สินทรัพย์เสี่ยงน่าลงทุนแล้วหรือยัง/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

สินทรัพย์เสี่ยงน่าลงทุนแล้วหรือยัง/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ราคาหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ ปรับลดลงอย่างมากตั้งแต่ต้นปี เช่น ดัชนีตลาด Nasdaq ของสหรัฐ ซึ่งสะท้อนราคาหุ้นประเภทเทคโนโลยีได้ปรับตัวลดลงไปแล้วประมาณ 25% ในเวลาไม่ถึง 5 เดือน

เรามักจะพูดกันว่าโลกอนาคตนั้นเป็นโลกของเทคโนโลยี จึงได้มีการตั้งคำถามขึ้นมามากขึ้นว่าหากโลกของอนาคตคือโลกของเทคโนโลยี ณ เวลานี้ราคาหุ้นเทคโนโลยีต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานหรือยัง

บางคนยังถามต่อไปอีกว่าแล้วราคา Crypto ที่ลดลงไปรุนแรงยิ่งกว่าราคาหุ้นเทคโนโลยีนั้นดูแล้วน่าลงทุนหรือยัง

ซึ่งจากแนวโน้มของราคา Crypto ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมานั้น ผมมองว่าราคา Crypto ปรับตัวไปในลักษณะคล้ายคลึงกับราคาหุ้นเทคโนโลยี

ผมตีความว่านักลงทุนมอง Crypto เป็นเสมือนหุ้นเทคโนโลยี (คือมีส่วนที่ “ขายฝัน/ขายอนาคต” และมีส่วนของการเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า) มากกว่าเป็นตัวเลือกแทนเงินสกุลหลักของโลก เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร เป็นต้น

ในความเห็นของผมนั้นคนที่คิดจะเริ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะต้องประเมินสถานการณ์แล้วมองว่าในอนาคต 3 สิ่งข้างล่างนี้จะเกิดขึ้น

1.ธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อที่สหรัฐให้ปรับตัวลดลงเข้ากลับสู่กรอบนโยบาย (เงินเฟ้อประมาณ 2% ไม่เกิน 2.5%) ได้โดยไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐต้องเข้าสู่สภาวะถดถอย (recession)

2.รัสเซียจะต้องได้รับชัยชนะทางการทหารที่ยูเครน (เช่น ยึดครองภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน) ได้ภายในเร็ววันนี้ ทำให้ฝ่ายตะวันตกอยู่ในภาวะจำยอมปล่อยเลยตามเลยและในที่สุดก็จะเริ่มยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ในต้นปีหน้า

3.ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการปราบการระบาดของโอมิครอนอย่างราบคาบ (zero covid policy) ภายในกลางปีนี้ทำให้สามารถคลายนโยบาย lockdown และจีดีพีของจีนสามารถขยายตัวได้ประมาณ 3% ในปีนี้

หากผมเชื่อมั่นว่า 3 ข้อข้างต้นนี้จะเกิดขึ้น ผมก็จะกล้าเสี่ยงเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ โดยยอมพิจารณาปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่สำคัญของสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นรายตัว หมายความว่าจะปรับพอร์ตการลงทุนไปในทิศทางที่เพิ่มความเสี่ยง ไม่ใช่การเพิ่มการถือเงินสดเพื่อรอลงทุน

บางคนอาจแย้งว่าแต่ละข้อนั้นน่าจะเป็นไปได้ยากซึ่งผมเห็นด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปโอกาสที่ทั้ง 3 ข้อจะเกิดขึ้นก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ในอีกด้านหนึ่งก็จะมีการตั้งประเด็นว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงไปอย่างมากแล้วจนอาจมองได้ว่าความเสี่ยงทั้ง 3 ข้อข้างต้นได้ถูกนำเอาไปคำนวณในราคาของหุ้น ณ วันนี้ไปแล้ว

แต่ผมมีข้อสรุปว่าดอกเบี้ย กล่าวคือระดับของดอกเบี้ยและการเร่งปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยนั้นจะส่งผลที่รุนแรงมากกว่าตัวแปรอื่นใดในการกดราคาสินทรัพย์เสี่ยงให้ลดลง ดังนั้นเมื่อเราเพิ่งเห็นธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเพียง 0.75% จาก 0.25% ไปเป็น 1.0%

และเนื่องจากมีความชัดเจนค่อนข้างมากว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% ในปีนี้ (และอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในปี 2023) ดังนั้นการจะเริ่มลงทุนสินทรัพย์ ณ เวลานี้จึงจะเป็นการรับความเสี่ยงที่สูงมากและไม่คุ้มค่าในความเห็นของผม

