ภาษี (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

ภาษี (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

การเก็บภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีความชัดเจนว่าการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำไปสู่ประโยชน์โดยรวมอย่างไรครั้งที่แล้วผมแสดงความเห็นว่าประเทศไทยกำลังมีแนวโน้มที่จะใช้การเก็บภาษีคนรวยเพื่อลดส่วนต่างระหว่างคนรวยกับคนจนและเพิ่มความมั่นคงทางการคลังของภาครัฐ ทั้งนี้ เพราะมีกระแสที่มองว่าการใช้จ่ายของภาครัฐนั้นมีปัญหาคอร์รัปชันและการใช้นโยบายประชานิยมอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่จะอยากกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ของภาครัฐดังกล่าวก็จะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยากจน กล่าวคือนโยบายปัจจุบันดูเสมือนว่าจะพึ่งพาการเก็บภาษีเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างจากในอดีตจะเน้นการใช้งบประมาณของรัฐเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

หากคิดจะเก็บภาษีเพิ่มก็ควรพิจารณาอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับหลักการและเหตุผลของการเก็บภาษี ซึ่งในความเห็นของผมนั้นภาษีทุกชนิดมีผลในการบิดเบือนแรงจูงใจของผู้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ดังนั้น หลักการสำคัญคือการเก็บภาษีที่บิดเบือน การตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจและการพาณิชย์ให้น้อยที่สุด ซึ่งอาจเริ่มต้นโดยการพิจารณาภาษีประเภทต่างๆ ว่าส่งผลกระทบในแง่ใดบ้างดังต่อไปนี้

1. ภาษีเงินได้ หากเก็บในอัตราสูงก็จะทำให้คนไม่อยากทำงานเพิ่มเพราะเก็บภาษีคนที่อยู่เฉยๆ (พักผ่อน) ไม่ได้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ตรงนี้พบว่าต้องเก็บภาษีเงินได้ที่อัตราค่อนข้างสูงมากจริงๆ จึงส่งผลกระทบ เช่น เก็บภาษีเกินกว่า 35% ก็จะทำให้เกิดความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญและเมื่อเก็บภาษีในอัตรา 50% ขึ้นไปก็เป็นแรงจูงใจให้เกิดการย้ายออกไปอยู่ประเทศอื่นที่ภาษีต่ำกว่า

2. ภาษีทรัพย์สิน ตรงนี้อาจมองว่าภาษีทรัพย์สินบางอย่าง เช่น ที่ดินน่าจะเก็บได้ง่าย (หลบภาษีได้ยาก) และสามารถลดส่วนต่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจะส่งผลกระทบในการกดราคาสินทรัพย์ที่ถูกเก็บภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่ร่ำรวยสามารถไปซื้อทรัพย์สินประเภทเดียวกันในต่างประเทศได้

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการเก็บภาษีการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งมองได้ว่าเป็นภาษีที่ทำให้คนจนเสียเปรียบเพราะต้องจ่ายภาษีเท่ากับคนรวยในการบริโภคสินค้าอย่างเดียวกัน แต่มูลค่าภาษีดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของตน เช่น คนรายได้ต่ำกับคนรายได้สูงซื้อโทรทัศน์ราคา 10,000 บาท ก็ต้องจ่ายภาษีแวตเท่ากันคือ 700 บาท แต่ 700 บาทคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 5% สำหรับคนที่มีรายได้ 14,000 บาทต่อเดือน แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% สำหรับคนที่รายได้ 350,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้นก็ได้ยกเว้นการเก็บภาษีแวตสำหรับอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น ผู้ที่มีรายได้น้อยหากซื้อสินค้าราคาถูกตามตลาดสด ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้าและของใช้ประจำวันจากแหล่งจำหน่ายดังกล่าวก็สามารถเลี่ยงการจ่ายแวตได้

4. ภาษีสรรพาสามิต เป็นภาษีที่เก็บเพื่อต้องการลดการบริโภคที่สังคมมองว่าเป็นอบายมุขหรือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เหล้า บุหรี่หรือสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์หรืออาจเป็นวิธีหารายได้ที่จะต้องมารองรับผลกระทบในเชิงกว้างจากการบริโภคดังกล่าว เช่น รถยนต์ทำให้เกิดปัญหามลภาวะ การเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดความเสียหายและความจำเป็นที่ภาครัฐต้องสร้างถนนและบริการอื่นๆ ที่รองรับผลจากการบริโภคดังกล่าว (ซึ่งรวมถึงเหล้าและบุหรี่ด้วย) แต่ตรงนี้ก็ต้องระมัดระวังว่าหาตั้งอัตราภาษีสูงเกินไปก็จะเจอปัญหาการหลีกเลี่ยง หรือหลบภาษีที่รุนแรงยิ่งขึ้น

