SPAC การระดมทุนแบบเขียนเช็คเปล่า/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

SPAC การระดมทุนแบบเขียนเช็คเปล่า/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

SPAC หรือบริษัทระดมทุนเพื่อลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ ที่คาดว่าจะมีศักยภาพ ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่ม “นักลงทุนรุ่นใหม่” ในต่างประเทศ ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง ไม่แพ้การปรับตัวลดลงของราคา Crypto ในขณะนี้

SPAC หรือ Special Purpose Acquisition Company เป็นบริษัทที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าไประดมทุนในตลาดหุ้นจากนักลงทุนทั่วไป คล้ายๆ กับบริษัทปกติที่เข้าไประดมทุน

แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ SPAC ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเลยหรือที่เรียกว่า Shell Company โดยสัญญากับนักลงทุนที่ซื้อหุ้นของ SPAC ว่าบริษัทดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งรับอาสาจะนำเงินที่ได้ระดมทุนไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีอนาคตไกล ภายในเวลาที่ไม่นานนัก

การระดมทุนเช่นนี้ได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่ปี 2563 (ที่โควิด-19 เริ่มระบาด) เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนรายย่อย ในการมีส่วนร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับความนิยมสูงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีแขนงต่างๆ ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและนักลงทุนรายย่อยหลายคนคงจะมีความรู้สึกว่าตนเองเสียเปรียบ และไม่สามารถเข้าไปลงทุนในกองทุนร่วมทุน (Venture Capital หรือ VC) ที่สามารถเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพตั้งแต่เนิ่นๆ โดยซื้อหุ้นในราคาที่ไม่สูงมาก

แต่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จะต้องรอ จนกระทั่งบริษัทสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จในการขยายกิจการและสร้างผลกำไรได้ระยะหนึ่ง (ประมาณ 3-4 ปี) ก่อนจึงจะสามารถเข้าเกณฑ์ที่จะมาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จากนักลงทุนทั่วไป (initial public offering หรือ IPO) กล่าวคือการซื้อหุ้นตอน IPO เป็นการซื้อหุ้นทีหลังในราคาที่แพงกว่าราคาหุ้นที่นักลงทุนประเภท VC มีโอกาสซื้ออย่างมาก

SPAC จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ SPAC เป็นบริษัทกลวง (Shell Company) ที่นักลงทุนจะต้องให้ความเชื่อมั่นเสมือนกับการ “ตีเช็คเปล่า” ให้ SPAC ไปค้นหาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุนให้เจอและเจรจาตกลงร่วมทุนจนสำเร็จ ซึ่งก็เคยมีการประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เช่น SPAC ชื่อ Social Capital Hedosophai Holding ที่ระดมทุนเมื่อปี 2562 และต่อมาสามารถเจรจาควบรวม (ระดมทุนไปให้) กับ Virgin Galatic ของมหาเศรษฐี Richard Branson ในปี 2563 เพื่อสร้างจรวดสำหรับการท่องเที่ยวไปในอวกาศ โดยได้รับเงินไปประมาณ 800 ล้านดอลลาร์

อีกกรณีหนึ่งคือบริษัท DraftKings ที่ไปควบรวมกับ SPAC อีกบริษัทหนึ่งในปี 2563 ทำให้มูลค่าหุ้นของ DraftKings ปรับตัวสูงขึ้นจาก 3 พันล้านดอลลาร์เป็น 13 พันล้านดอลลาร์ภายในเวลาไม่กี่เดือน

แต่มาวันนี้ SPAC ต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบอย่างแรงจากความเป็นห่วงเกี่ยวกับการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐที่น่าจะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลง

นอกจากนั้นก็ยังจะต้องยอมให้ตราสาร ที่ธนาคารกลางถืออยู่หลายล้านล้านดอลลาร์หมดอายุลง อันจะทำให้สภาพคล่องลดลงและดอกเบี้ยระยะยาวต้องปรับตัวสูงขึ้น เป็นการดำเนินนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี

