"ตัวแปรสำคัญ" กำหนดการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

"ตัวแปรสำคัญ" กำหนดการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ประเทศไทยกำลังคาดหวังว่า การเปิดประเทศจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการ "ฟื้นตัว" ของ "เศรษฐกิจ" ในปีหน้า แต่เรากำลังเห็นการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในทวีป "ยุโรป"

ตัวอย่างเช่น ข่าวที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และออสเตรียเพิ่มมาตรการควบคุมกิจกรรมของประชาชน เพราะกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลกเตือนว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ยุโรปเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก (grave concern) และหากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เป็นไปได้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในยุโรปและเอเชียกลางอีก 5 แสนคน ภายในวันที่ 1 ก.พ.2565

ประเด็นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น ผมเห็นว่าจะพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ไม่มากนัก ดังที่หลายฝ่ายอาจจะคาดหวังเอาไว้ เพราะการระบาดที่รุนแรงมากขึ้นในยุโรปนั้น เกิดขึ้นในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนโดยรวมมากกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น เมื่อประเมินจากสัดส่วนของประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว

ดังนั้น ในครึ่งแรกของปีหน้า (และอาจยืดเยื้อไปทั้งปี) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยน่าจะต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวของคนไทยเป็นหลักมากกว่า แม้ว่าในอดีตการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมากกว่าคนไทยประมาณ 1 เท่าตัว กล่าวคือรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยนั้นประเมินว่าเท่ากับ 1 ล้านล้านบาทในปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ 2 ล้านล้านบาทในปี 2562

แต่ประเด็นหลักที่ผมมองว่าจะเป็นปัจจัยที่ตัดสินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 จะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อว่า จะเร่งตัวและยืดเยื้อหรือเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวที่จะชะลอตัวลงเองภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า โดยธนาคารกลางสหรัฐไม่จำเป็นต้องขู่ตลาดว่า ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นและ/หรือเร่งรัดการลดทอนคิวอี (มาตรการพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรคุณภาพดีในตลาดรอง)

การประเมินความยืดเยื้อของเงินเฟ้อนั้น ผมเห็นว่าไม่ใช่การติดตามดูตัวเลขเงินเฟ้อต่างๆ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือตัวเลขที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญคือ เงินเฟ้อที่วัดจาก PCE (personal consumption expenditure inflation) เป็นหลัก เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากความร้อนแรงของอุปสงค์เมื่อเทียบอุปทานมากกว่าเป็นเหตุ

ดังนั้น จึงต้องหันมาดูว่าสภาวะอุปสงค์และอุปทานนั้นจะพัฒนาไปในทิศทางใดใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งข้อสรุปของผมคือมีความเป็นไปได้มากกว่าที่กำลังซื้อจะร้อนแรงต่อเนื่อง แต่กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นไม่เพียงพอภายใต้เงื่อนไขที่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายอย่างมาก ทำให้เงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ที่ระดับสูงเกินไปในไตรมาส 2 ของปีหน้า

ผลที่ตามมาคือ ความจำเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องออกมาปรามเงินเฟ้อเร็วกว่าและมากกว่าที่คาดการณ์กันอยู่ ณ วันนี้ เพื่อชะลอความร้อนแรงของอุปสงค์ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีหน้าไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ในขณะที่การท่องเที่ยวก็จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนน่าจะเริ่มออกเดินทางไปต่างประเทศได้ในปี 2566 เป็นต้นไปมากกว่าปี 2565

การ “ปราม” เงินเฟ้อนั้นจำเป็นต้องมีการเร่งการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์อย่างทันท่วงที หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงยืดเยื้อไปนานก็เสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อสูงจะถูกนำไปอยู่ในการคาดการณ์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (embedded inflationary expectations) ซึ่งจะทำให้ปรามเงินเฟ้อได้ยากขึ้น

ดังนั้น ธนาคารกลางจึงต้องปรับนโยบายในจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงหลังของทศวรรษ 70 เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว

ภาคการผลิตนั้นจะขยายผลผลิตได้ก็โดยการเพิ่มปัจจัยการผลิต ซึ่งมีอยู่ 4 ปัจจัยหลักคือ เงินทุน (เพิ่มทุนสร้างโรงงานใหม่หรือซื้อเครื่องจักรใหม่) เทคโนโลยี (ที่เพิ่มผลิตภาพ) แรงงานและพลังงาน+ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการลงทุนโดยรวมนั้นก็สูงมากแล้วเพราะดอกเบี้ยต่ำและราคาหุ้นสูงเป็นประวัติการณ์ (ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ค่อนข้างง่าย) ดังนั้น ปัจจัยการผลิตที่กำลังเป็นปัญหาคือการขาดแคลนแรงงานและการขาดแคลนพลังงาน

ในส่วนของการขาดแคลนพลังงานนั้น ตัวเลขที่ดูง่ายๆ คือการที่สหรัฐมีจำนวนผู้ที่ระบุว่าตัวเองว่างงานนั้นมีทั้งสิ้น 7.4 ล้านคน โดย 2.3 ล้านคนว่างงานมา 27 สัปดาห์หรือมากกว่า (แปลว่าน่ามีทักษะที่ไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีปัจจุบันจึงหางานไม่ได้) ดังนั้น จำนวนแรงงานที่เหลือที่สามารถหางานได้น่าจะประมาณ 5.1 ล้านคน

ในขณะที่ ณ ปัจจุบันสหรัฐมีการประกาศหาคนงาน (job openings) กว่า 10 ล้านตำแหน่ง ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่เงินเดือนของพนักงานจึงกำลังเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ต่อปี แต่ก็ยังต่ำกว่าตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ 6% ต่อปี อันจะทำให้จำเป็นต้องปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นมากขึ้นไปอีก

แม้แต่ในประเทศไทยของเราเองก็จะเห็นว่า ภาคธุรกิจกำลังผลักดันให้ภาครัฐรีบเร่งกระบวนการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 5 แสนคน เพราะประเทศไทยขาดแคลนแรงงานอย่างมาก แต่การเร่งรีบนำเข้าแรงงานย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่การระบาดของโควิด-19 อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ แต่หากภาครัฐเข้มงวดและเชื่องช้าเกินไปก็จะยิ่งเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย

สำหรับพลังงานนั้นก็เห็นได้ชัดว่า ในอดีตการลงทุนเพื่อสำรวจและเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงหลัก (fossil fuel) คือถ่านหิน น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติโดยรวมนั้นได้ลดลง ทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลน แต่ครั้นจะเพิ่มการสำรวจและเพิ่มการผลิตพลังงานดังกล่าวก็ไม่กล้าทำ เพราะขัดกับความจำเป็นที่จะต้องลดการผลิตก๊าซเรือนกระจก

ที่สหรัฐเอง ประธานาธิบดีไบเดนก็มีนโยบายไม่ให้ขยายการผลิตเชื้อเพลิงดังกล่าว แต่ก็พยายามไปผลักดันให้โอเปคสูบน้ำมันดิบออกมาขายมากขึ้น ซึ่งโอเปคก็ไม่ยอมร่วมมือ

หากจะลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงดังกล่าว โลกจะต้องลงทุนในการผลิตพลังงานที่แพงกว่า ทำให้การขาดแคลนพลังงานน่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก ดังนั้น การขาดแคลนพลังงานกับแรงงานนั้นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อต่อไปอีกใน 2-3 ปีข้างหน้าครับ.
โพสต์โพสต์