ภาษีหุ้น-คริปโต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ภาษีหุ้น-คริปโต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การเก็บ “ภาษี” จากการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างอื่นเช่นตราสารหนี้ หุ้นกู้หรือพันธบัตรนั้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างก็หวั่นเกรงกันมาตลอดคิดเป็นเวลาก็หลายสิบปีมาแล้ว ครั้งหนึ่งประมาณ 15 ปีมาแล้ว ผมยังจำได้ว่ารัฐมนตรีคลังในยุคนั้นได้ประกาศเก็บ “เงินสำรอง” หรือก็คือ “ภาษี” 30% สำหรับนักลงทุนที่นำเงินดอลลาร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเหตุผลที่ทำก็เพื่อที่จะขจัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่กำลังแข็งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุเพราะว่านักลงทุนเหล่านั้นนำเงินดอลลาร์จำนวนมากเข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และก็อาจจะถอนเงินกลับอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการ “เก็งกำไร” ที่จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและการเงินของไทย

อย่างไรก็ตาม เงินที่จะเข้ามานั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะเข้ามาลงทุนอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน จำนวนหนึ่งก็น่าจะต้องเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน การ “ควบคุมเงินตรา” ทางอ้อมโดยการเก็บภาษี 30% คงจะ “ทำลายตลาดหุ้น” อย่างแน่นอน เพราะนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีมากถึงกว่า 30% ของตลาด ดังนั้น ทันทีที่ประกาศ ราคาหุ้นจึง “ทิ้งดิ่ง” ช่วงแรกถึงพื้นหรือฟลอร์ที่ 10% ซึ่งทำให้ต้องปิดตลาดเป็นเวลา 30 นาทีตามระบบ “เซอร์กิตเบรกเกอร์” พอตลาดเปิดใหม่อีกครั้ง หุ้นก็ตกลงไปอีกจนถึงเกือบ 20% ซึ่งจะทำให้ต้องปิดตลาดอีกครั้ง แต่แล้วมันก็หยุดตกและปรับตัวขึ้นมาบ้างและปิดตลาดวันนั้นที่ 622 จุด ตกลงไป 108 จุดหรือติดลบ 14.8% ซึ่งน่าจะเป็นการตกลงมาใน 1 วัน ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในตลาดหุ้นไทย

หลังจากตลาดหุ้นปิดวันนั้น รัฐบาลก็ประกาศ “ถอย” ตลาดหุ้นก็กลับสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่นั้นมา เรื่องของการเก็บภาษีในการซื้อขายหุ้นที่จะทำให้คนบางส่วนถอนตัวจากการลงทุนในตลาดก็กลายเป็น “ของแสลง” ทุกครั้งที่มีการพูดถึง ราคาหุ้นก็มักจะตกลงมา ดังนั้น ความคิดที่จะเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีที่มีอยู่เช่นภาษีเงินปันผลจึงห่างหายไปนานจนถึงช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ที่กระทรวงการคลังเริ่มที่จะคิดเก็บภาษีใหม่ คราวนี้ไม่ใช่เฉพาะหุ้นแต่รวมถึงเหรียญคริปโตที่กำลังร้อนแรงและโตระเบิดที่จะเข้าข่ายต้องถูกเก็บภาษีด้วย

เหตุผลที่ต้องเก็บภาษีนั้น ที่จริงก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องหาเงินมาใช้ในฐานะรัฐบาลที่ต้องบริหารประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 นอกจากนั้น ที่ต้องเป็นตลาดหุ้นก็เพื่อที่จะให้เกิด “ความเป็นธรรม” กับภาคเศรษฐกิจอื่นที่ต้อง “เสียภาษีกันทั้งนั้น” อย่างไรก็ตาม ในฐานะทางเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย ข้อยกเว้นก็ต้องมี โดยเฉพาะในกรณีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้นและให้เจริญเติบโตและก้าวหน้าขึ้น ในกรณีดังกล่าว ถ้าเราจะเก็บภาษีเต็มรูปแบบ มันก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยหรือเกิดแล้วก็ไม่โต ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า นอกจากนั้น ภาษีที่คาดว่าจะได้ก็จะไม่ได้ด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องการส่งเสริมโดยการลดหรือยกเว้นเรื่องภาษีก็เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ผ่าน BOI หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือเขตอุตสาหกรรมพิเศษต่าง ๆ เป็นต้น ในส่วนของตลาดทุนเองนั้น เราก็ส่งเสริมโดยการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์และงดเว้นภาษีในการซื้อขายหุ้นและกำไรจากการลงทุนของนักลงทุน ทั้งสองสามกรณีดังกล่าวนั้น ก็มีการทำกันทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งไม่ได้ส่งเสริมและก็เก็บภาษีตามปกติ เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วแต่ก็ยังส่งเสริมโดยไม่เก็บภาษีซื้อขายหุ้นอย่างสิงคโปร์เพราะเขาอาจจะคิดว่าเก็บไปก็ไม่คุ้ม เพราะคนอาจจะหนีไปเทรดที่อื่นได้ แล้วเขาก็จะไม่ได้อะไรเลยแต่กลับเสียโอกาสที่จะมีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถระดมทุนเพื่อพัฒนากิจการและพัฒนาประเทศดีกว่า