5. ภาษีมรดก หมายความถึงภาษีที่ผู้รับมรดกต้องจ่ายให้กับรัฐ (มิได้เก็บจากผู้ให้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว) ซึ่งอาจมองได้ว่าลูกหลานที่ได้มรดกนั้นถือว่าได้มาโดยมิได้ต้องขวนขวายทำงานเหมือนเป็น “บุญหล่นทับ” จึงน่าจะต้องเสียภาษีให้รัฐเพื่อลดส่วนต่างระหว่างคนจนกับคนรวยและเพื่อให้เกิดการกระจายสินทรัพย์ออกไปแทนที่จะกระจุกตัวเป็นมูลค่าขนาดใหญ่ของครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลใดวงศ์ตระกูลหนึ่ง ทั้งนี้ภาษีมรดกจะมีประสิทธิผลสูงยิ่งในกรณีที่มรดกเป็นอสังหาริมทรัพย์เพราะหากลูกหลานไม่มีเงินจ่ายภาษีก็จะต้องรีบขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไปให้คนอื่นเพื่อมีเงินไปจ่ายภาษีจึงจะเป็นการกระจายทรัพย์สมบัติออกไปได้อย่างดี แต่ก็มีจุดอ่อนที่ผมจะขอกล่าวถึงในโอกาสหน้าอีกครั้ง

6. ภาษีศุลกากร เป็นภาษีที่ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยได้เปรียบ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเปิดเสรีและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ภาษีดังกล่าวก็ถูกกดดันให้ต้องปรับลดลงและมีความสำคัญน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ผู้ผลิตที่แข่งขันไม่ได้ก็ยังมักจะมีข้ออ้างว่าควรปกป้อง “คนไทย” ต่อไป ทั้งนี้จะต้องเก็บภาษีในอัตราที่พอเหมาะพอควรเพราะหากเก็บมากไปก็จะทำให้เกิดกระบวนการเลี่ยงภาษีและให้ประโยชน์กับผู้ผลิตในประเทศในการผูกขาดตลาดมากเกินไป

โดยสรุปแล้วผมมีความเห็นว่า

1. การเก็บภาษีนั้นโดยรวมย่อมจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นเพราะเป็นการนำทรัพยากรของเอกชนมาให้รัฐนำไปใช้จึงต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นและประสิทธิภาพของรัฐในการใช้ทรัพยากรดังกล่าวให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ แม้ไทยจะเก็บภาษีเพียง 17-18% ของจีดีพีซึ่งเป็นสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความมั่งคั่งในระดับเดียวกันและคิดเป็นสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของการเก็บภาษีของประเทศที่ร่ำรวย แต่การเก็บภาษี (ไทยเฉพาะการเพิ่มภาษี) ย่อมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงต้องมีความชัดเจนว่าการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำไปสู่ประโยชน์โดยรวมอย่างไร เช่น อาจพูดได้ว่าการทำให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลแข็งแกร่งมั่นคงมากขึ้นนั้นจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวลดลงซึ่งเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนในการกู้เงินระยะยาวด้วย เป็นต้น

2. หากวัตถุประสงค์หลักของการเก็บภาษีคือการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน (เช่นภาษีที่ดินและภาษีมรดก) ก็ควรมีตัวเลขแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นได้ลดลงไปเพียงใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะโน้มน้าวให้มีแรงสนับสนุนการเก็บภาษีดังกล่าว นอกจากนั้นก็ควรต้องแสดงให้เห็นว่าภาษีดังกล่าวมีผลลบในเชิงของการบิดเบือนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด เช่น หากเก็บภาษีรายได้ในอัตราที่สูงเกินไปก็อาจทำให้คนต้องการทำงานน้อยลงหรือเลี่ยงไปแลกเปลี่ยนบริการระหว่างกันเพื่อเลี่ยงการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหรือย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่ประเทศอื่น (หรือย้ายประเทศที่จ่ายเงินเดือน) เป็นต้น
[/size]
chowbe76
Verified User
โพสต์: 1980
ผู้ติดตาม: 1

Re: ภาษี (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ประเด็นก็คือ ไทยเก็บภาษีมาหลายปีแล้ว แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน (ค่า GINI) ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นสักเท่าไรยกเว้นในยุคทักษิณ(ซึ่งนี่แหละที่ทำให้คนจนส่วนมากรักชอบทักษิณนักหนา และข้าราชการส่วนมากจะไม่ชอบ เพราะเสียผลประโยชน์หลายอย่าง)

ระบบภาษีไทยล้มเหลวจังครับ
โพสต์โพสต์