นอกจากนั้นก็ยังมีอีกมาตรการที่สำคัญมากคือมาตรการ quantitative tightening (QT) หรือการทยอยขายพันธบัตรจำนวนมหาศาล ที่ธนาคารกลางสหรัฐรวบรวมซื้อเอาไว้ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาและยังถืออยู่ในขณะนี้

การขายพันธบัตรดังกล่าวลงมาในท้องตลาดนั้นยังไม่ได้เริ่มขึ้นเลย แต่จะค่อยๆ เริ่มขายออกมาเดือนละเกือบ 50,000 ล้านเหรียญ เริ่มต้นเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมและต่อจากนั้นก็จะขายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเดือนละ 95,000 ล้านเหรียญโดยไม่มีกำหนดว่าจะหยุดขายเมื่อใด

การขายพันธบัตรระยะยาวคุณภาพดีออกมาในตลาดจำนวนมหาศาลเช่นนี้คือการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบและย่อมจะทำให้ราคาพันธบัตรดังกล่าวลดลง แปลว่าดอกเบี้ยระยะยาวก็อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีกได้อีกมาก

ในส่วนของการลงทุนนั้นย่อมแปลว่า นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้นในการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงย่อมจะทำให้ความน่าสนใจของสินทรัพย์เสี่ยง เช่น Crypto และหุ้นพีอีสูงลดลงอย่างหนัก

ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณมีเงินลงทุนทั้งหมด 100 ล้านบาท ในอดีตดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปีอยู่ที่ 1.5% ต่อปี ผลตอบแทนจากลงทุนซื้อพันธบัตรจึงมีเพียง 1.5 ล้านบาทต่อปี (มีเงินใช้เดือนละประมาณ 120,000 บาท ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับเงินต้นมากถึง 100 ล้านบาท)

แต่เมื่อดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3% ต่อปี ผลตอบแทนก็จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ 3 ล้านบาทต่อปี แปลว่ามีรายได้มาใช้จ่ายอย่างสบายๆ เดือนละ 250,000 บาท ทำให้ไม่ต้องไปดิ้นรนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เป็นต้น

ดังนั้นมาตรการที่ปรับขึ้นทั้งดอกเบี้ยนโยบายและการขายพันธบัตรออกมาคือการปรับดอกเบี้ยขึ้นแบบ 2 เด้งคือปรับขึ้นทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งในอดีตที่มีการปรับดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวลงและกดให้อยู่ระดับต่ำต่อเนื่องกว่า 10 ปี

จึงเป็นยุคทองของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่เมื่อนโยบายการเงินของสหรัฐกำลังกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผลกระทบต่อราคาสินค้าเสี่ยงจึงรุนแรงอย่างมาก

สำหรับข้อ 2 และข้อ 3 นั้นเป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์จะไม่มีศักยภาพมากนักในการประเมินเพราะความรุนแรงและความยืดเยื้อของสงครามนั้นประเมินได้ยาก แต่ในกรณีของยุโรปนั้นพอจะสรุปได้ว่ายุโรปเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย (เศรษฐกิจยุโรปคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพีโลก)

แต่ในขณะเดียวกันก็จะ “ส่งออก” เงินเฟ้อผ่านการที่ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์และราคาปุ๋ยจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรวมนั้นสงครามจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ

ในส่วนของข้อ 3 นั้นนักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่มีความชำนาญเช่นกัน แต่จากปฏิกิริยาของตลาดต่อการ lockdown ของจีน ก็สามารถสรุปได้ว่านักลงทุนมองว่าจะมีผลกระทบสุทธิในการลดอุปสงค์หรือ net deflationary เห็นได้จากการที่ราคาพลังงานปรับตัวลดลงเมื่อรับข่าวการ lockdown ที่เข้มข้นของจีน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนเริ่ม lockdown เมืองสำคัญๆ เป็นเวลา “เพียง” 2 เดือน ในขณะที่นักวิเคราะห์เกรงว่ารัฐบาลจะยังยืดนโยบาย zero covid ต่อปีอีกประมาณ 6 เดือน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้เพียง 1% หรือต่ากว่าในปีนี้

แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมากในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ที่ผลิตสินค้าและชิ้นส่วนราคาถูกป้อนอุตสาหกรรมของโลก นอกจากนั้นก็ยังเป็นเสมือนโรงงานประกอบสินค้ารายใหญ่ของโลกอีกด้วย

ดังนั้น ความชะงักงันของเศรษฐกิจจีนก็ย่อมจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญและย่อมจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตจึงจะผลักดันให้เงินเฟ้อของโลกสูงขึ้นอีกด้วย.
โพสต์โพสต์