ทบทวนเรื่องความเสี่ยงในการลงทุน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ทบทวนเรื่องความเสี่ยงในการลงทุน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ผู้ลงทุนตั้งตัวไม่ติด เนื่องจากโลกเราปราศจากสงครามครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างมานานหลายสิบปี ความขัดแย้งช่วงหลังๆมักเป็นความขัดแย้งที่เกิดภายในประเทศ หรือระหว่างสองเขตเศรษฐกิจ และนอกเหนือจากความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เช่นการลี้ภัย การส่งอาหาร ยา หรือสิ่งของจำเป็นแล้ว ไม่มีการขอให้ประเทศที่สามสี่ห้า เข้ามาช่วยเหลือทางการทหาร เราจึงคาดการณ์ในครั้งนี้ผิดไป

นักวิเคราะห์ทั้งหลาย รวมถึงดิฉันด้วย พากันคิดว่ารัสเซียคงขู่ ยูเครนคงกลัว แล้วก็คงเจรจากันได้ ยุติกันไป ยูเครนก็ไม่เข้าร่วม NATO และชะลอการเข้าร่วม EU ส่วนรัสเซียก็พึงพอใจที่ยังมียูเครนเป็นรัฐกันชนอยู่

ตอนนี้ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว และทุกอย่างก็จะไม่กลับไปเหมือนเดิมแล้ว จึงอยากนำมาทบทวนกับท่านผู้อ่าน เพื่อกันไม่ให้ลืมพิจารณาในขณะที่ท่านลงทุนอยู่ค่ะ

ความเสี่ยงในการลงทุน ที่รวบรวมมาได้มี 13 ประเภท ดังนี้

1. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคา หรือ Market Risk ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นความเสี่ยงจากการปรับตัวขึ้นลงของราคา ซึ่งหากมีความผันผวนมาก เราก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง

2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจซื้อ หรือ Inflation Risk เป็นความเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป เพราะในยุคที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ อำนาจซื้อไม่ค่อยตกลง แต่ในยุคที่อัตราเงินเฟ้อสูง อำนาจซื้อจะหายไปหากเราลงทุน
ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ

3. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาด หรือ Interest Rate Risk ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนลงทุนในตราสารหนี้ ในทางการเงิน ราคาของพันธบัตรวันนี้ คือ มูลค่าของดอกเบี้ย และเงินต้นที่เราจะได้รับคืนในอนาคต คิดลดมาเป็นค่าเงินปัจจุบัน ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้คิดลด ซึ่งคือตัวหารเพิ่มขึ้น มูลค่าปัจจุบันของพันธบัตรก็จะลดลง และหากอัตราดอกเบี้ยลดลง หรือตัวหารน้อยลง มูลค่าปัจจุบันก็จะเพิ่มขึ้นนั่นเองค่ะ

4. ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารจะผิดนัด ไม่ชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย หรือ Default Risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักที่ผู้ลงทุนในตราสารหนี้กังวล ทั้งนี้วิธีการลดความเสี่ยงนี้ก็คือ ลงทุนในตราสารที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สูง ซึ่งก็จะมีโอกาสเกิดการผิดนัดชำระน้อยลงค่ะ

5. ความเสี่ยงจากผู้ที่เราทำธุรกรรมด้วย ไม่สามารถส่งมอบหรือทำตามสัญญาได้ หรือ Counter-party Risk

6. ความเสี่ยงจากสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่ลงทุน หรือ Liquidity Risk สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ซื้อง่ายขายคล่อง ย่อมมีความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องน้อยกว่าสินทรัพย์ที่ซื้อยากขายยาก เพราะฉะนั้น เวลาเจะลงทุนที่มีสภาพคล่องต่ำ เราก็จะต้องคาดหวังผลตอบแทนพิเศษเพื่อชดเชย เผื่ออยากขายต้องใช้เวลานาน หรือหากจะขายเร็วๆต้องยอมลดราคาลงไปด้วย

