เอาตัวรอดจากโควิด/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

เอาตัวรอดจากโควิด/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ช่วงเวลานี้สิ่งที่ผมกลัวหรือกังวลที่สุดก็คือการ “ติดโควิด” เพราะถ้าติดเชื้อนี้ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อตัวเองแล้ว คนรอบข้างในครอบครัวหลาย ๆ คนรวมถึงคนสูงอายุและเด็กเล็กก็มีโอกาสติดต่อกันค่อนข้างสูง คงจะโกลาหลกันสุด ๆ เริ่มตั้งแต่การหาห้องพักรักษาตัวเช่น “ฮอสพิเทล” หรือโรงพยาบาลซึ่งหายากขึ้นทุกวัน และถ้าเป็นหนัก เชื้อลงปอดจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่ในบ้านจะได้ฉีดวัคซีนครบกันทุกคนแล้วแต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ เพราะโรคนี้ไม่มีอะไรป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะจากวัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่สูงอย่างที่ใช้กันในประเทศไทยในขณะนี้ และนี่ยังไม่พูดถึงเด็กเล็กที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้และยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร? การป้องกันและแก้ไขหรือลดโอกาสที่จะติดโรคและการเจ็บหนักจะทำอย่างไร? ต่อไปนี้ก็คือการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง การลดความเสี่ยงและการป้องกันตัวของผมและน่าจะของทุกคนด้วย

เริ่มจากการประเมินความเสี่ยงของแต่ละคนก่อน ผมคิดว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะติดโรคและมีอาการหนักจนอาจจะถึงตายไม่เท่ากัน โดยคร่าว ๆ น่าจะแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1) อายุ คนสูงอายุโดยเฉพาะตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปนั้นจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนหนุ่มสาวมาก เหตุผลก็เพราะว่าถ้าติดโควิดจะมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงขนาดถึงตายได้สูงกว่ากลุ่มอื่นมาก หรือถ้าไม่ตาย ร่างกายโดยเฉพาะปอดก็อาจจะเสียหายอย่าง “ถาวร” ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตต่อไปยากลำบากขึ้นมาก ดังนั้น คนสูงอายุก็จะต้องระวังและป้องกันตัวเองมากเป็นพิเศษ

2) โรคประจำตัว ต่อเนื่องจากข้อแรกก็คือคนที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะเรื่องของเบาหวาน ความดันเลือดสูง และน้ำหนักตัวเกินมาก ๆ โอกาสที่เมื่อติดโรคแล้วจะมีอาการหนักก็สูงและยิ่งถ้าเป็นคนสูงอายุด้วย ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ดังนั้น จะต้องระมัดระวังและป้องกันตัวอย่างสุดยอด พลาดทีเดียวอาจจะเป็น “หายนะ” ได้

3) อาชีพ คนแต่ละอาชีพมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน อาชีพที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมากและอยู่ในห้องปิดก็มักจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ลองจัดกลุ่มดูผมคิดว่า 1. คนทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้คนมากโดยเฉพาะที่อยู่ในห้องแอร์ น่าจะมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะโอกาสที่จะมีคนเป็นโควิดและแพร่เชื้อต่อให้ทุกคนจะมีสูงมาก 2. แคมป์ก่อสร้างหรือสถานที่คล้าย ๆ กันที่คนจะอยู่กันอย่างแออัดและมีการพูดคุยและกินอาหารร่วมกันจะมีโอกาสติดเชื้อสูง 3. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานพยาบาลที่ต้องพบเจอกับคนที่เป็นโรคหรือคนที่อาจจะติดเชื้อเป็นประจำหรือที่เรียกว่าเป็น “แนวหน้า” ในการต่อสู้กับโควิด 4. ดารานักแสดง พิธีกร และนักจัดรายการที่ต้องพบปะและร่วมแสดงกับคนอื่นมากหน้าหลายตาและโดยเฉพาะที่ไม่สามารถปิดหน้าป้องกันตัวได้ และสุดท้าย 5. ก็คือคนที่ทำงานอยู่ในสำนักงานที่มีคนมาก ทั้งหมดนั้น มีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงลงได้โดยการ “ทำงานที่บ้าน” ถ้าทำได้

