อวสานของเหรียญคริปโต?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

อวสานของเหรียญคริปโต?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สัปดาห์ที่แล้วตั้งแต่วันที่ 17-21 พฤษภาคม 2564 นั้น ดูเหมือนจะเป็น “คิว” ของบิทคอยน์และเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ต่าง ๆ ที่ตกลงมาอย่างแรงประมาณไม่น้อยกว่า 15% โดยเฉลี่ย ตามหลังดัชนีหุ้นโลกที่ตกกันกระหน่ำในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เหตุผลที่หุ้นตกหนักนั้นมาจากการประกาศว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังพุ่งพรวดซึ่งจะมีผลกระทบกับอัตราดอกเบี้ยและเม็ดเงินที่อาจจะถูกถอนออกไปจากตลาดหุ้นซึ่งจะทำให้หุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

แต่กรณีของเหรียญคริปโตเฉพาะอย่างยิ่งบิตคอยน์นั้น สิ่งที่ทำให้มันตกลงมาแรงยิ่งกว่าตลาดหุ้นมากนั้นเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกิดพร้อมกันเริ่มตั้งแต่การแถลงของอีลอนมัสก์ว่าจะไม่สนับสนุนบิตคอยน์เพราะมันทำลายสิ่งแวดล้อมของโลกมากเนื่องจากการขุดหรือทำเหมืองบิตคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล เขาแถลงพร้อมกับการเลิกรับบิตคอยน์ในการซื้อขายรถเทสลา นี่ทำให้คนตกใจเนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเป็นคนที่เชียร์บิตคอยน์จนออกนอกหน้าและเข้าไปซื้อลงทุนด้วยเงินก้อนโต คนคิดว่าเขาอาจจะขายบิตคอยน์ไปหมดแล้วจึงออกมาพูด แต่นี่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่มาก และหลังจากนั้นก็มีการพูดว่าเทสลาก็ยังถือบิตคอยน์อยู่มาก

ปัจจัยที่สองก็คือการที่รัฐบาลสหรัฐเริ่มคิดที่จะเข้มงวดกับการเก็บภาษีกำไรจากการขายคริปโตเคอเรนซี่ โดยเฉพาะที่มีมูลค่ารายการเกิน 10,000 เหรียญหรือประมาณ 300,000 บาท โดยการบังคับให้คนเล่นต้องรายงานต่อสรรพากร นี่ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ต้องคิดหนักถ้าจะลงทุนในเหรียญเหล่านี้ในระยะสั้นต่อไป เพราะถ้ากำไรต้องจ่ายภาษีแต่เวลาขาดทุนไม่ได้รับคืนใครจะอยากเทรด?

แต่ปัจจัยที่น่าจะกระทบรุนแรงที่สุดก็คือปัจจัยที่สามนั่นก็คือการที่รัฐบาลจีนประกาศ “แบน” บิตคอยน์และเหรียญคริปโตทั้งหลาย ไม่ให้สถาบันการเงินและธุรกิจเกี่ยวข้องกับเงินดิจิตอลเหล่านี้ พูดง่าย ๆ ห้ามรับเงินเหล่านั้นในการซื้อขายหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ เพราะเกรงว่ามันจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนกับระบบการเงินของประเทศ ซึ่งนั่นหมายความว่า ตลาดที่ใหญ่มากน่าจะเป็นอันดับสองของโลกในเรื่องของการลงทุนและอันดับหนึ่งในแง่ของการ “ขุด” บิตคอยน์ จะ “หายไป” ดังนั้น บิตคอยน์และเหรียญต่าง ๆ จึงถูกเทขายจนราคาของบิตคอยน์ตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อหนึ่งบิตคอยน์จากที่เคยสูงถึง 1.8 ล้านบาทเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2564 หรือลดลงประมาณ 36% ภายในเวลา 2 สัปดาห์ กลายเป็น “วิกฤติเหรียญคริปโต” ที่บูมเป็น “ฟองสบู่” จากราคาเหรียญละประมาณ 300,000 บาท เมื่อ 1 ปีที่แล้วกลายเป็น 2 ล้านบาทในเดือนเมษายนปีนี้ และตกลงมาเหลือ 1.2 ล้านบาท ในวันนี้ หรือเป็นการตกลงมาถึง 40% ในเวลาเพียงเดือนเดียว

