กลัว Covid -19 (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

กลัว Covid -19 (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ความกลัว Covid-19 ได้แพร่ขยายอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่แล้วเพราะกำลังเป็นโรคที่ระบาดไปทั่วโลก ครอบคลุมกว่า 40 ประเทศแล้ว

ตรงนี้ต้องบอกว่าผิดความคาดหมายของตลาดที่เดิมที่เฝ้าดูการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในประเทศจีนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.เป็นต้นมา จากการเพิ่มขึ้น 4,000 รายต่อวันมาถึงปัจจุบันตอนปลายเดือนก.พ.ที่เพิ่มขึ้นไม่กี่ร้อยคนต่อวัน แต่ปรากฏว่าความกังวลในสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้น เพราะพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยที่ประเทศเกาหลีใต้และอิตาลี ตลอดจนการที่ Covid-19 ไปโผล่ที่อิหร่าน ออสเตรีย เยอรมนี โครเอเชีย และสวิสเซอร์แลนด์ ทำให้สำนักควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐหรือ CDC ออกมายอมรับว่าการติดต่อของโรคนี้ในสหรัฐนั้นไม่ใช่เรื่องว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เป็นเรื่องว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด (“not if but when”) ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐก็รับข่าวโดยราคาหุ้นปรับลงไปประมาณ 7% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยรวมนั้นประเมินคร่าวๆ ได้ว่าราคาหุ้นทั่วโลกน่าจะปรับตัวลดลงไปแล้วประมาณ 10%

ข่าวที่ทำให้ตลาดยิ่งเสียขวัญเพิ่มขึ้นอีก คือการประกาศ CDC ของสหรัฐเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ยืนยันว่าพบผู้ป่วยรายหนึ่ง ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งไม่เคยเดินทางไปประเทศที่มีผู้ติดโรค Covid-19 หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ Covid-19 แต่อย่างใด ทำให้ออกมายอมรับว่า “at this time, the patient’s exposure is unknown…it is possible this could be an instance of community spread of Covid-19 which would be the first time this has happened in the United States” ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ Covid-19 นั้นอาจเริ่มแพร่ขยายได้อย่างกว้างขวางครอบคลุมประเทศที่เป็นหัวจักรสำคัญของโลกทั้งหมดแล้ว กล่าวคือสหรัฐ จีน ญี่ปุ่นและประเทศหลักในสหภาพยุโรป

โรค Covid-19 นั้นทำให้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 8 หมื่นรายและมีผู้เสียชีวิตใกล้ 3,000 คน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์หรือโรคอื่นๆ แล้ว ต้องบอกว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เช่น

- เมื่อเดือนพ.ค.2008 แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 69,000 คน
- มีการวิจัยประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะโรคไข้หวัดใหญ่มากถึง 646,000 คนในแต่ละปี
- ในประเทศไทย องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานโดยตรง 20,570 คนและโดยทางอ้อมอีก 35,640 คน รวมเป็น 56,210 คนต่อปี

แต่จะสังเกตได้ว่าเราคงจะจำเรื่องแผ่นดินไหวที่จีนไม่ได้ และโรคไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้ทำให้เราตกใจกันเท่ากับ Covid-19 สำหรับโรคเบาหวานนั้น ก็ยิ่งไม่ให้ความสำคัญมากนักและวันนี้กับพรุ่งนี้ก็คงจะยังกินของหวาน+น้ำตาลในปริมาณเท่าเดิม (แม้ว่าทางการไทยจะตักเตือนว่าคนไทยกินน้ำตาลเกินกว่ามาตรฐานประมาณ 4.5 เท่าทุกวัน)

ความกังวลและความกลัวโรค Covid-19 นั้นเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ เพราะเป็นโรคติดต่อที่เกิดใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและไม่มียาป้องกัน โดยทางการสหรัฐประกาศว่ากำลังจะรีบเร่งเริ่มการทดลองสูตรยาป้องกัน (วัคซีน) ชนิดใหม่กับมนุษย์ (phase 1 clinical trial) ภายใน 5-6 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะรีบเร่งทำการทดลองให้กว้างขวางขึ้น (phase 2 และ phase 3) อย่างเร่งรีบ ซึ่งก็ยังน่าจะใช้เวลาอีกเป็นปี แต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าหากผลการทดลอง phase 1 เป็นผลสำเร็จ เราก็คงคลายความตื่นตระหนกและความกลัวโรคนี้ลงไปได้มาก นอกจากนั้นก็ยังมีความพยายามค้นคว้าหายามารักษาโรค Covid-19 ดังที่เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ประการสุดท้ายคือความเป็นไปได้ว่า Covid-19 จะหายสาบสูญไปเองเช่นเดียวกับกรณีของ SARS ซึ่งหายไปในไตรมาส 3 ของปี 2003 แล้วยังไม่กลับมาอีกเลย

อย่างไรก็ดี กรณีของ Covid-19 นั้นมีโอกาสน้อยที่จะหายตัวไปเหมือนกับ SARS เพราะ SARS นั้นมีอาการรุนแรงและเฉียบพลันอย่างมาก นอกจากนั้นยังทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในอัตราที่ค่อนข้างสูงคือประมาณ 10% แต่ในกรณีของCovid-19นั้น มีรายงานว่ามีชายขาวจีนอายุ 70 ปี ที่มณฑลหูเป่ย เริ่มมีอาการของโรค 27 วันหลังจากการติดเชื้อ Covid-19 แปลว่าความเสี่ยงที่โรคนี้จะแพร่ขยายนั้นมีสูงมาก นอกจากนั้น อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อที่ต่ำเพียง 2% ก็แปลว่าโรค Covid-19นั้น อาจจะสามารถอยู่รอดร่วมกับมนุษย์ไปได้อย่างต่อเนื่องเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งดังที่กล่าวข้างต้นจะกลับมาทุกปีตอนฤดูหนาวและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ปีละหลายแสนคน

ความกลัวเกี่ยวกับโรค Covid-19 โดยเฉพาะในช่วงที่ยังเป็นโรคแปลกใหม่ ไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกันจะส่งผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเราในการดำเนินชีวิต ซึ่งกำลังส่งผลกระทบที่รุนแรงและกว้างขวางต่อเศรษฐกิจ ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงในสัปดาห์ครับ
โพสต์โพสต์