เมตาเวิร์ส (Metaverse)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

เมตาเวิร์ส (Metaverse)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

บทความที่แล้วเรื่อง NFT ทำให้แฟนคอลัมน์เรียกร้องให้เขียนเรื่อง Metaverse จึงเป็นที่มาของบทความในสัปดาห์นี้

เมตาเวิร์ส คือโลกเสมือน ซึ่งตอนนี้หลายๆฝ่ายพยายามทำให้เติบโตขนานไปกับโลกจริงๆของเรา หากท่านนึกไม่ออก ท่านอาจจะต้องไปชมภาพยนตร์เรื่อง “อวตาร” (Avatar) อีกสักรอบหนึ่ง เมตาเวิร์ส เป็นการนำเอาตัวเรา การมองเห็น และความรู้สึกของเรา เข้าไปอยู่ในโลกเสมือน โดยใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)

ในโลกปัจจุบัน เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราอยากมีผิว ผม และดวงตาสีอะไร เพราะร่างกายของเราถูกยีนส์ของพ่อแม่กำหนดมาให้ แต่ในโลกเสมือน เราสามารถเลือกได้หมดว่าเราจะมีหน้าตาแบบไหน สวยหรือหล่อเพียงใด อยากแต่งตัวด้วยแฟชั่นแบบไหน ฯลฯ แต่ก็มีข้อจำกัดตามที่เขามีทางเลือกไว้ให้ค่ะ

ตามความหมายของ อพวช. (องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ) เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) คือ “การนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ เช่น เว็บแคมคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยวัตถุเสมือนที่ว่านั้น อาจจะเป็น ภาพ วีดิโอ เสียง ข้อมูลต่างๆที่ประมวลผลมาจากคอมพิวเตอร์ มือถือ หรืออุปกรณ์สวมใส่ขนาดเล็กต่างๆ และทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้”

หากท่านเคยเล่นเกมเก็บของของโปเกมอน ที่ช่วงหนึ่งคนฮิตๆ พากันไปที่ต่างๆเพื่อส่องเพื่อเก็บแต้มกัน อันนั้นคือ AR ค่ะ เป็นการผสมวัตถุเสมือน คือโปเกมอน เข้ากับสภาพแวดล้อม บ้าน โรงเรียน ที่ทำงานของเรา ฯลฯ

อพวช. อธิบายไว้เช่นกันว่า “เทคโนโลยี Virtual reality (VR) คือ การจำลองภาพให้เสมือนจริง แบบ 360 องศา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะต้องใช้ควบคู่ไปกับอุปกรณ์สำคัญ นั่นก็คือแว่นตา VR โดยผ่านการรับรู้ของเราไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น เสียง การสัมผัส หรือแม้กระทั้งกลิ่น และทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้”

หากท่านเคยเล่นเกมส์ใส่แว่นแล้วเสมือนว่าเข้าไปดินแดนไดโนเสาร์ ลอยไปในอวกาศ หรือไปโบราณสถาน ฯลฯ ทั้งๆที่ท่านยังนั่งหรือยืนอยู่ที่จุดใดใดจุดหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง นั่นคือ VR ค่ะ เมื่อสวมแว่น ท่านจะถูกตัดขาดจากโลกจริงเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน ทั้งยังสามารถให้ท่านได้กลิ่น หรือเพิ่มมิติอื่น ของประสาทสัมผัส เช่น มีน้ำฝน มีหิมะ โปรยลงมาจริงๆ ได้

เมื่อนำเทคโนโลยีทั้งสองมาผสมผสานกัน และเมื่อท่านสร้างร่างเสมือนของท่าน (Avatar) ท่านก็สามารถนำตัวเข้าไปอยู่ในเหตุกาณ์ หรือสถานที่ต่างๆที่ท่านต้องการได้ สามารถไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆที่เข้ามาในโลกเสมือนได้เช่นกัน เช่น ทักทาย เล่นเกม ซื้อของขายของ ฯลฯ

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้น เร็วๆนี้เมื่อดิฉันได้ฟัง นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน บรรยายเรื่องวัคซีน ท่านยังกล่าวยกตัวอย่างสะกิดใจดิฉันว่า เราอาจจะต้องเข้าไปให้ข้อมูลกับคนรุ่นใหม่ในเมตาเวิร์ส เพราะเรามีโอกาสสัมผัสเขาในโลกจริงๆน้อยลง

