หน้าผาการคลังของญี่ปุ่น/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

หน้าผาการคลังของญี่ปุ่น/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

หน้าผาการคลังของญี่ปุ่น
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFPTM

	ประเทศพัฒนาแล้วกำลังประสบกับปัญหาหนี้สินของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง  ในขณะที่คนพากันกังวลกับภาวะ “หน้าผาการคลัง” ของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษีที่มีตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุช จะหมดอายุลงในปีนี้ และการใช้มาตรการในการรัดเข็มขัด ตัดลดงบประมาณภาครัฐ เพื่อลดสัดส่วนของหนี้ลงในอนาคต ซึ่งจะเริ่มในปีหน้า)นั้น ญี่ปุ่นเองก็เผชิญกับปัญหาไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน
	คงจำกันได้นะคะว่าหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นในตอนนี้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก โดย ณ สิ้นปี 2011 มีสัดส่วน 233% ของจีดีพี และคาดว่า ณ ปัจจุบัน น่าจะมีสัดส่วน ประมาณ 235% ของจีดีพี โดยมีขนาดรวม 1,000 ล้านล้านเยน หรือเท่ากับ 8 ล้านเยน (ประมาณ 3.2 ล้านบาท) ต่อประชากรหนึ่งคน 
 

	ที่ผ่านมาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นไม่ค่อยเป็นที่ฮือฮาเหมือนของประเทศชายขอบยุโรป เนื่องจากผู้ให้กู้ หรือผู้ถือพันธบัตรของรัฐบาลส่วนใหญ่ หรือประมาณ 90% จะเป็นองค์กร หน่วยงาน ในประเทศ เช่น กองทุนบำนาญ บริษัทประกัน ธนาคาร และประชาชนชาวญี่ปุ่นเอง ต่างจากไอร์แลนด์หรือ กรีซ ซึ่งมีหนี้ต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูง
	ผู้ลงทุนในประเทศ ย่อมมีความมั่นใจในรัฐบาลของตนเองเป็นธรรมดา แต่ความมั่นใจก็มีวันสั่นคลอนได้เหมือนกันค่ะ  เพราะหลักของการลงทุนในพันธบัตร หรือเสมือนหนึ่งการให้รัฐบาลกู้เงิน คือมั่นใจว่าตราบใดที่รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้ รัฐบาลก็สามารถจ่ายเพื่อไถ่ถอนพันธบัตรคืนได้ 
	ของญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน แม้รัฐบาลจะไม่มีเงิน แต่การมีภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ย่อมให้ความมั่นใจว่า จะมีภาษีให้จัดเก็บในอนาคตอย่างแน่นอน  อย่างไรก็ดี เหนือฟ้ายังมีฟ้า เมื่อเกาหลีใต้ตั้งเป้าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีของโลก บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นโดยเฉพาะในภาคอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็เริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ  เสียตลาดให้กับบริษัทเกาหลี และแม้กระทั่งกับบริษัทของจีน
ความมั่นใจว่าบริษัทต่างๆของญี่ปุ่นจะสามารถอยู่ยงคงกระพันให้รัฐบาล ถอนขนห่านหรือเก็บไข่ทองคำต่อไป ก็ถดถอยไปเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทต่างๆสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปพอสมควร จากการที่ค่าเงินเยนแข็ง และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในประเทศสูง
ตอนนี้หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นเริ่มออกมาทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพราะบริษัทในญี่ปุ่นมีการขยายงานในประเทศน้อยลง 
ญี่ปุ่นยังได้รับผลกระทบจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องหรือมาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เนื่องจากเงินสภาพคล่องไหลมาสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น และเงินเยนของญี่ปุ่นก็เป็นสกุลเงินที่มั่นคง แม้จะไม่ได้ดอกเบี้ย แต่ก็มีโอกาสที่ค่าเงินจะแข็งขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์มองว่าวิธีการที่จะแก้ไขได้ก็คือญี่ปุ่นต้องทำมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีบ้าง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลง 
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 422,600 ล้านเยน (ประมาณ 165,000 ล้านบาท) โดย 264,300 ล้านเยนจะนำไปอุดหนุนให้มีการลงทุนในพื้นที่ที่เสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหวและนิวเคลียร์เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงลดหย่อนภาษีให้กับพื้นที่ที่น้ำท่วมเสียหาย ขณะที่ 105,100 ล้านเยน จะนำไปใช้เพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคครัวเรือน และการทดลองใช้สเต็มเซลล์ในชั้นคลินิก รวมถึงปรับปรุงการชลประทานสำหรับพื้นที่เกษตรขนาดเล็ก และ ใช้เพื่อการพัฒนาและอบรมฝึกฝนทักษะและการเรียนการสอนของพนักงานที่ทำงานแบบไม่เต็มเวลา
ที่บอกว่าญี่ปุ่นมีหน้าผาการคลังก็คือ รัฐสภา หรือสภาไดเอ็ท ของญี่ปุ่นจะต้องผ่านกฎหมายอนุมัติให้รัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงินเพิ่มอีก 38.3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 15 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 40% ของงบประมาณปีนี้ซึ่งจะต้องใช้จนถึงเดือนมีนาคม 2013 เนื่องจากหากไม่อนุมัติ รัฐบาลจะขาดสภาพคล่องในปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งฝ่ายค้านของญี่ปุ่นกำลังเล่นแง่ว่า จะช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีโนดะของญี่ปุ่นสัญญาว่าจะยุบสภาเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่
รัฐบาลญี่ปุ่นเก็บภาษีได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย ต้องกู้เงินมาใช้จ่ายและลงทุนทุกปี เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ให้กู้ต้องมีความมั่นใจว่าผู้กู้จะสามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ค่ะ ความเชื่อมั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทเอกชนออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศเพื่อนำเงินรายได้กลับมายังประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศที่ประชากรเป็นสังคมสูงวัยเช่นญี่ปุ่น
ล่าสุดนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะแปรรูปนำบริษัทไปรษณีย์ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทที่มีการดำเนินการครอบคลุมกว้างขวาง ดำเนินการคล้ายสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อหาเงินมาลดหนี้ภาครัฐค่ะ คาดว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นว่า รัฐยังมีทรัพย์สินที่สามารถขายเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนอยู่
เราต้องเรียนรู้จากบทเรียนของญี่ปุ่น เพราะประเทศไทยก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกไม่นาน อยากให้รัฐบาลเตรียมการณ์ไว้แต่เนิ่นๆ ในการปูทางสร้างรายได้จากช่องทางต่างๆมาดูแลประชากร และการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนเพิ่มขึ้นค่ะ
[/size]
แนบไฟล์
หน้าผาการคลังของญี่ปุ่น.jpg

jverakul
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2694
ผู้ติดตาม: 91

Re: หน้าผาการคลังของญี่ปุ่น/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ไม่รู้ว่าคุณ Kabu ได้เข้ามาอ่านบทความนี้หรือยัง เพราะอยากถามเรื่อง Business model ของไปรษณีย์ที่ญี่ปุ่นว่าเป็นอย่างไรครับ เพราะที่อ่านจากบทความบอกว่าคล้ายๆ สถาบันการเงินอีกรูปแบบหนึ่งไปเลย
จะได้มาเปรียบเทียบกับของไทยได้ (เผื่อเขาเอาเข้าตลาด)
โพสต์โพสต์