คงไม่ต้องพูดว่าคนหนุ่มสาวไทยจำนวนมาก อาจจะเป็น “ล้านคน” ที่เข้ามาเล่นบิตคอยน์และคริปโตเคอเรนซี่อื่น ๆ ในช่วงที่เหรียญเหล่านี้กำลังบูมสุดขีดในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมาน่าจะต้องขาดทุนอย่างหนัก เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวทั้งโลกโดยเฉพาะคนอเมริกันที่ “แห่” กันเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดเหรียญคริปโตต่าง ๆ ที่ “เจ็บตัว” ยิ่งกว่านักเล่นชาวไทย อานิสงค์จากการที่มีเครื่องมือขยายอำนาจซื้อเช่นพวกอ็อปชั่นต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถซื้อแบบ “ยกกำลัง” หลาย ๆ เท่าจากเม็ดเงินที่มี และนี่ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคนที่เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดว่า การ “ทำเงินแบบง่าย ๆ” โดยการเข้าไปเล่นอะไรที่ดูเหมือนว่าจะง่ายมากในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องที่ “ยากมาก” จริงอยู่ที่ว่าราคาบิตคอยน์ในวันนี้ก็ยังสูงเป็น 4 เท่าของราคาเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา และเป็น 10 เท่าของ 1.5 ปีที่ผ่านมาเมื่อบิตคอยน์อยู่ที่แสนสองหมื่นบาท คนเล่นที่ถือบิตคอยน์มาตั้งแต่ตอนนั้นก็ยังกำไรมหาศาลและอาจจะกลายเป็นเศรษฐีอยู่ดี ดังนั้น การปรับตัวลงมาของบิตคอยน์ในช่วงนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้อง “เลิกเล่น” หรือเลิกสนใจการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ที่ยังไงก็เป็น “อนาคต” ของโลกที่ “หนีไม่พ้น” และดังนั้น คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยก็น่าจะยัง “สู้” ต่อไป หลายคนอาจจะบอกว่า “วิกฤติคือโอกาส”

สำหรับผมเองนั้น ผมไม่รู้ว่าอนาคตของบิตคอยน์และคริปโตทั้งหลายจะไปอย่างไรต่อ ผมรู้แต่ว่าการลงทุนในเหรียญเหล่านี้มีความเสี่ยงที่สูงมาก ดังนั้น มันจึงเหมาะกับสภาวะการเงินการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนที่เป็นการ “เก็งกำไร” ซึ่งก็คือสภาวะที่เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ เงินล้นระบบและคนไม่รู้ว่าจะเอาเงินเก็บไปอยู่ที่ไหนซึ่งก็คือภาวะปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สภาวะนี้ก็อาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงไป แค่ไหนผมก็ไม่รู้ ถ้าไม่มาก คนก็อาจจะเล่นกันต่อไป สภาวะการเก็งกำไรก็จะยังสูงไปอีกนาน ถ้าเป็นแบบนั้น ราคาเหรียญทั้งหลายก็อาจจะกลับมาได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ราคาก็อาจจะยังตกต่อไปได้อีกมาก อย่าลืมว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติหุ้นไฮเท็คในปี 2000 นั้น สุดท้ายดัชนีแนสดาคตกลงไปกว่า 75%

ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของ “เงินดิจิตอล” ที่สูงมากและเราก็เริ่มได้เห็นแล้วก็คือ การที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ อาจจะเริ่มเข้ามาควบคุม และการควบคุมนั้นมักจะทำให้ “คุณค่า” หรือประโยชน์ใช้สอยของมันลดลง เหนือสิ่งอื่นใด เงินดิจิตอลเองนั้น ที่มันมีคุณค่าก็เพราะว่ามันถูกออกแบบไม่ให้มีใครมาควบคุมได้ เมื่อเป็นแบบนี้ “สงคราม” ก็เกิดขึ้น “When the old power refuse to die and the new power struggle to be born, evil appear.” แปลว่า “เมื่ออำนาจเก่าไม่ยอมตายและอำนาจใหม่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะเกิด ความชั่วร้ายก็ปรากฏขึ้น” และสงครามครั้งนี้อาจจะดำเนินต่อไปอีกยาวไกลมากและก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายใครจะชนะ แต่แค่ “ยกแรก” เราก็ได้เห็นแล้วว่าความเสียหายนั้นรุนแรงแค่ไหน

