การระบาดของ COVID-19 รอบสอง ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับวัคซีน (1)/ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 312

การระบาดของ COVID-19 รอบสอง ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับวัคซีน (1)/ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การระบาดของ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงอย่างมากและในบางพื้นที่ เช่น ญี่ปุ่นกำลังจะประกาศมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น

ในประเทศไทยเองนั้นปัจจุบันก็ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 200-400 คน (โดยบางครั้งไม่ได้เปิดเผยและรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการระบาดของ COVID-19 ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักจนรัฐบาลประกาศ lockdown ทั่วประเทศรวมทั้งประกาศเคอร์ฟิวเมื่อเดือนเมษายนนั้นก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงวันละ 125 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่กำลังเจออยู่ในขณะนี้

ในภาพรวมทั่วโลกเมื่อเผชิญกับ COVID-19 ในรอบแรกในเดือนมีนาคม-เมษายน 2020 นั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยถึง 84,900 คนต่อวันช่วงกลางเดือนเมษายน 2020 และในช่วงเดียวกันมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 7,050 คนต่อวันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.3% แต่หากดูตัวเลขล่าสุดก็จะพบว่าในต้นเดือนมกราคม 2021 นั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 735,500 คนต่อวัน (มากกว่าเมื่อเดือนเมษายน 2020 ถึง 8.6 เท่าตัว) และจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่ต่อวันก็เพิ่มขึ้นเป็น 12,850 คน แต่ก็จะสังเกตได้ว่าสัดส่วนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 1.7% แปลว่ามนุษย์เริ่มรู้วิธีรักษาโรค COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิผลขึ้น จึงมีจำนวนผู้ที่รอดชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ตัวแปรนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นทั่วโลก “ไม่ได้” ปรับตัวลดลงแต่อย่างใดในช่วงที่เกิดการระบาดรอบที่ 2 (หรือในบางประเทศถือได้ว่าเป็นการระบาดรอบที่ 3) กล่าวคือหากนำเอาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P500 เป็นบรรทัดฐานก็จะพบว่าราคาหุ้นอ่อนตัวลงอย่างมากจากประมาณ 3,380 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ลงมาถึงจุดต่ำสุดในวันที่ 23 มีนาคม 2020 ที่ 2,447 จุดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 38% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ แต่มาวันนี้ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 8.6 เท่า (คือ 735,500 คนต่อวัน) จากวันนั้นและมีผู้เสียชีวิตเพราะ COVID-19 วันละเกือบ 13,000 คน แต่ปรากฏว่าราคาหุ้นกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในต้นเดือนมกราคม 2021 ดัชนี S&P500 อยู่ที่ระดับ3,799 จุด เพิ่มขึ้น 45.4% จึงทำให้เกิดวลีว่า “empty Main Street but crowded Wall Street” หรือแปลได้ว่าภาคเศรษฐกิจจริงเงียบเหงาแต่นักลงทุนแย่งกันซื้อหุ้น

จึงน่าคิดว่านอกจากการที่มนุษย์เราคงจะสามารถ “อยู่” กับ COVID-19 ได้ (เพราะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ “เพียง” 1.7%) แล้วจะยังมีปัจจัยอื่นใดอีกบ้างที่ทำให้ตลาดหุ้นไม่สนใจการระบาดรอบ 2 ของ COVID-19 เลย คำตอบหนึ่งคือการคาดการณ์ว่ารัฐบาลทั่วโลกมีความพร้อมที่จะใช้จ่ายงบประมาณโดยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางและทันท่วงที นอกจากนั้นธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางหลักของโลกเช่น Federal Reserve ของสหรัฐ ECB ของยุโรป ธนาคารกลางของอังกฤษและธนาคารกลางของญี่ปุ่นต่างก็มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มปริมาณเงินและเสริมสภาพคล่องในระบบโดยการพิมพ์เงินใหม่มาซื้อสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (มาตรการคิวอี)

แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจและการเยียวยาผู้เสียหายโดยนโยบายการคลังคือการกู้ยืมเงินโดยรัฐบาลคิดเป็นสัดส่วนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีนั้นคือการสร้างหนี้สาธารณะซึ่งเป็นการสร้างภาระในการต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาใช้หนี้ดังกล่าวในอนาคต ซึ่งดูเสมือนว่าตลาดทุนก็เริ่มส่งสัญญาณเพื่อสะท้อนความเสี่ยงดังกล่าวเห็นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาว เช่น พันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐนั้น ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดของครึ่งหลังของปี 2020 (หลังจากการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรอบแรก) ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2020 ที่ดอกเบี้ย 10 ปีของพันธบัตรสหรัฐอยู่ที่ 0.515% และขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ถึง 0.916% ในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 และปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนถึง 1.138% ในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นและเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ

แต่อาจมีการมองในแง่มุมที่บอกว่าธนาคารกลางก็จะสามารถควบคุมไม่ให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นมากโดยการพิมพ์เงินใหม่มาซื้อพันธบัตรที่รัฐบาลจะออกเพิ่มขึ้น แต่การจะพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากนั้นย่อมจะทำได้เฉพาะในสภาวะที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมาก (เช่นกรณีของประเทศไทย) แต่ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เงินเฟ้อไม่ได้ต่ำมากนักและกำลังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็จะต้องคำนวณอีกด้วยว่าปัจจุบันเศรษฐกิจนั้นขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมากน้อยเพียงใด (output gap) เช่น หากประเมินว่าเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าเกณฑ์ (potential output) ประมาณ 2-3% (ซึ่งน่าจะประมาณนั้นสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้) แต่รัฐบาลมีดำริจะขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 5% ของจีดีพีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก็จะมีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในปี 2021 ทำให้ธนาคารกลางมีข้อจำกัดในการพิมพ์เงินใหม่ออกมาควบคุมให้ดอกเบี้ยระยะยาวไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนักจากระดับปัจจุบัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไม่หวั่นไหวกับการระบาดรอบ 2 ที่มีความรุนแรงอย่างมากคือความเชื่อมั่นในวัคซีนที่กำลังผลิตออกมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจะขอเขียนถึงในครั้งต่อไปครับ
โพสต์โพสต์