่าง “จุใจ” ซึ่งก็จะทำให้คนแห่กันเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปอย่างแรงเพราะคนคิดว่าวอแร้นต์ที่ได้มานั้นถ้าเอาไปขายก็ได้เงินสุดจะคุ้มค่า นี่ก็เป็นการหาเงินมาทำโครงการที่จะทำเงินให้บริษัท แต่ถ้าจะทำเพียงครั้งเดียว ราคาหุ้นก็จะ “หมดแรง” วิ่ง ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป หรือบางทีก็เวลาเดียวกัน บริษัทก็จะต้องประกาศเพิ่มทุนใหม่อีก แต่คราวนี้จะออกเป็น PP หรือการขายให้แก่ “บุคคลภายนอก” ที่อาจจะมี “บารมี” เพียบในแง่ของการเป็นนักลงทุน ในราคาที่ถูกมากเพื่อเป็นการดึงดูดให้คนเข้ามาเล่นหุ้นด้วยความเชื่อมั่นว่าหุ้นจะต้อง “ไปต่อ” และก็อีกเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้ “ดีล” ไปได้ วอแร้นต์ก็มักจะถูกนำมาใช้อีกนั่นก็คือ ถ้ามีปัญหาตรงไหนก็แจกวอแร้นต์ให้ ปัญหาก็จะหมดไป

บางบริษัทในตลาดที่ทำ BBO ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีโดยใช้กลยุทธ์และเครื่องมือดังที่กล่าวมาทั้งหมดแบบ “เต็มสตรีม” นั้น เราก็ได้เห็นราคาหรือควรจะต้องเรียกว่ามูลค่าหุ้นนั้นเพิ่มขึ้นจากหลัก 100 ล้านบาทกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท หรือเป็นการเติบโตขึ้นกว่า 100 เท่าในเวลาแค่ 2-3 ปี และทำให้เจ้าของดั้งเดิมกลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน เงินที่ได้มานั้น ไม่ได้เกิดจากตัวธุรกิจเนื่องจากบริษัทก็ยังมีรายได้และกำไรน้อยมาก แต่เงินนั้นมาจากนักลงทุนจำนวนมากที่ต่างก็เชื่อมั่นว่าบริษัทนั้น “มีอนาคตที่สดใสมาก” หรือไม่ก็เกิดจากนักเล่นหุ้นที่เชื่อมั่นว่า หุ้นตัวนั้นจะต้อง “ทำเงิน” ให้เขาได้อย่างรวดเร็วจากราคาที่พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนตัวผมเองนั้นผมเห็นว่า ในปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามหรือหุ้น คนที่เข้าไปเป็น “เบี้ย” เช่นทหารเลวหรือนักเล่นหุ้นรายย่อยน้อยคนจะได้ผลตอบแทนที่ดี ถ้าโชคดี ทหารก็ได้เหรียญกล้าหาญแต่โอกาสตายสูง นักลงทุนรายย่อยนั้น โอกาสที่จะรอดและได้ “เหรียญกล้าหาญ” มีน้อย มีแต่คนที่คิดและสั่งดำเนินการเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นวีรบุรุษหรือกลายเป็นมหาเศรษฐีแม้ว่าในบางครั้งก็ “ตาย” ได้เหมือนกัน
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: Operation Big Bubble/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ อยากให้คนที่เข้ามาลงทุนในหุ้นเลิกโลภและลงทุนอย่างเข้าใจ แต่คงเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะใจคนส่วนใหญ่อยากได้ผลตอบแทนมากกว่าความรู้และความเข้าใจเสมอครับ
มู๋ ลูกครูโต้ง
Verified User
โพสต์: 51
ผู้ติดตาม: 0

Re: Operation Big Bubble/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับ
c3cmarc
Verified User
โพสต์: 27
ผู้ติดตาม: 0

Re: Operation Big Bubble/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

เขียนบทคามได้ดีมากครับ

ต้องเซฟเก็บไว้อ่านเลย :D
ampmie152
Verified User
โพสต์: 139
ผู้ติดตาม: 0

Re: Operation Big Bubble/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ชอบบทความนี้มากครับ ขอบคุณครับ :D

(ว่าแต่ทำไม OBB กลายเป็น BBO แฮะ ...แซวเล่นครับ แหะๆ)
โพสต์โพสต์