7. ความเสี่ยงในผลตอบแทนจากการลงทุนต่อ หรือ Reinvestment Risk : เมื่อตราสารที่ลงทุนครบอายุ และผู้ลงทุนได้รับเงินลงทุนกลับมา สิ่งที่จะต้องคิดก็คือ มองหาตราสารที่จะไปลงทุนต่อ เพราะฉะนั้น หากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจะลดลง ผู้ลงทุนควรจะถือตราสารอายุยาวขึ้น เพื่อจะได้ล็อกอัตราผลตอบแทนไว้

8. ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสถานะของลูกหนี้หรือบริษัทในเหตุการณ์เฉพาะ หรือเรียกว่า Event Risk เช่น ท่อน้ำมันของบริษัทรั่ว บริษัทเกิดไฟไหม้ เกิดการนัดหยุดงานของพนักงาน ฯลฯ ซึ่งจะกระทบสถานะของบริษัทนั้น

9. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ภาครัฐ หรือ Legal Risk : ในช่วงนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกฎกติกาของโลกเปลี่ยนแปลงไป กระแสรักษ์โลก และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาแรง ดังนั้นรัฐบาลของเกือบทุกประเทศจะพยายามออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นในการจัดการสิ่งแวดล้อม ในการดูแลของแรงงานและพนักงาน ในการรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้อาจไปกระทบกิจการของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นทุน หรือหุ้นกู้ และส่งผลต่อผลการดำเนินงาน ต่อกำไร หรืออาจจะต่อความมีอยู่ต่อไปของธุรกิจ ผู้ลงทุนจึงต้องตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย

10. ความเสี่ยงจากการฉ้อโกง หรือ Fraud อันนี้เกิดขึ้นได้ หากผู้บริหารหรือพนักงานเป็นคนไม่ดี หรือมีแรงจูงใจในทางที่ผิด จึงต้องดูแลให้กิจการมีระบบป้องกันที่ดี มีการคานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกัน หรือ check and balance และสังคมสามารถลงโทษได้ โดยหลีกเลี่ยงไม่ลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ของเจ้าของหรือผู้บริหารที่ไม่สุจริตหรือมีเจตนาเอาเปรียบผู้ลงทุน

11. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Exchange Rate Risk เกิดในกรณีที่ไปลงทุนข้ามประเทศ หากค่าเงินสกุลเงินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีโอกาสขาดทุน หรือกำไร จากอัตราแลกเปลี่ยน

12. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือ Political Risk การเมืองเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการลงทุน และหากเป็นความขัดแย้งข้ามภูมิภาค กลายเป็น Geo-political Risk หรือความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งการที่รัสเซียบุกยูเครนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นความเสี่ยงทางการเมือง

ความเสี่ยงทั้ง 12 ข้อด้านบน ในทางทฤษฎี เราจะสามารถลดความเสี่ยงลงได้หากเรากระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆประเภท เช่น หุ้น เงินฝาก พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ และในแต่ละประเภท ก็มีการกระจายลงทุนในหลายอุตสาหกรรม หลายบริษัท หลายภูมิภาค ก็จะลดความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก ความเสี่ยงนี้เรียกว่าความเสี่ยงเฉพาะที่ไม่ใช่ความเสี่ยงของระบบ หรือ Non-Systematic Risk

แต่จะมีความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่สามารถลดลงได้ ไม่ว่าจะกระจายลงทุนมากเพียงใดก็ตาม เราจะเรียกว่าความเสี่ยงของระบบ หรือ Systematic Risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างที่ 13 ซึ่งพอเกิดขึ้นก็ได้รับผลกระทบกันไปทั่ว เช่น หุ้นตกทั้งตลาด หุ้นรัสเซียตกมากมาย หุ้นไทยตกน้อยหน่อย เวลาปรับตัวขึ้นเมื่อหายกังวล ตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นแรงกว่าตลาดอื่น เป็นต้น

จะเลี่ยงความเสี่ยงของระบบ ก็คือไม่เข้าไปลงทุน ซึ่งทำให้เสียโอกาส ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” การศึกษาให้เข้าใจและจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมจึงเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุดในการจัดการเงินลงทุนค่ะ
โพสต์โพสต์