อยู่อย่างไรยามสูงวัย (3)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

อยู่อย่างไรยามสูงวัย (3)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดิฉันเขียนเรื่องอยู่อย่างไรยามสูงวัยสองตอนแรกไปเมื่อสองปีก่อน ก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะประกาศให้ปี 2021 ถึง 2030 เป็นทศวรรษแห่งการสูงวัยที่มีสุขภาพดี โดยให้ องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) เป็นแกนนำ โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ช่วยให้ชีวิตของผู้สูงวัย ของครอบครัวและของชุมชนดีขึ้น สร้างชุมชนที่เอื้อต่อผู้สูงวัย มีบริการที่เหมาะสม และประเทศต่างๆจะร่วมมือกันส่งเสริมให้ประชากรของโลก มีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวขึ้น โดยมีสุขภาพดีขึ้น

เมื่อสองปีก่อน ดิฉันเขียนถึงรายงาน World Population Ageing ขององค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันมีรายงานที่เป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น คือฉบับของปี 2020 ซึ่งรายงานว่า จากการคาดการณ์ จำนวนประชากรอายุมากกว่า 60 ปี (ประชากรสูงวัย)จะเพิ่มจำนวนและสัดส่วนจาก 1,000 ล้านคน ในปี 2020 เป็น 1,400 ล้านคน ในปี 2030 และ 2,100 ล้านคน ในปี 2050 (มากกว่าที่คาดไว้เมื่อสามปีก่อน 20 ล้านคน) โดยจะมีประชากรอายุมากกว่า 80 ปี จำนวนประมาณ 426 ล้านคน (มากกว่าเดิม 10 ล้านคน) และคำนวณสัดส่วนประชากรสูงวัยได้เท่ากับ 21.4% ของประชากรโลกในปี 2050

ดูตัวอย่างที่ใกล้ๆตัวเรา ประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนของประชากรสูงวัย ถึง 30% ของประชากรทั้งหมด

จากข้อมูลหลักฐานชี้ว่า ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติ ช่วงเวลาที่คนเรามีสุขภาพดีจะคงที่ นั่นหมายถึงว่า ช่วงที่เหลือของชีวิตที่ยืนยาวขึ้น จะเป็นช่วงที่สุขภาพถดถอยลง

ดังนั้น หากช่วงเวลาของชีวิตที่เพิ่มขึ้นมา ผู้สูงวัยสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการช่วยสนับสนุนที่เหมาะสม ก็จะสามารถทำอะไรได้ไม่แตกต่างจากคนที่มีอายุน้อยกว่า

สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม จะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ อุปสรรคหรือแรงจูงใจ ก็ส่งผลต่อโอกาส การตัดสินใจ และอุปนิสัยในการดูแลสุขภาพ

หากรักษาสุขภาพดี ก็จะช่วยรักษาความแข็งแรงทางกาย จิตใจ และทำให้การอยู่อาศัยแบบต้องพึ่งพา(คนอื่น)ช้าลง แม้ว่าผู้สูงวัยจะสูญเสียความสามารถบางอย่างไป แต่ก็ยังสามารถทำกิจกรรมอะไรๆได้

หากมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แย่และถดถอย ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นลบต่อผู้สูงวัย และต่อสังคมด้วย

มีรายงานของ World Economic Forum แนะนำว่า การอยู่ร่วมกันระหว่าง รุ่น คือมีทั้ง พ่อแม่ลูก และปู่ย่า หรือ ตายาย หรือ หากเป็นคนโสด ก็จะเป็นการอยู่ร่วมกับ ญาติพี่น้อง และการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน จะก่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการอยู่ในยามสูงวัย

สำหรับนักวางแผนการเงิน เราจะรอให้มีการจัดการจากภาครัฐ คงไม่ทัน เราต้องวางแผนจัดการชีวิตของตัวเราและคนรอบข้างค่ะ

ช่วงนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นมีข่าวเกี่ยวกับการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย ที่ดิฉันเคยเขียนถึงในตอนที่สอง เรียกว่า Senior Living คือเป็นกลุ่มที่ช่วยตัวเองได้ แอคทีฟ โดยมีการบริหารจัดการจากโครงการ ทำให้เราไม่ต้องทำความสะอาดเอง ตัดหญ้าเอง ฯลฯ ในโครงการก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้ ทั้งสนามกีฬา ร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านเสริมสวย คลินิกแพทย์ ฯลฯ บางโครงการมีโทรศัพท์ฉุกเฉินให้กด และจะมีพยาบาลมาถึงตัวท่านภายใน 4 นาที