หน้าที่ของรัฐบาลหรือคนที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องภาษีนั้นจึงอยู่ที่การประเมินว่าเราจะได้อะไรและเสียอะไรถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเก็บภาษี สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่งจะปรากฏขึ้นไม่นานมานี้ก็คือเรื่องของ “Globalizations” โดยเฉพาะในด้านของตลาดทุนและตลาดเงินที่ทำให้การลงทุนข้ามพรมแดนหรือไร้พรมแดนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นไปได้อย่างสะดวกที่ทำให้กิจกรรมการซื้อขายนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วย เพราะนี่อาจจะทำให้การบังคับใช้ในเรื่องของการเก็บภาษีไร้ผลหรือมีผลน้อยลงไปมาก พูดง่าย ๆ คุณจะเก็บเท่าไรก็ได้ แต่นักลงทุนก็มีทางเลือกที่จะไปหาที่ที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีคุณภาพที่สูงกว่าได้ นั่นหมายความว่าผู้กำหนดนโยบายจะต้องคำนึงถึง “การแข่งขัน” ที่มาจากตลาดอื่นหรือประเทศอื่นด้วย พูดง่าย ๆ การกำหนดนโยบายจะต้องดูที่อื่นด้วย ไม่สามารถที่จะคิดแค่ในประเทศอย่างสมัยก่อนที่คนใช้บริการ “ไม่มีทางเลือก”

ในมุมของนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือเหรียญคริปโตนั้น แน่นอนว่าแทบทุกคนต่างก็ไม่น่าจะเห็นด้วยกับการเก็บภาษีใหม่ เพราะนี่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยที่ประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มแทบจะไม่มี เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นเองนั้นคิดว่ากระบวนการลงทุนของตนเองนั้นได้ก่อให้เกิดบริษัทและกิจการต่าง ๆ ที่เติบโตก้าวหน้าขึ้นมากและได้ “จ่ายภาษี” มาไม่รู้กี่รอบ พูดก็พูด บริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้นจ่ายภาษีมากและเลี่ยงภาษีน้อยกว่าบริษัทนอกตลาดมากแค่ไหนทุกคนก็รู้กันดีอยู่ ภาษีที่เสียไปนั้นน่าจะมากกว่าภาคธุรกิจอื่นด้วยซ้ำ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลที่บริษัทได้จ่ายไปแล้ว และภาษีอื่น ๆ รวมถึงภาษีจากปันผลก็ต้องจ่ายเต็ม การที่จะเก็บเพิ่มเช่นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์หรือภาษีจากการซื้อ-ขายหลักทรัพย์นั้นก็อาจจะเป็น “ภาษีซ้ำซ้อน”

มาถึงจุดนี้ดูเหมือนว่าเรื่องภาษีบางอย่างที่กำลังเสนอนั้นคงต้องออกมา ไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้น มาดูกันว่าผลกระทบต่อภาพใหญ่ของประเทศและนักลงทุนจะเป็นอย่างไร เริ่มจากภาษีการซื้อ-ขายหุ้นที่จะคิดเพียง 0.1% ของปริมาณการซื้อขายนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวหรือแม้แต่นักลงทุนระยะสั้นที่ไม่ได้เล่น Day Trade หรือวันต่อวัน จริง ๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะเมื่อคิดรวมกับค่าคอมมิชชั่นที่ค่อนข้างต่ำมากสำหรับตลาดหุ้นไทยก็แค่ประมาณ 0.2-0.3% เทียบกับอีกหลายประเทศแล้วก็ไม่ถือว่าสูง อย่างไรก็ตาม สำหรับพวก High Frequency Trade หรือพวกที่เทรดเร็วมากและบางทีก็ใช้หุ่นยนต์เทรด ก็จะมีปัญหามากและอาจจะต้องหยุดไปเลย ซึ่งนี่ก็จะทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยลดลงไปมาก และก็อาจจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นหงอยลง ความนิยมในการซื้อขายหุ้นในตลาดลดลงส่งผลให้ค่า PE ของหุ้นและตลาดต่ำลง ต้นทุนการเงินของบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วผลกระทบก็อาจจะไม่มากอย่างที่คิด โดยเฉพาะในยามที่คนไทยยังค่อนข้างสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเช่นในปัจจุบัน

ภาษีกำไรจากการขายหุ้นซึ่งยังไม่ได้มีการเสนอให้นำมาใช้นั้น ถ้าเกิดขึ้นก็น่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงกับตลาดหุ้นไทยมากกว่ามาก เหตุผลก็เพราะว่านักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนระยะยาวที่ทุ่มเทกับการลงทุนและหลายคนนั้น “ลงทุนเพื่อชีวิต” คือลงทุนเพื่อให้หุ้นเติบโตขึ้นและหวังว่าจะเก็บไว้ใช้ยามเกษียณนั้น จะถูกภาษีกินไปมากจนยากที่จะสร้างพอร์ตให้โตเร็วอย่างที่คิด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เวลาหุ้นตัวไหนทำกำไรมากก็จะถูกหักภาษีมาก ในขณะที่หุ้นที่ขาดทุนก็ไม่สามารถจะนำมาลดภาษีลงได้ ผลก็คือ อัตราภาษีจริง ๆ ของการลงทุนทั้งพอร์ตน่าจะสูงมาก ซึ่งทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทย “ไม่ค่อยคุ้ม” ทางแก้ก็คือ เลิกลงทุน หรือไม่ก็ไปลงทุนต่างประเทศซึ่งจะไม่มีภาระภาษีตัวนี้