การดำเนินการดังกล่าวนั้นจะทำให้นักลงทุนต้องลดความเสี่ยงในการลงทุนลง (เพราะการซื้อพันธบัตรที่เสี่ยงน้อย จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ) ขณะที่การลงทุนในสตาร์ทอัพนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงมากที่สุด เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ยังผลิตสินค้าและบริการได้ไม่มากนัก และ/หรือมีเทคโนโลยีแปลกใหม่ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีศักยภาพทำกำไรได้จริงหรือไม่

กล่าวคือ การลงทุนในสตาร์ทอัพนั้นอาจมองได้ว่าเป็นการลงทุนในบริษัทที่ “ขายฝัน” ซึ่งอาจเป็นจริงหรือไม่ก็ได้ บริษัทสตาร์ทอัพบางรายนั้นสามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ เช่น บริษัท Moderna และ BioNTech ที่ผลิตวัคซีน mRNA สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับผลสำเร็จอย่างงดงาม กล่าวคือ SPAC คงจะพยายามแย่งกันหาสตาร์ทอัพที่เหมือนกับ 2 บริษัทดังกล่าว แต่บางครั้งก็ผิดพลาด เช่น SPAC ชื่อ Vector IQ ไปลงทุนและควบรวมกับบริษัท Nikola ที่ “ขายฝัน” ว่าจะผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าในปี 2563

ในตอนแรกราคาหุ้นของ Vector IQ ก็เพิ่มขึ้นถึง 600% ภายในเวลาไม่ถึง 6 เดือน แต่ต่อมาราคาหุ้นก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะ Nikola ไม่สามารถผลิตรถบรรทุกที่มีคุณภาพได้ นอกจากนั้นผู้ก่อตั้งบริษัทคือนาย Trevor Milton ยังถูกปรับเป็นเงิน 125 ล้านดอลลาร์ เพราะให้ข้อมูลที่เป็นเท็จกับนักลงทุนอีกด้วย

กล่าวโดยสรุปคือในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของกลุ่ม SPAC ลดลงไปแล้วประมาณ 60% สำหรับบริษัท เช่น DraftKings และ Virgin Galactic ที่กล่าวถึงข้างต้น SPAC อื่นๆ นั้นราคาหุ้นปรับตัวลดลงประมาณ 40% จากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ได้เคยระดมทุนที่ราคาประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อหุ้น

ณ ปัจจุบันก็ยังมี SPAC อีกหลายบริษัทที่ระดมทุนมาจากนักลงทุนแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาบริษัทสตาร์ทอัพที่น่าลงทุนเพื่อไปควบรวมได้ และมีประมาณ 250 บริษัทที่จะครบกำหนด 2 ปี (ตามเงื่อนไขที่ระดมทุนมาในตอนแรก) ในไตรมาสแรกของปีหน้า โดยประเมินว่ามีมูลค่าของทุนที่ได้ระดมมาจากนักลงทุนมากกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์

หากไม่สามารถหาสตาร์ทอัพเพื่อมาลงทุนได้ ก็จะต้องคืนทุนกลับไป แต่นักวิเคราะห์บางคนเกรงว่ากองทุนดังกล่าวจะรีบเร่งหาสตาร์ทอัพมาลงทุนและใช้เงินให้หมด เพื่อไม่ให้พลาดโอกาส แต่ก็จะเสี่ยงต่อการลงทุนที่ขาดทุนในยุคที่ดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น

ผลที่ตามมาคือนักลงทุนใน SPAC บางคนจึงกำลังขายหุ้นเพื่อเรียกเงินคืน ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพบางบริษัท ซึ่งเคยจับมือกับ SPAC เพื่อควบรวมก็ได้ขอถอนตัวจากการร่วมลงทุนเช่นกัน สรุปได้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลและประเมินความเสี่ยงในการลงทุนอย่างละเอียดถี่ถ้วนครับ.
โพสต์โพสต์