นอกจากนี้ก็จะมีกิจกรรม เพื่อให้ท่านสามารถเข้าร่วมได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่อื่น เช่น สัมมนาให้ความรู้ กิจกรรมออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย หรือบางโครงการก็ใช้เทคโนโลยีมาจัดการออกกำลังให้เหมาะสมกับแต่ละท่าน

สำหรับอาหารการกินนั้น บางแห่งก็จัดแบบตามสั่ง ตามใจ ได้ค่ะ บางแห่งซื้อเครื่องปรุงมาแล้วไปขอให้ปรุงให้ยังได้เลย บางแห่งก็มีแปลงผักให้แต่ละครอบครัวปลูกไว้รับประทานกันเอง โดยเน้นการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยเป็นหลัก โครงการระดับห้าดาว ก็จะมีเชฟฝีมือขั้นเทพมาปรุงอาหารสุขภาพให้ มีนักโภชนาการคอยกำหนดสารอาหารและจัดอาหารให้

สำหรับที่ตั้งก็มีหลากหลายค่ะ มีโครงการตั้งอยู่ริมแม่น้ำ มีโครงการตั้งอยู่ในคอมเพล็กซ์ชานเมือง และมีโครงการตั้งอยู่ในรีสอร์ต ท่านสามารถเลือกได้ตามชอบ

บางโครงการมีการจัดสภาพแวดล้อมเผื่อไปกึ่งๆ การพำนักโดยมีผู้ช่วยเหลือ หรือ Assisted Living ด้วย เช่นทำเรื่องพื้นให้เป็นพื้นที่ล้มแล้วลดการบาดเจ็บ ห้องน้ำมีราวจับพยุงตัว บางโครงการไม่ได้จัดราวจับในห้องน้ำให้ แต่เผื่อไว้แล้วในการออกแบบ ของแบบนี้ สามารถเพิ่มได้ในภายหลังค่ะ

แต่อย่างหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ที่ดิฉันเคยเขียนไปแล้วคือ โครงการส่วนใหญ่เป็นสิทธิการเช่า (Leasehold) เพื่อให้มีการบริหารจัดการให้โครงการให้อยู่ในสภาพที่ดี น่าอยู่ บางโครงการมีออพชั่นในการซื้อด้วยเมื่อจบสัญญาเช่า สำหรับลูกค้าคนไทย

ส่วนระยะเวลาการเช่า ก็ขึ้นอยู่กับโครงการค่ะ มีตั้งแต่สัญญารายปี ราย 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือ 30 ปีต่อได้อีกสองครั้ง ครั้งละ 30 ปี

บางโครงการอยู่ไม่ครบ จะมีการคืนเงินตามสัดส่วน บางโครงการทำการประกันชีวิตและสุขภาพให้ในแพคเกจ บางโครงการให้เลือกแพคเกจสุขภาพเป็นออพชั่น

กลุ่มที่ยังแอคทีฟอยู่ จะเลือกอยู่แบบหลายรุ่นก็ได้ค่ะ ดิฉันคิดว่า เด็กก็ทำให้ผู้ใหญ่สดชื่น ผู้สูงวัยก็ทำให้เด็กอ่อนโยนขึ้น ทั้งนี้ หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 พบว่าคนในวัยทำงาน มีการกลับไปอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวหลายรุ่นมากขึ้น

สำหรับท่านที่ยังไม่แน่ใจว่าอยากอยู่แบบนี้หรือไม่ อาจไปทดลองอยู่ระยะสั้นก่อน หรือหากท่านชอบโครงการแต่ยังไม่พร้อมไปอยู่ ท่านอาจวางแผนเลือกโครงการดีๆที่เหมาะสมตั้งแต่ตอนนี้ และอาจจะปล่อยเช่าต่อไปก่อน จนกว่าท่านจะพร้อมที่จะไปอยู่ได้ค่ะ
โพสต์โพสต์