การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

"เศรษฐศาสตร์" คือวิชาที่สอนว่าในโลกนี้มีความขาดแคลน (scarcity) ตลอดไปหรือหากมองในอีกด้านหนี่งคือมีความต้องการของมนุษย์นั้นมีอยู่มากอย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุด

ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ จะเป็นสมมติฐานที่ตรงกันข้ามกับคำสอนของศาสนาพุทธให้พยายามจำกัดความต้องการ มิฉะนั้นก็ยังมีความทุกข์เพราะมีมากเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้จักพอ

ข้อสรุปหลักคือสิ่งที่ท้าทายในระยะยาวได้แก่ ทำอย่างไรให้ผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากที่สุดทุกๆ ปี ดังที่เราเห็นว่าเป้าหมายหลักของทุกรัฐบาลในทุกประเทศโดยปกติคืออยากให้จีดีพีขยายตัวในอัตราที่สูง น้อยครั้งที่บอกว่าอยากเห็นจีดีพีขยายตัวลดลงและปัญหาจะเกิดจากสินค้ามีไม่เพียงพอกับความต้องการ (supply limitations) มากกว่าผลิตมาแล้วจะขายของไม่ได้ (เพราะก็ยังจะสามารถผลิตเพื่อส่งออกได้หากตลาดภายในขยายตัวได้ช้า) ดังนั้นในระยะยาวจึงไม่จำเป็นจะต้องพะวงว่าอุปสงค์ (demand) มาจากที่ใด ตรงนี้ต้องบอกว่าการมีธรรมชาติที่สวยงามและอากาศบริสุทธิ์นั้นก็เป็น “สินค้า” ที่จะต้องลงทุนผลิตเหมือนกัน

การผลิตสินค้าและบริการนั้นย่อมต้องพึ่งพาปัจจัยประมาณ 6 ปัจจัยดังนี้

1. แรงงาน ซึ่งประเทศไทยกำลังจะขาดแคลนในระยะยาว เช่น ข้อมูลจากสหประชาชาติที่ประเมินว่าประชาชนในวัยแรงงานของไทย (อายุ 15-64 ปี) จะลดลงจาก 49 ล้านคนในปี 2020 เหลือ 47 ล้านคนในปี 2030 และลดลงอีกไปเป็น 42 ล้านคนในปี 2040

2. ที่ดิน ซึ่งมีอยู่จำกัดขยายเพิ่มไม่ได้และดังที่เราทราบกันว่าส่วนใหญ่ปัจจุบันใช้ในการปลูกข้าวและพืชหลักอื่นๆ อีก 3-4 ชนิดที่ให้ผลตอบแทนไม่สูงมาก เห็นได้จากการที่ภาคเกษตรของไทยให้ผลผลิตไว้ต่ำและคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของจีดีพีเท่านั้นและขยายตัวอย่างเชื่องช้า

3. พลังงาน ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเพื่อผลิตไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีบวกกับการนำเข้าน้ำมันเพื่อการขนส่ง แต่ก๊าซธรรมชาติทั้งที่ไทยซื้อจากพม่าและในอ่าวไทยก็กำลังจะหมดลงไปภายใน 10 ปีข้างหน้า ทำให้จะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งราคาสูงเพิ่มขึ้น แปลว่าในอนาคตประเทศไทยจะต้องซื้อพลังงานในราคาที่สูงขึ้น

4. การลงทุน เพื่อสร้างโรงงานและซื้ออุปกรณ์การผลิต (capital goods) เพิ่มขึ้นคงต้องเป็นปัจจัยหลักในการขยายกำลังการผลิตของประเทศไทย (เพราะแรงงานและพลังงานก็จะมีน้อยลงและราคาแพงขึ้น ในขณะที่ที่ดินจะเพิ่มได้ไม่มาก) แต่การลงทุนภาคเอกชนของไทยนั้นสัดส่วนต่อจีดีพีก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคืออยู่ที่ระดับ 17-19% ของจีดีพีและการลงทุนของรัฐบาลนั้นก็อยู่ที่ระดับ 6-7% ของจีดีพี

กล่าวคือไม่ต่ำแต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (engine of growth) การนำเสนอโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ราคาแพงนั้นอาจจะดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ แต่หากรัฐบาลลงทุนไปแล้วแต่เงื่อนไขไม่เอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนใช้ในการประกอบธุรกิจที่มีกำไรคุ้มค่าได้ โครงการดังกล่าวก็จะไม่ได้มีประโยชน์มากนักในการต่อยอดทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้การลงทุนในตัวมนุษย์ (human capital) นั้นแท้จริงแล้วในระยะยาวพบว่าให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจที่สูงกว่าการลงทุนในการสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรเสียอีก แต่ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถพัฒนาการศึกษาและการฝึกวิชาชีพให้ตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจ (และความกินดีอยู่ดีของประชาชน) ได้ดีเท่าที่ควร

5. เทคโนโลยี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ยืนยันว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจซึ่งประเด็นสำคัญคือการมีสังคมที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ (แม้จะเป็นของคนต่างชาติ) และมีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม นอกจากนั้นการสนับสนุนและขับเคลื่อนการวิจัยขั้นพื้นฐานโดยภาครัฐเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำเอาความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดในการทำธุรกิจและสร้างกำไรก้มีความสำคัญอย่างมาก

6. ความเชื่อมั่นและความกล้าได้กล้าเสียของนักธุรกิจ ซึ่ง John Maynard Keynes อธิบายว่าเป็น “animal spirits” ของนักธุรกิจ กล่าวคือการคาดการณ์อนาคตนั้นทำได้ยาก การใช้ Excel ประเมินผลตอบแทนในอนาคตนั้นก็ทราบกันดีว่าสามารถทำให้ผลออกมาตามใจชอบเพราะขึ้นอยู่กับสมมุติฐาน (assumptions) ที่จะใช้ในการสร้างแบบจำลองทางการเงิน ดังนั้นการตัดสินใจที่จะกล้าเสี่ยงหรือไม่จึงจะต้องเกิดจาก animal spirits หรือความฮึกเหิมและความกล้าได้กล้าเสียของนักธุรกิจ ที่มีความมั่นใจและพร้อมจะ “แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหน้างาน” ในอนาคต

แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากคือความมั่นใจในนโยบายและความเที่ยงธรรมของผู้บริหารประเทศ บางอย่างที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น การเจรจาให้ภาคเอกชนไม่ขึ้นค่าทางด่วนทั้งๆ ที่มีระบุเอาไว้ในสัญญานั้น ย่อมจะบั่นทอน “animal spirits” เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ผลกำไรในอนาคตจะถูกลดทอน เป็นต้น

นอกจากนั้นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังมากขึ้นในการพื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้คือการที่ธนาคารกลางต่างๆ กำลังจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นใน 1-3 ปีข้างหน้าอย่างต่อเนื่องในสภาวะที่ทุกรัฐบาลและภาคเอกชนมีหนี้สินเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเพราะผลกระทบจาก COVID-19

ดังนั้น ผู้ประกอบการและรัฐบาลหลายประเทศจึงจะมีสถานะทางการคลังที่เปราะบางและไม่สามารถรับมือได้หากดอกเบี้ยจะต้องปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจึงต้องคาดหวังว่ารอบนี้เงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนักครับ.
โพสต์โพสต์