ทำให้ต้องนึกถึงการเรียนการสอนว่า หากจะได้ผลอาจจะต้องเข้าไปตั้งโรงเรียนในเมตาเวิร์ส ในอนาคต สินค้าและบริการหลายอย่างอาจจะต้องทยอยไปเปิดร้านในโลกเสมือน เพื่อเป็นช่องทางการขายอีกช่องทางหนึ่ง

ในการถกประเด็นในชั้นเรียนของหลักสูตร WHB (Wellness & Healthcare Business Opportunity Program for Executives) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้รับทราบว่า การผ่าตัดทางไกลโดยคอมพิวเตอร์ใช้งานได้แล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากแพทย์ยังต้องบังคับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทำงาน เสมือนหนึ่งมีคนไข้อยู่ต่อหน้าให้ผ่าตัดจริงๆ ปัญหาที่พบในโลกปัจจุบันคือ แพทย์ผ่าตัดส่วนใหญ่ ไม่มีทักษะในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ จึงควบคุมอุปกรณ์ในโลกเสมือนได้ลำบาก ผู้รู้กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีการจ้างให้นักเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่เก่งๆ มาเป็นผู้ควบคุมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการผ่าตัด โดยมีแพทย์ผ่าตัดนั่งกำกับอยู่ข้างๆกันแล้ว

หลายท่านที่เคยบ่นว่าลูกๆเอาแต่เล่นเกมทั้งวัน อาจจะเริ่มเห็นประโยชน์ของทักษะนี้นะคะ ต่อจากนี้ไป หากไม่ส่งเสริมคนที่มีทักษะเป็นเลิศในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาเรียนเป็นศัลยแพทย์ ก็ต้องเชิญศัลยแพทย์ไปฝึกทักษะการเล่นเกมส์และควบคุมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ดูไปแล้ว อย่างแรกน่าจะง่ายกว่าในระยะยาว เพราะฝึกใช้มือและประสานงานการใช้มือตั้งแต่เด็กๆ จะง่ายกว่าฝึกผู้ใหญ่อายุ 40-50 ปีให้ควบคุมอุปกรณ์เล่นเกม แต่ในขณะนี้ แพทย์คงต้องพยายามฝึกใช้มือบังคับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้คล่องไปพลางๆก่อนค่ะ

ประโยชน์ของการใช้เมตาเวิร์ส ก็มีมากมาย แต่โทษก็มีนะคะ หากเยาวชนไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ก็อาจจะปรับตัวเข้าไปผู้อื่นได้ยาก ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นก็อาจจะเป็นแบบผิวเผิน ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ หรือความช่างสังเกตก็อาจจะหายไป เพราะในโลกเมตาเวิร์ส ทุกคนดูสวยงาม แข็งแรง เท่าเทียม และเท่าที่ดิฉันสังเกต เพราะความเท่าเทียมนี้ ความเคารพ การให้เกียรติ น้ำจิตน้ำใจ และความเห็นอกเห็นใจ จะหายไป

ที่ต้องระวังอีกย่างหนึ่งคือ คนที่สร้างงานปาร์ตี้ หรือสังคนเมตาเวิร์สให้คนเข้าไปในขณะนี้ทุกคนต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค เพื่อหาสินค้าและบริการให้ตรงใจที่สุด หากไม่ระวัง ความเป็นส่วนตัวของเราจะหายไป ข้อมูลบางอย่างที่ควรเป็นความลับส่วนบุคคล อาจไม่เป็นความลับอีกต่อไปค่ะ

บทความโดย Jennifer Neda John ลงใน MIT Technology Review จากการศึกษาของ MIT ในปีที่แล้วพบว่า คนในรุ่น Z คือ มีอายุระหว่าง 9-24 ปี จะเป็นกลุ่มที่เชื่อข้อมูลเท็จจากโลกออนไลน์มากที่สุด เนื่องจากให้ความสำคัญกับคนหรือกลุ่มที่ให้ข้อมูล คือถ้าออกมาจากคนคนนี้ หรือคนกลุ่มนี้ เป็นอันว่าเชื่อถือได้ โดยไม่มีความลังเลสงสัย ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้จักคิด รู้จักสงสัย รู้จักเหตุและผลจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีค่ะ
โพสต์โพสต์