นอกจากนั้น เจ้าของธุรกิจที่คิดจะเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดก็คงจะอยากเข้าน้อยลง เหตุผลก็เพราะว่าถ้าอยากจะขายหุ้นก็จะถูกภาษีกำไรจากการขายหุ้นสูงมากเพราะหุ้นเดิมมักจะมีราคาต้นทุนต่ำมากคือต้นทุนอาจจะเท่ากับราคาพาร์ในขณะที่ราคาตลาดมักจะสูงกว่ามาก บางทีเป็น 10 เท่าหรือ 100 เท่า ดังนั้น ตลาดหุ้นก็น่าจะโตยากเช่นเดียวกับการระดมเงินเพื่อการลงทุนในธุรกิจก็คงจะด้อยประสิทธิภาพลงมาก

ในกรณีของเหรียญคริปโตที่จะต้องเสียภาษีกำไรจากการขายเหรียญนั้น ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เหตุเพราะว่าราคาคริปโตขึ้นลงแกว่งตัวสูงมาก คนเล่นมักจะต้องขายถ้าราคาขึ้นไปแรง การขายทุกครั้งจะต้องเสียภาษี แต่เวลาขาดทุนไม่ได้คืน ผลก็คือ โดยเฉลี่ยอัตราภาษีจริงนั้นจะสูงลิ่วจนไม่คุ้มที่จะเล่น ดังนั้น ในความรู้สึกของผมก็คือ ถ้าทำจริง ๆ ก็มีโอกาสเกิด “หายนะ” ของตลาดซื้อขายคริปโตในเมืองไทย คนที่อยากจะเล่นก็ต้องหันไปใช้แพลทฟอร์มของต่างประเทศ เงินภาษีรัฐก็คงไม่ได้อยู่ดีครับ
miracle
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 18396
ผู้ติดตาม: 75

Re: ภาษีหุ้น-คริปโต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เรื่องของภาษีคลิปโต นั้น
1. ลดความน่าสนใจของนักลงทุนลง เพราะ ภาษีเป็นตัวที่ทำให้ ลดความร้อนแรงได้อย่างดี
2. งานหากเกิดการเก็บจริงจัง อาจจะมีเกิด การตีความกฏหมาย ถึงระดับ กฏหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องของความเท่าเทียมกัน และหน้าที่ของการจ่ายภาษี ได้เลย
เพราะ การบังคับใช้กฏหมายที่ไม่เทียมกัน เก็บเพราะกำไรแต่ขาดทุนไม่เก็บ
3. การเก็บภาษีคลิปโต จะนำไปเปรียบเทียบกับ ภาษีซื้อขายหลักทรัพย์
ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคมเพิ่มขึ้น ดังคำพูดที่ตอนนี้มี
"คนจนเล่นหวย คนรวมเล่นหุ้น คนรุ่นใหม่ซื้อคลิปโต"
4. การไม่เตรียมการของกรมสรรพากร ออกประกาศเรื่องเก็บภาษีคลิปโต แต่ทว่า ความไม่พร้อมของขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร หรือ Exchange หรือ บริษัทนายหน้าในด้านคลิปโต ว่าเขาต้องมีหน้าที่อย่างไรในกระบวนการขั้นตอนเรื่องนี้ กันบาง
พอออกมาโยนหินถามทางสื่อ งานนี้เข้าเลยทันตา เหมือน ตอน ที่ กลต ออกกฏเรื่องคลิปโต เมื่อปี 2564 นั้น เรียกได้ว่า ยอดคนที่ให้ความคิดเห็น ถล่มทลายอย่างมากมาย
จนเจ้าหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นในเวลานั้นไม่ทัน ก็ต้องยอมถอยทัพ รับฟังความเห็น ก็เหมือนรอบนี้ ที่กรมสรรพากร ยอมถอยเรียก StakeHolder ทั้งหมดในวงการเข้าไปหารือเลยทีเีดยว
5. กรมสรรพากรไม่ได้ศึกษาทำการบ้านมาก่อนว่า ต่างประเทศ เช่น UKหรือ EU/US เป็นต้นได้ ออกแนวทางในการจัดเก็บเรื่องนี้ไว้อย่างไร เอาตัวบทกฏหมาย พรบ สินทรัพย์ดิจิตอล มาตีความโต้งๆเลย งานเลยเป็นดังที่เห็น

ทั้งหมดทั้งปวง คือ สรุป แล้วรถทัวร์จึงไปจอดจนเต็มลานจอดรถของกรมสรรพากร นั้นเอง ในกรณีนี้
:)
โพสต์โพสต์