เศรษฐกิจไทยหลังการเริ่มคลายล็อค (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

เศรษฐกิจไทยหลังการเริ่มคลายล็อค (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมเปรียบเทียบการแพร่ระบาดและการเสียชีวิตจาก COVID-19 ของไทยกับของสหรัฐโดยมีข้อสรุปชัดเจนว่า การระบาดและจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ของสหรัฐยังสูงมากคือหากเปรียบเทียบกับในไทย โดยปรับประชากร (เพราะประชากรสหรัฐมีมากกว่าไทยประมาณ 5 เท่าตัว) แล้วก็จะเสมือนกับไทยคลายล็อคทั้งๆ ที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสม 250,000 ราย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 6,000 รายและมีผู้เสียชีวิตสะสม 14,000 รายและเสียชีวิตวันละ 360 ราย แต่ก็ยังดูเสมือนว่า 40 กว่ามลรัฐของสหรัฐจะยังขับเคลื่อนการคลายล็อคต่อไปอย่างไม่ลดละ

ผมเชื่อว่าเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า คนสหรัฐเป็นห่วงเศรษฐกิจมากกว่ากลัวการติดเชื้อ COVID-19 โดยผมอาศัยการเก็บข้อมูลจากโพลล์หลายๆ โพลล์ที่จัดทำขึ้นในสหรัฐและได้ถูกนำมาสรุปเอาไว้ที่ www.fivethirtyeight.com (เว็บไซต์แนววิเคราะห์เชิงข้อมูลสถิติ) ซึ่งมีข้อมูลและการวิเคราะห์ด้านต่างๆ ของการเมืองและเศรษฐกิจสหรัฐ

เว็บไซต์ 538 ได้นำเอาโพลล์ต่างๆ มาสรุปผลเป็นรายวัน ตั้งแต่วิกฤติ COVID-19 เริ่มก่อตัวขึ้นที่สหรัฐในเดือน ก.พ.ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งในตารางที่ 1 คือการนำเอาข้อมูลจากการประมวลโพลล์ต่างๆ มาสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับความเป็นห่วงของคนสหรัฐเกี่ยวกับ COVID-19

รูปภาพ

คำถามที่สอบถามความเห็นของคนอเมริกันคือคุณกังวล (concern) มากน้อยเพียงใดว่า ตัวเองหรือคนในครอบครัวหรือคนที่คุณรู้จักจะติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ และได้เก็บข้อมูลเป็นรายวันต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางเดือนก.พ. โดยผมได้นำเอาเฉพาะข้อมูล 3 จุดมาเผยแพร่คือ ณ วันที่ 29 ก.พ. ที่พบผู้เสียชีวิตรายแรกในสหรัฐจาก COVID-19 วันที่ความเป็นห่วงเกี่ยวกับ COVID-19 อยู่ที่จุดสูงสุด (คือวันที่ 13 เม.ย.) และข้อมูลล่าสุดคือวันที่ 4 พ.ค.

จะเห็นได้ว่าความกังวลเกี่ยวกับ COVID-19 นั้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวันที่ 29 ก.พ. ที่เสียงส่วนใหญ่ (55.9%) มีความกังวลน้อย (not very worried) หรือไม่กังวลเลย (not at all worried) มาสู่วันที่ 13 เม.ย. ที่คนส่วนใหญ่กว่า 75% มีความกังวลมาก (very worried) หรือมีความกังวล (somewhat worried) เกี่ยวกับการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่และความกังวลดังกล่าวก็ลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 75.2% ในวันที่ 13 เม.ย. มาเป็น 69.8% ณ วันที่ 4 พ.ค. ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้นเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของสหรัฐยังอยู่ที่ระดับสูงถึง 30,000 คนต่อวันและยังมีผู้เสียชีวิตเพราะ COVID-19 มากถึง 1,800 คนต่อวัน

แต่ที่น่าจะเป็นแรงผลักดันให้มีการคลายล็อคเศรษฐกิจก็คือการที่คนสหรัฐเป็นห่วงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก COVID-19 มากกว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ ดังเห็นได้จากตารางข้างล่าง

รูปภาพ

กรณีนี้คำถามคือ “คุณมีความกังวล (concern) มากน้อยเพียงใดกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ?” ซึ่งคำตอบที่เห็นจากตารางข้างต้นนั้นจะสามารถสรุปได้ว่ามีความเป็นห่วงผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าความเป็นห่วงการติดเชื้อ COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญ เช่นในข้อมูลล่าสุด (4 พ.ค.) นั้น สัดส่วนผู้ที่

กังวลอย่างมาก (very worried) กับผลกระทบทางเศรษฐกิจคือ 57% แต่กังวลอย่างมากกับการติด COVID-19 เท่ากับ 31.4%
กังวลในระดับหนึ่ง (somewhat worried) กับผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่ากับ 38.4% แต่สำหรับ COVID-19 นั้นเท่ากับ 29.7%
รวมกันแล้วผู้ที่กังวลมากและกังวลระดับหนึ่งเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจเท่ากับ 86.7% มากกว่าความกังวลเกี่ยวกับ COVID-19 ที่ 69.8% อย่างชัดเจน
การคลายล็อคทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นจึงน่าจะมีความเสี่ยงอย่างมากจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้องกลับมาล็อคเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ดูเสมือนว่าจะมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจให้ต้องคลายล็อคต่อไปแม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว นอกจากนั้นก็มีความชัดเจนว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีความต้องการอย่างมากให้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถฟื้นตัวได้มากที่สุดภายในปลายปีนี้ โดยหวังว่าจะช่วยให้เขามีโอกาสชนะการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีต่อไปอีกสมัยหนึ่ง

แต่ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจน่าจะทรุดตัวลงแบบฟื้นตัวได้ยากและความเสี่ยงที่อาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำให้การคลายล็อคต้องยืดเยื้อ ย่อมจะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่สามารถอ้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาเป็นผลงานในการหาเสียงได้ ดังนั้นจึงคงจะต้องหาแพะรับบาป ซึ่งเรากำลังเห็นการหันมาชี้ไปที่ประเทศจีนให้เป็นแพะรับบาป และผมเชื่อว่ากระแสดังกล่าวจะถูกกระพือต่อไปอีกหลายเดือนจนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในเดือน พ.ย.

การที่ประเทศสหรัฐและประเทศจีนจะทำสงครามทางการค้ากันอีกรอบหนึ่งย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความพยายามของไทยในการฟื้นเศรษฐกิจและทำให้ไทยต้องหันมาคลายล็อคและเปิดโอกาสให้อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวให้มากที่สุดเพราะการพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศน่าจะมีความเสี่ยงอย่างมาก

ในตอนต่อไป ผมจะเขียนถึงทัศนะของคนสหรัฐต่อประเทศจีนที่ทำให้จีนหลีกเลี่ยงการเป็นแพะรับบาปได้ยากครับ
โพสต์โพสต์