อยู่กับหรือเอาชนะCOVID-19?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

อยู่กับหรือเอาชนะCOVID-19?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมเชื่อว่าความเข้าใจของคนส่วนใหญ่คือเราต้องเอาชนะ COVID-19 และผมก็ต้องการเช่นนั้น แต่ปัจจุบันยังต้องยอมรับว่า

1.ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน COVID-19 ยาที่กำลังทำการทดลองอยู่ในขณะนี้ ทุกตำรับเข้าใจว่ามีผลในการชะลอการแพร่ขยายและแบ่งตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรามีเวลาจัดการกับไวรัสให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จในภายหลัง ส่วนการพัฒนาวัคซีนนั้นแม้ว่าบริษัท Johnson and Johnson จะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสหรัฐให้เร่งรัดการทดลองกับมนุษย์ในขั้นที่ 1 ที่เริ่มไปแล้ว แต่กว่าจะพัฒนาออกมาเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ก็จะต้องรอถึงเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.2564 เป็นอย่างเร็ว

2.ปัจจุบันอาศัยมาตรการ “ปิดเศรษฐกิจ” เพื่อชะลอการระบาดของ COVID-19 กล่าวคือการปิดโรงเรียน ปิดร้านอาหาร/โรงแรม ห้ามการจัดกีฬา ห้ามการจำหน่ายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าและจำกัดการเดินทาง/curfew มาตรการดังกล่าวนี้ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เป็นมาตรการที่มีราคาแพงมากเพื่อซื้อเวลาให้การระบาดชะลอตัวลง เพื่อให้สามารถใช้เวลาที่มีค่าดังกล่าวจัดทำระบบทดสอบผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ (Test) ติดตามคัดกรองผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ (Trace) แบ่งแยกผู้ที่อยู่ในข่ายดังกล่าวออกมา (Isolate) และเร่งขยายศักยภาพในการดูแลบำบัดผู้ที่ป่วยและมีอาการหนัก (Treat) อย่าลืมว่าจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มียาขนานใดเลยที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของประเทศใดเพื่อมาใช้ในการ “รักษา” COVID-19

3.ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังคือเมื่อลดทอนมาตรการปิดเศรษฐกิจแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นไม่มาก หมายความว่ายิ่งปิดเศรษฐกิจนานเท่าใด ความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เช่น ปัจจุบันมีการพูดกันที่สหรัฐว่าจะมีผู้ตกงานมากถึง 15-25 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) แต่เป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง (depression) ดังที่สหรัฐและทั่วโลกประสบมาแล้วเมื่อ 90 ปีก่อน กล่าวคือผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งหลายประเทศก็จะต้องพยายาม “เปิด” เศรษฐกิจไม่มากก็น้อย และคาดหวังว่าเมื่อผ่อนปรนมาตรการ lockdown ต่างๆ แล้วจำนวนผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 จะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบสาธารณสุขยังมีความแข็งแรงไม่มากนัก

ดังนั้นประเด็นสำคัญนอกเหนือไปจากการมีมาตรการฉุกเฉินทางการคลังและการเงินเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ “ปิด” เศรษฐกิจให้เพียงพอ ก็คือการมีระบบ Test, Trace, Isolate และ Treat ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อ “เปิด” เศรษฐกิจมาได้ระดับหนึ่งแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นไม่มากและจะมีระบบติดตาม คัดกรองและแยกตัวผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อที่รัดกุมและทันท่วงที ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถรับมือกับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาที่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่ไม่มากในหลายเดือนข้างหน้าที่ต้องรอยาและวัคซีน

ทั้งนี้หากติดตามการให้สัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของสหรัฐก็จะได้ใจความว่า ทางสหรัฐคาดว่าจะต้องทำการ “ปิด” เศรษฐกิจไปถึงปลายเดือน เม.ย.หรือปลายเดือน พ.ค.โดยอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับใกล้สูงสุดแล้วจะค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำภายในเดือน มิ.ย.-ส.ค. ซึ่งตรงกับฤดูร้อนและการปิดภาคเรียนพอดี ดังนั้นสหรัฐจึงต้องควบคุมการระบาดของ COVID-19 ให้ได้ภายในปลายไตรมาส 3 จึงจะสามารถรับมือกับการระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อต้องหันมาเปิดเศรษฐกิจและเมื่อฤดูหนาวกลับมาอีกในเดือน พ.ย.

ดังนั้นเรื่องของ COVID-19 นี้อาจเป็น “หนังยาว” ที่ยืดเยื้อและมีหลายภาคเป็น series จนกระทั่งมนุษย์สามารถค้นพบวัคซีนเพื่อจัดการกับ COVID-19 ให้เบ็ดเสร็จ แต่เรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้เพราะโคโรนาไวรัสที่ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 7 ชนิดโดย 4 ชนิดที่ทำให้เป็นไข้หวัด (ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันเพราะไม่ทำให้ป่วยรุนแรง) และอีก 3 ชนิดที่ทำให้ป่วยรุนแรงคือ SARS, MERS และ COVID-19 ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน

หมายความว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวลงถึงกลางปีนี้แล้วจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น อาจเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินจริงก็ได้ และมาตรการ “กระตุ้น” เศรษฐกิจที่กล่าวถึงกันนั้น ผมต้องขอย้ำว่าไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เป็นมาตรการฉุกเฉินที่นำมารองรับการปิดตัวของเศรษฐกิจไม่ให้ได้รับความเสียหายอย่างมากมายและกว้างขวาง

การปิดเศรษฐกิจเพื่อชะลอการระบาดของ COVID-19 และให้จัดระบบสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดของโรคนี้นั้น ผมมีความเห็นว่าควรจะเปรียบเทียบการปิดเศรษฐกิจว่าเหมือนกับการ “กลั้นลมหายใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจจะทำนานมากเกินไปไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง

แต่ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นในการให้ความร่วมมือและสนับสนุนฝ่ายการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องทำงานกันอย่างทุ่มเทเพื่อช่วยปกป้องพวกเราทุกคน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอนาคตประเทศไทยอย่างมากเพราะประเทศไทยนั้นนอกจากจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงในขณะนี้และจะต้องเผชิญมรสุมใน 2-3 เดือนข้างหน้าแล้ว เศรษฐกิจของไทยเริ่มต้นด้วยความอ่อนแอมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกในไตรมาส 1

ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะตกต่ำติดต่อกันมานานกว่า 3 ไตรมาสแล้ว ก่อนที่จะต้องเผชิญกับ COVID-19 และจะยังต้องเผชิญกับสภาวะตกต่ำไปอีกอย่างน้อย 2 ไตรมาสข้างหน้าครับ
โพสต์โพสต์