4) การอยู่ร่วมกับคนอื่นในบ้านเดียวกัน นี่เป็นความเสี่ยงที่สูงมากที่คนอาจจะไม่ตระหนัก เหตุผลเพราะว่าคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันมักจะเป็นคนในครอบครัวเช่น เป็นปู่ ย่า ตา ยาย เป็นพ่อแม่ เป็นลูก เป็นหลาน เป็นพี่น้องหรือเป็นลูกจ้างที่เป็นคนขับรถหรือแม่บ้าน ดังนั้น การที่จะต้อง “ใส่หน้ากากเข้าหากัน” จึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีคนหนึ่งคนใดติดโควิดจากภายนอกบ้านโดยไม่รู้ตัว ก็มีโอกาสสูงที่คนอื่นทั้งหมดอาจจะติดโรคไปด้วย ผลก็คือ ความเสี่ยงของการติดโรคก็จะสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวตามจำนวนคนที่อยู่ด้วยกัน และนี่ก็กำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากจนน่าตกใจโดยเฉพาะในคนสูงอายุที่มักจะอยู่แต่ในบ้านแต่ติดโรคจากคนอื่นที่อยู่ร่วมกัน

5) ตำแหน่งที่อยู่อาศัย นี่ก็มีผลที่จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือลดลง การอยู่และทำงานในจังหวัดหรือย่านที่มีคนติดเชื้อกันมาก โอกาสที่เราจะติดเชื้อก็สูงขึ้นตาม แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขยากโดยเฉพาะถ้าไม่ได้มีเงินมากพอที่จะย้ายไปอยู่ในที่หรือจังหวัดที่ปลอดภัยกว่าและสามารถที่จะใช้ชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติผ่านระบบสื่อสารสมัยใหม่
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและความรุนแรงของอาการที่ต้องประเมินตัวเองว่าเราอยู่ในระดับไหนและจะสามารลดความเสี่ยงนั้นได้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ลดไม่ค่อยได้ หรือถ้าทำก็มี “ต้นทุน” ที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตาม เรามีวิธีป้องกันตัวซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะติดเชื้อน้อยลง หรือถ้าติดก็น่าจะมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงลดน้อยลง และนั่นก็คือการป้องกันตัวจากโควิด

การป้องกันตัวที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือ

1) การฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และเนื่องจากการระบาดในระลอกนี้มีการแพร่กระจายไปเร็วมากเพราะเป็นสายพันธุ์เดลต้าซึ่งสามารถกระจายไปในอากาศได้นาน ประกอบกับมีคนที่ติดและไม่ได้แสดงอาการจำนวนมาก ดังนั้น ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก เราจำเป็นที่จะต้องหาทางฉีดอย่างเร่งด่วน และแม้ว่าจะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่สูงแต่ก็น่าจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงได้ ส่วนคนที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว การฉีดเข็มสองหรือเข็มสามอย่างเร็วที่สุดก็เป็นเรื่องที่ดีและผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นวัคซีนตัวเดิม การฉีดวัคซีนที่มี “ประสิทธิภาพสูงกว่า” จากการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

2) การทำ Social Distancing หรืออยู่ห่างจากคนอื่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ว่าที่จริงในช่วงเวลาแบบนี้ ถ้าเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ก็ยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ ผมเองในฐานะของคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ในช่วงนี้ก็แทบจะไม่ออกนอกบ้านเลยถ้าไม่จำเป็น และถ้าจะจับอะไรที่ผ่านมือคนอื่นนอกบ้านมาก็จะต้องฉีดแอลกอฮอล์ทุกครั้ง การล้างมือก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ โชคยังดีที่ปัจจุบันนั้น ระบบสั่งซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมาก ทำให้เราสามารถซื้อของได้เกือบทุกอย่างหรือทำกิจกรรมสารพัดได้โดยไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน ผมเองนึกภาพไม่ออกว่าถ้าโรคโควิดเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ระบบการซื้อของ บริการออนไลน์และระบบ “การทำงานที่บ้าน” ผ่านระบบการสื่อสาร ยังไม่พัฒนา โลกจะปั่นป่วนมากกว่านี้แค่ไหน

