คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2021-ยังมองภาพดีเกินไป?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2021-ยังมองภาพดีเกินไป?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

มองย้อนกลับไปต้นปีนี้ ก็จะจำได้ว่านักวิเคราะห์เศรษฐกิจและภาครัฐต่างคาดการณ์กันว่า จีดีพีไทยในปีนี้/ปีหน้าจะขยายตัว 3-4% จากติดลบ 6.1% ปีแล้ว

แปลว่าในกรณี “ดี” นั้น รายได้ของประชาชนโดยเฉลี่ยจะถดถอยไปประมาณ 2 ปี สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้นแทบจะไม่เหลืออะไรเลยเพราะในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคมมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่ถึง 40,000 คน จากที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 40 ล้านคนในปี 2019

แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือการที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้ทยอยกันปรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมา 3-4 ครั้งแล้ว จาก 3-4% มาเป็น 2-3% มาเป็น 1-2% และปัจจุบันกำลังปรับลงไปอีกเป็น 0-1%

ผมเชื่อว่าประมาณการดังกล่าวก็ยังเป็นการมองภาพแนวโน้มเศรษฐกิจใน 3-6 เดือนข้างหน้าในแง่ดีเกินจริง จึงได้มีการประเมินกรณีเลวร้ายซึ่งจีดีพีในปีนี้อาจหดตัวลงไปอีก และหากเกิดขึ้นจริงประเทศไทยก็คงจะเกือบเป็นประเทศเดียวที่จีดีพีติดลบต่อเนื่องถึง 2 ปีซ้อน ทั้งนี้ความเป็นไปได้ที่จีดีพีติดลบในปีนี้จะถูกกำหนดโดยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้

ปัจจุบันนักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าจะเร่งตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดใน 1-2 เดือนข้างหน้า (เช่นผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงสุดที่ 25,000-30,000 คน) แล้วปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 1,000 รายใหม่ต่อวันในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ทำให้รัฐบาลสามารถคลายล็อคทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจจะยังมีเวลาฟื้นตัวได้บ้างในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ทั้งนี้โดยมีสมมุติฐานว่ารัฐบาลจะกู้เงินมาเยียวยาให้กับประชาชนประมาณ 1/3 ของความเสียหายที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้นการส่งออกก็จะเป็นเครื่องยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนให้จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 2% (ในขณะที่กำลังซื้อในประเทศซบเซาหดตัวลง) แปลว่าทั้งสองปัจจัยนี้จะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้เล็กน้อย ช่วยให้ประเทศไทยรอดตัวจากการหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ปีซ้อน

ปัจจัยนี้สำคัญที่สุดคือการติดเชื้อรายวันที่จะเร่งตัวจนกระทั่งถึงจุดสูงสุดภายใน 3-4 สัปดาห์แล้วค่อยๆ ปรับตัวลดลงใน 6-7 สัปดาห์ต่อมา แปลว่าการระบาดที่รุนแรงนั้นจะใช้เวลาอีกไม่นาน คือประมาณ 1-2 เดือนซึ่งประเทศไทยก็ได้เคยเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์อัลฟ่าผ่านไปแล้ว ในช่วงเดือนมกราคมและอีกครั้งในเดือนเมษายน ก่อนที่สายพันธุ์เดลต้าจะเข้ามาระบาดซ้อนอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคม

ดังนั้น จึงต้องรอให้ระบาดต่อไปอีกในเดือนสิงหาคมและกันยายน การระบาดจึงจะปรับตัวลดลง เพราะมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นบวกกับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้การระบาดหนักที่ใช้เวลาระบาดประมาณ 1-2 เดือนนั้นก็ได้เกิดขึ้นไปแล้วในประเทศอังกฤษและอินเดีย เป็นต้น

แต่ผมเป็นห่วงว่าการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 คนนั้นอาจเป็นไปอย่างยืดเยื้อไปอีก 4-5 เดือนก็เป็นได้ เพราะมาตรการควบคุมนั้นอาจเข้มงวดพอที่จะทำให้การติดเชื้อรายใหม่ไม่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งตัวไปที่ 40,000-60,000 คนเช่นกรณีของประเทศอังกฤษ แต่ก็จะยืดเยื้อและไม่สามารถปรับลดลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน การติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 10,000 คนต่อเนื่องไปอีก 4-5 เดือนนั้นแปลว่าจะมีผู้ติดเชื้อและหายเป็นปกติ และมีภูมิคุ้มกันประมาณ 1.5-2.0 ล้านคนภายในปลายปีนี้

