“หุ้นตก – จิตตก” - 2/ประภาคาร ภราดรภิบาล

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

“หุ้นตก – จิตตก” - 2/ประภาคาร ภราดรภิบาล

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2555
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
“หุ้นตก – จิตตก” - 2
  ตอนที่แล้วผมหยิบยกมุมมองของเซียนหุ้นอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” และ “ปีเตอร์ ลินซ์” ว่า “คิด” และ “ทำ” อย่างไรในสภาวะ “หุ้นตก” คราวนี้เรามาติดตามแนวคิดและประสบการณ์การลงทุนที่น่าสนใจของเซียนหุ้นท่านอื่นกันบ้างครับ
  “เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน” เซียนหุ้นผู้ได้รับฉายาว่า “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” แห่งโลกการลงทุน ในฐานะที่เป็นผู้จัดการกองทุนชาวอเมริกันคนแรกๆที่บุกเบิกการลงทุนไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก และประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในวงการ
  นอกจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการขยายขอบเขตการลงทุนแล้ว “เทมเพิลตัน” ยังเป็นอีกหนึ่งเซียนหุ้นที่สามารถใช้ “วิกฤติ” เป็น “โอกาส” ในการลงทุนสร้างผลตอบแทนได้อย่างเยี่ยมยอดมาหลายต่อหลายครั้ง เขากล่าวว่า “ในตลาดหุ้นนั้นการจะซื้อหุ้นได้ในราคาที่ถูกมากๆ คือตอนที่นักลงทุนส่วนใหญ่ขายหุ้นออกมา” และตอนที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะเทขายหุ้นกันออกมาก็คือ ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติและตลาดหุ้นตกหนักๆนั่นเอง  
  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอยู่ในภาวะถดถอย “เทมเพิลตัน” เชื่อว่า อีกไม่นานทุกอย่างจะฟื้นตัวกลับมาได้ จึงตัดสินใจซื้อหุ้นที่มีราคาไม่เกิน 1 ดอลล่าร์เก็บไว้บริษัทละ 100 หุ้น ได้มาทั้งหมด 104 บริษัท ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 10,000 ดอลล่าร์ ในอีก 4 ปีต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุด เขาขายหุ้นทั้งหมดได้เงินมา 40,000 ดอลล่าร์ คิดเป็นกำไร 4 เท่าตัว ในเวลา 4 ปี 
  เมื่อตลาดหุ้นของประเทศอาร์เจนติน่าตกต่ำอย่างหนักจากปัญหาการเมืองและภาวะเงินเฟ้อในปี 1985  “เทมเพิลตัน” มองว่านั่นเป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นราคาถูกเก็บไว้ ปรากฏว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤติ หุ้นที่เขาซื้อไว้ก็พุ่งขึ้นไปกว่า 70%
  ในปี 1997 ที่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ลุกลามไปทั่วเอเชีย “เทมเพิลตัน” ได้เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำของเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งก็ทำให้เขาได้กำไรอย่างงดงามเมื่อตลาดหุ้นเอเชียฟื้นตัวขึ้นมาในปี 1999 
  จากประสบการณ์ในการลงทุนที่โชกโชนมาแล้วทั่วโลก “เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน” ได้ให้คำแนะนำนักลงทุนไว้ว่า “ช่วงเวลาที่ตลาดปกคลุมไปด้วยข่าวร้าย เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อหุ้น และช่วงที่ตลาดปกคลุมไปด้วยข่าวดี เป็นช่วงที่ควรขายที่สุด”