3) การออกกำลังกาย นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดและเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในการ “ต่อสู้กับโควิด” เพราะในยามนี้ นอกจากการพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ติดโควิด หรือถ้าติดก็ไม่รุนแรง ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญมากที่สุดแล้ว เรายังต้องพยายามหลีกเลี่ยง “ความโศกเศร้าและความหดหู่” ที่โควิดก่อให้เกิดขึ้นกับตัวเราและสังคมซึ่งก็กระทบกลับมาที่ตัวเราด้วย การที่คนมีรายได้น้อยลงและไม่สามารถที่จะใช้ชีวิต “ปกติ” ตามสัญชาติญาณของมนุษย์ที่เป็น “สัตว์สังคม” ย่อมก่อให้เกิดความเครียดและความหดหู่ซึ่งจะทำให้ร่างกายเราอ่อนแอลงและมีโอกาสที่จะเป็นโรคทั้งจากภายนอกเช่น จากเชื้อโรครวมถึงโควิด และจาก “ภายใน” เช่นเบาหวานและโรคหัวใจหรือแม้แต่ “โรคอ้วน” ซึ่งวิธีที่เราจะป้องกันได้ดีที่สุดก็คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และ “เครื่องมือ” ที่สำคัญที่สุดในยุคโควิดรุนแรงขนาดที่ต้องปิดสวนสาธารณะก็คือ “ลู่วิ่งไฟฟ้า” ซึ่งผมต้องใช้ทุกวัน และมัน “ช่วยชีวิตผม” ได้มาก

แม้ว่าเราจะประเมินความเสี่ยงของตนเองทั้งหมดแล้วและพยายามลดความเสี่ยงเท่าที่ทำได้ และพยายามป้องกันตัวเองทุกทางตามที่กล่าวมาทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอดจากโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายังมีความเสี่ยงอยู่และน่าจะเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญและไม่สามารถที่จะพลาดได้ นอกจากนั้น ถ้าเกิดขึ้นก็จะต้องไม่กลายเป็นหายนะ ถ้าจะให้พูดชัดเจนก็คือ ต้องป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดไม่ให้ติดโควิด และถ้าเป็นก็ไม่ได้รุนแรงมากจนสาหัสหรือตาย นี่ก็คงคล้าย ๆ กับการลงทุนที่ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ โอกาสขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องไม่ถึงขั้นหมดตัวเป็น “หายนะ” และเมื่อเราทำเต็มที่แล้ว ก็อย่าไปคิดกังวล อย่างมากก็แค่ “สวดมนต์” เป็นระยะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Peter1011
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 320
ผู้ติดตาม: 105

Re: เอาตัวรอดจากโควิด/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

“เครื่องมือ” ที่สำคัญที่สุดในยุคโควิดรุนแรงขนาดที่ต้องปิดสวนสาธารณะก็คือ “ลู่วิ่งไฟฟ้า” ซึ่งผมต้องใช้ทุกวัน
สำหรับใครที่ไม่มีลู่วิ่งไฟฟ้า ลองเล่นโยคะสิครับ เล่นอยู่กับที่ก็จริง แต่มันช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี
To try not to lose money in stocks is when you know what you own and why you own it so that you can buying things well and own a great company at a fair price, therefore the time to sell it is - almost never!
ภาพประจำตัวสมาชิก
ส.สลึง
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3778
ผู้ติดตาม: 74

Re: เอาตัวรอดจากโควิด/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เสื่อโยคะอีกเสียง
ราคาหลักร้อย แต่ Return หลักล้าน
เพราะเอามาตากผ้าไม่ได้ :mrgreen:

ตั้งแต่โควิดปีที่แล้ว
ผมเล่นจนสึก
แล้วเปลี่ยนเสื่อใหม่ไปผืนนึงละครับ

แต่ก็ไม่ได้เล่นโยคะนะครับ

โหลด App พวก Workout มาเล่น
ก็ Challenge ตัวเองดี

สนุกไปอีกแบบ มีตั้งแต่ง่ายไปยาก
ค่อยๆ ไต่ระดับไปครับ :wink:
"วิถีรักษ์โลก บ้าน 1 หลัง รถ 1 คัน สาว 1 คน กางเกงใน 1 ตัว" <⁠(⁠ ̄⁠︶⁠ ̄⁠)⁠> ...
โพสต์โพสต์