ในความเห็นของผม การลงทุนที่มีความไม่แน่นอนสูงมากที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และถ้าปัจจัยเหล่านั้นมีโอกาสที่จะกระทบกิจการที่เราลงทุนแรงมาก ผมก็ไม่อยากจะลงทุน ปรัชญาการลงทุนหลักของผมข้อหนึ่งก็คือ ลงทุนแล้วในระยะยาวจะต้องไม่ขาดทุน หรือถ้าขาดทุนก็ต้องไม่เป็นหายนะ ดังนั้น การลงทุนในเหรียญคริปโตจึงไม่อยู่ในจอเรดาร์การลงทุนของผมเลยทั้ง ๆ ที่บางครั้งผมก็เคยรู้สึกเหมือนกันว่า หลักทรัพย์นั้นไม่แน่นอนสูงก็จริง แต่หลังจากที่ราคามันลดลงมากสุด ๆ แล้ว โอกาสที่มันจะกลับไปสูงก็ย่อมจะเป็นไปได้ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ผมคิดแต่ผมไม่ทำโดยเฉพาะถ้าผมไม่สามารถจะประเมินได้ชัดเจนว่ามูลค่าที่เหมาะสมของกิจการนั้นควรเป็นเท่าไร อะไรคือ Fundamental หรือพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการ และนั่นก็นำไปสู่ปรัชญาการลงทุนหลักข้อสองของผมนั่นคือ

ผมจะต้องสามารถกำหนดหรือคาดการณ์ “มูลค่าพื้นฐาน” ที่แท้จริงของกิจการหรือทรัพย์สินนั้นได้ ซึ่งหลักใหญ่ ๆ ก็คือ ในกรณีที่เป็นทรัพย์สิน ก็ดูว่ามันมีราคาตลาดที่มั่นคงต่อเนื่องมาช้านาน และกรณีแบบนี้ผมก็จะดูว่าช่วงเวลาที่มันตกต่ำมากใน “ประวัติศาสตร์” ย้อนหลังไปอาจจะ 10-20 ปี มันอยู่ที่เท่าไร และนั่นก็คือ “มูลค่าพื้นฐาน” ที่ผมอยากจะใช้ แต่ในกรณีที่หลักทรัพย์นั้นเป็นหุ้นหรือเป็นกิจการ มูลค่าพื้นฐานก็คือ “ความสามารถในการผลิตกระแสเงินสด” ต่อเนื่องยาวนานไปในอนาคต และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “ความได้เปรียบที่ยั่งยืน” หรือความสามารถของกิจการที่จะต่อสู้กับคู่แข่งในระยะยาวของบริษัท

สำหรับผมแล้ว ทองคำ บ้านและที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่ผมอาจจะลงทุนได้ถ้าพบว่าราคาขณะนั้นต่ำกว่า “พื้นฐาน” อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เคยลงทุนในทองคำเลย ในขณะที่บ้านและที่ดินนั้น ในอดีตก่อนที่ผมจะรู้จักกับหุ้น ผมเคยลงทุนอยู่บ้าง แต่ผลลัพธ์ก็ไม่น่าประทับใจเท่าไรนัก โดยรวมก็พอไปได้ บางแปลงก็เป็น “หายนะ” บางแปลงก็พอมีกำไรบ้าง เหตุผลก็ชัดเจนว่า เรามีความรู้ไม่พอ และเมื่อรู้แล้วว่าความรู้ไม่พอก็เลิกลงทุนโดยเด็ดขาด และหลังจากกลายเป็น “VI” ที่มุ่งมั่น หุ้นก็กลายเป็นแทบจะสิ่งเดียวที่ผมลงทุน และก็เป็นการลงทุนที่ “เน้นแต่พื้นฐาน” เป็นหลัก แทบไม่สนใจการ “เก็งกำไร” แม้ว่าจะมีสิ่งยั่วเย้าเข้ามาตลอดเวลา ซึ่งก็รวมไปถึงการลงทุนแบบ Venture Capital หรือ Start Up ที่มักจะ “สร้างความฝัน” และความตื่นเต้นให้กับคนที่เป็น “นักลงทุน” ที่อยากได้กำไรแบบ “สุดยอด” ทุกคน

ไม่ต้องพูดถึงการลงทุนในเหรียญคริปโตที่เป็น “ที่สุดจริง ๆ” เพราะผลตอบแทนที่เคยให้ถึง 5 เท่า 10 เท่าในเวลาอันรวดเร็วเป็นที่เย้ายวนมากจนนักลงทุนรุ่นใหม่มักจะ “ต้านไม่ไหว” แต่สำหรับผมซึ่งอยู่มานานและเคยประสบกับสถานการณ์แทบทุกอย่างรวมถึงมีประสบการณ์ที่ “เจ็บปวด” ผมจึงมักจะ “ทนได้” ผมเฉยกับสิ่งที่ผม “ไม่รู้จริง” ผมยอม “พลาดโอกาสทอง” ได้ทุกอย่าง แต่จะพยายามไม่พลาด “ความอยู่รอด” จากหายนะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
IndyVI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 17922
ผู้ติดตาม: 921

Re: อวสานของเหรียญคริปโต?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

FM 96.5 | รู้ใช้เข้าใจเงิน | (24-05-64)

คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

https://youtu.be/-f6qsmm6dAY?t=1324

phpBB [video]
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
โพสต์โพสต์