  จากเรื่องราวของเซียนหุ้นระดับโลก เราวกมาสัมผัสประสบการณ์ของเซียนหุ้นไทยกันบ้าง “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Invesment เป็นคนแรกๆในเมืองไทย และเป็นเซียนหุ้นที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในตลาดหุ้นไทยมายาวนาน เคยกล่าวถึงสภาวะ “หุ้นตก” เอาไว้ว่า 
  “ตลาดหลักทรัพย์ที่ตกลงมานั้น ถือว่าเป็นโอกาส เพราะในช่วงที่ตลาดตก อาจมีหุ้นดีเยี่ยมหลายๆตัวมีราคาลดลงอย่างมากโดยไม่มีเหตุผล และเป็นโอกาสให้นักลงทุนพันธุ์แท้เก็บหุ้นในราคาที่ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูงขึ้นในอนาคต เมื่อราคาหุ้นตัวนี้ปรับตัวขึ้นไปตามราคาที่ควรเป็น”   
  บทพิสูจน์คำพูดข้างต้นก็คือ การที่ ดร.นิเวศน์เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างหนักจากดัชนี 1,300 กว่าจุดในปีพ.ศ. 2539 เหลือเพียง 300 กว่าจุดในปีพ.ศ. 2540 
  เวลานั้นหุ้นไทยถูกนักลงทุนทั้งไทยและเทศกระหน่ำขายเพื่อหนีวิกฤติเศรษฐกิจ จนราคาหุ้นต่ำเตี้ยติดดิน แต่ ดร.นิเวศน์เห็นว่า มีหุ้นหลายๆตัวที่ยังมีความแข็งแกร่งพอที่จะฝ่าวิกฤติไปได้ ยอดขายและกำไรไม่ได้ลดลง และยังสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่คุ้มค่า นั่นจึงทำให้ ดร.นิเวศน์สร้างตำนาน “ตีแตก” ขึ้นมา ด้วยการทุ่มเงินที่สะสมมาตลอดชีวิตประมาณ 10 ล้านบาท เข้าลงทุนซื้อ “หุ้นคุณภาพดีราคาถูก” เก็บไว้ เมื่อประเทศไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ และตลาดหุ้นไทยค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมา แน่นอนว่าพอร์ตหุ้นของ ดร.นิเวศน์ก็ค่อยๆเติบโตมากขึ้นไปด้วย 
  หลังจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เพียง 10 ปีเศษ ตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกครั้งจาก “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” หรือ “วิกฤติซัพไพร์ม” ในปีพ.ศ.2551 ดัชนีหุ้นไทยร่วงจาก 800 กว่าจุดตอนต้นปี ลงไปอยู่ที่ 400 กว่าจุดตอนสิ้นปี หรือลดลงไปเกือบ 50%
  วิกฤติรอบนี้ ดร.นิเวศน์มองเห็นว่ามีหุ้นดีๆหลายตัวถูกเทขายจนราคาลดลงต่ำมากจนน่าลงทุน แต่ขณะนั้นเงินของท่านลงทุนอยู่ในหุ้นเต็ม 100% จึงทำให้ต้องตัดสินใจใช้ “มาร์จิ้น” ซึ่งเป็นการกู้เงินจากโบรกเกอร์เป็นครั้งแรกในชีวิตการลงทุนเพื่อซื้อ “หุ้นดีราคาถูก” จากภาวะวิกฤติ และทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด เมื่อวิกฤติคลี่คลาย ดร.นิเวศน์ก็ได้กำไรอย่างงดงาม ทำให้พอร์ตการลงทุนที่เริ่มต้นจาก 10 ล้าน เติบโตผ่านหลัก 100 ล้าน และทะลุสู่หลัก 1,000 ล้านได้อย่างน่าทึ่งภายในเวลาเพียง 10 ปีเศษๆ   
  เมื่อถามว่านักลงทุนควรทำอย่างไรถ้าเกิดวิกฤติจนตลาดหุ้นตกต่ำ ดร.นิเวศน์บอกว่า “ถ้าหุ้นเป็นกิจการที่ดี มีราคาถูกเมื่อเทียบกับคุณค่าของมัน เราควรถือไว้ และถ้ามีเงินเหลือและราคาหุ้นเหล่านั้นตกลงมามาก เราควรซื้อเพิ่ม วิกฤตินั้นอาจจะมีอันตราย แต่ก็เป็นโอกาสมหาศาล ถ้าเรารู้และกล้าพอที่จะลงมือทำ” 
  ดังนั้น เมื่อใดที่ “หุ้นตก” ก็อย่ามัวแต่ “จิตตก” และตื่นตระหนกจนพลาดโอกาสที่จะมองหา “หุ้นดีราคาถูก” มาเก็บไว้ในพอร์ต เพราะนี่คือหนึ่งในวิถีสู่ความสำเร็จที่บรรดาเซียนหุ้นได้พิสูจน์ให้ประจักษ์กันมาแล้ว 

[/size]
โพสต์โพสต์