ในขณะเดียวกันหากมีการฉีดวัคซีนได้วันละ 3 แสนโดส (ซึ่งเป็นการมองโลกค่อนข้างดี) ก็แปลว่าจะฉีดได้เกือบ 50 ล้านโดสหรือทำให้คนไทย 25 ล้านคนมีภูมิคุ้มกันบวกกับ 3 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสไปก่อนหน้าแล้ว บวกคนที่ติดเชื้อแล้วหายเป็นปกติและมีภูมิคุ้มกัน ก็อาจสรุปได้ว่ามีคนไทยที่ได้รับภูมิคุ้มกันรวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ล้านคนหรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศไทยในปลายปีนี้

ตัวเลขดังกล่าวนั้นหากเป็น COVID-19 สายพันธุ์อัลฟ่าก็น่าจะสามารถลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ลงได้หอย่างมาก เช่นในกรณีของประเทศอังกฤษนั้นเมื่อฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่ที่อังกฤษประมาณครึ่งประเทศในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 2,000 คนต่อวัน แต่เมื่อต้องเผชิญกับสายพันธุ์เดลต้าและการค่อยๆ คลายความเข้มงวดในการควบคุมเศรษฐกิจ ก็ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปถึงจุดสูงสุดที่เกือบ 43,000 คน ในวันที่ 20 กรกฎาคมและกำลังลดลงมาที่ประมาณ 35,000 คนต่อวันในวันที่ 26 กรกฎาคม

ทั้งๆ ที่ ณ ปลายเดือนกรกฎาคมนั้นประเทศอังกฤษฉีดวัคซีนไปแล้ว 83.7 ล้านโดสและจำนวนผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสที่อังกฤษนั้นมีถึง 46 ล้านคน (90% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมดของประเทศ) และผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วมีทั้งหมด 36 ล้านคนหรือ 70% ของจำนวนผู้ใหญ่ทั้งหมด

ทั้งนี้ประเมินได้ว่าสายพันธุ์เดลต้าแพร่ตัวได้ง่ายโดยเฉพาะในกลุ่มผู้เยาว์ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและก็ยังมีผู้ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อได้อีก (breakthrough case) จำนวนไม่น้อย แต่อังกฤษเชื่อมั่นว่าจะมีผู้ป่วยและเสียชีวิตไม่มาก ทั้งนี้ปัจจุบัน (วันที่ 27 กรกฎาคม) อังกฤษมีผู้เสียชีวิตเพราะ COVID-19 เฉลี่ย (ย้อนหลัง 7วัน) วันละ 69 คนปรับตัวสูงขึ้นมาจาก 19 คนเมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม

กรณีของประเทศอังกฤษนั้นเห็นได้ว่า กำลังเดิมพันว่าจะสามารถ “อยู่กับ” สายพันธุ์เดลต้าได้โดยมีผู้ติดเชื้อวันละเป็นหมื่นคน แต่เสียชีวิตวันละเพียงหลายสิบคน เพราะมีวัคซีนเพียงพอและมีการตรวจคัดกรองวันละล้านราย

หากนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งมีประชากรใกล้เคียงกับอังกฤษที่ 68 ล้านคน ก็จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 10,000 คนต่อวันไปได้อีกหลายเดือนถึงปลายปีนี้ เพราะแม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วก็จะยังมีประชากรเหลือให้ติด COVID-19 อีก 20-30 ล้านคน ดังนั้นการคาดการณ์ว่าจะสามารถคลายล็อคเศรษฐกิจได้ในเดือนตุลาตมหรือพฤศจิกายนอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

ซึ่งดูเหมือนว่าแนวทางที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือการเร่งฉีดวัคซีนที่กรุงเทพให้ได้ 70-80% ของประชากรก่อนจังหวัดอื่นๆ และยังส่งเสริมให้ผู้ที่ติดเชื้อย้ายออกไปจากกรุงเทพฯ ให้เดินทางไปรักษาตัวที่ต่างจังหวัดเพื่อให้กรุงเทพฯ ฟื้นตัวได้ก่อนที่อื่น เพราะจีดีพีของกรุงเทพฯ นั้นเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศไทยครับ.
โพสต์โพสต์