รับปี 2563 ด้วยความผันผวน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

รับปี 2563 ด้วยความผันผวน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สวัสดีปีใหม่ค่ะ
หลังจากที่ดิฉันกล่าวส่งท้ายปีที่แล้วเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายและพฤติกรรมของผู้นำประเทศมหาอำนาจในโลก และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่เป็นต้นเหตุแห่งความผันผวนในตลาดและทำให้สถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงไป ยังไม่ถึงสัปดาห์ ผู้นำประเทศมหาอำนาจก็มีการแผลงฤทธิ์อีกครั้ง คราวนี้เป็นเรื่องใหญ่ และท้าทายต่อความรู้สึกของคนจำนวนมาก และยังไม่ทันจะข้ามสัปดาห์ที่บอกกล่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวที่เราจะต้องทำเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างดีในโลกอนาคต บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์นมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่าง บอร์เดน ก็ยื่นขอล้มละลายไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ถึงสองเดือนหลังจากที่บริษัทใหญ่อันดับหนึ่ง อายุ 94 ปี อย่าง Dean Foods ขอล้มละลายไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน

การเปลี่ยนแปลงดูจะมารวดเร็วขึ้น บ่อยขึ้น ดังนั้น หากเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง สถานการณ์ก็จะบังคับให้เราเปลี่ยนค่ะ วันนี้จะขอยกตัวอย่าง บอร์เดน เป็นกรณีศึกษาค่ะ

บอร์เดน (Borden) เป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์นมวัวที่ดิฉันคุ้นเคยตั้งแต่สมัยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว มียอดขายในปี 2561 เท่ากับ 1,180 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท มียอดขาดทุนสุทธิ ในปี 2561 จำนวน 14.6 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 450 ล้านบาท และยอดขาดทุนในปี 2562 (ถึงวันที่ 7 เดือนธันวาคม) ประมาณ 42.4 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,300 ล้านบาท สาเหตุมาจากหลายประการ ผู้บริโภคนมลดจำนวนลง และผู้ที่ยังบริโภคอยู่ก็ลดปริมาณบริโภคลง ต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายสินค้าลดลง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกอื่น มีผลิตภัณฑ์อืื่นที่มีลักษณะคล้ายนมมาทดแทน เช่น น้ำนมจากธัญญพืช ประเภทถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว น้ำนมข้าวโพด น้ำนมข้าว และน้ำนมจากลูกนัท เช่น อัลมอนด์ เป็นต้น

บอร์เดน ก่อตั้งโดยคุณปู่เกล บอร์เดน จูเนียร์ (Gail Borden, Jr.) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นทำนมข้นหวานในสหรัฐอเมริกาได้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1853 (ผู้คิดค้นคนแรกในโลกเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ Nicolas Appert คิดได้ในปี 1820 ค่ะ) คุณปู่เกล มาได้สิทธิบัตรนมข้นหวานเมื่อ 19 สิงหาคม 1856 และร่วมกับเพื่อนชื่อ เจเรเมียะ มิลแบงก์ (Jeremiah Milbank) ก่อตั้งบริษัทชื่อ นิวยอร์ค คอนเด้นสท์ มิลค์ ในปี 1857 ในทางปฏิบัติจึงถือว่าบริษัทนี้มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมายาวนานถึง 162 ปี

บริษัทได้ธุรกิจจากคำสั่งซื้อจากรัฐบาลในระหว่างสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ เพื่อส่งนมข้นหวานให้กับทหารในสนามรบ และเติบโตเรื่อยมา

คุณปู่เกล จากไปในปี 1874 และบริษัทก็เติบโตเรื่อยมา โดยทำนามข้นหวานต่อไป และเพิ่มสินค้านมจืดระเหย หรือ evaporated milk ซึ่งก็ทำคล้ายๆนมข้นหวานแต่เนื่องจากไม่มีน้ำตาลมาช่วยในการทำให้เก็บได้นาน จึงต้องใช้เวลาในการทำให้นมระเหยนานขึ้น และเป็นบริษัทแรกที่เริ่มใช้ขวดแก้วบรรจุนม

บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น บอร์เดน ในปี 1919 เพื่อให้เกียรติแก่คุณปู่เกล บอร์เดน ผู้ก่อตั้ง และขยายกิจการอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1920 โดยเข้าไปซื้อกิจการไอศครีมใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาสองแห่ง เพิ่มสินค้าเนยแข็ง และซื้อกิจการบริษัทเคมี

ช่วงปี 1927 ถึง 1930 บริษัทเข้าซื้อกิจการกว่า 200 บริษัทในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายนมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ

มาสคอต ตัวเอกของบริษัท คือ เอลซี่ (Elsie) วัวตาหวานที่มีขนตางอนพิเศษ ได้ถูกชูเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทในปี 1951 AdAge จัดให้เอลซี่ เป็น ไอคอน หนึ่งในสิบอันดับแรกของศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว

แผนกธุรกิจเคมี ได้แยกเป็น Borden Chemical ผลิตกาว พลาสติก และเรซิ่น ส่วนบริษัทก็เปลี่ยนชื่อเป็น Borden Inc. และย้ายสำนักงานใหญ่จากมลรัฐนิวยิร์คไปยังเมือง โคลัมบัส เมืองหลวงของมลรัฐโอไฮโอ หลังจากนั้นบริษัทก็ซื้อกิจการ พาสต้าและซอส เพิ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว แยม เยลลี เนยแข็ง นมและไอศครีม

ในทศวรรษที่ 1980 เมื่อดิฉันกลับไปเรียนปริญญาโท ที่สหรัฐอเมริกา บอร์เดนเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดของโลก มียอดขายปีละกว่า 7,200 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท (ค่าเงินในขณะนั้น) เป็นผู้ซื้อกิจการรายใหญ่ และเป็นผู้ซื้อที่มีกิจกรรมการเข้าซื้อมากที่สุดในปี 1987 โดยซื้อไปถึง 23 กิจการ และก่อนปี 1990 ก็ซื้อไปอีก 39 กิจการ

กำไรของบริษัทเริ่มตกในช่วงต้นของ ทศวรรษ 1990 ทำให้ต้องขายกิจการหลายอย่างที่เคยซื้อมา และในปี 1995 Kohlberg Kravis Roberts (KKR) บริษัทลงทุนสัญชาติอเมริกัน ได้ซื้อกิจการของบอร์เดนไปด้วยมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญ และนำออกจากตลาดหลักทรัพย์ หลังจากเข้าไปซื้อขายนานถึง 68 ปี (คำนวณแล้วน่าจะเข้าจดทะเบียนในปี 1927)

Borden Inc. ได้รับการจัดองค์กรใหม่ จึงเกิด Borden Dairy ขึ้นมาในทศวรรษ 2000 ในปี 2009 Grupo Lala ซื้อกิจการ National Dairy LLC และตั้ง Borden Dairy Co. ดำเนินกิจการในสหรัฐอเมริกา

สำนักงานใหญ่ปัจจุบันอยู่ที่ดัลลัส เท็กซัส มีโรงงาน 13 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้าเกือบ 100 แห่งในแถบภาคกลาง และตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ มีพนักงาน 3,300 คน และบริหารโดยเน้น “คนมาก่อน” ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 16 ของบริษัทอเมริกันที่มีชื่อเสียงที่สุดในปี 2019

บริษัทที่ทำธุรกิจมายืนยาวถึง 162 ปี แจ้งเหตุผลในการยื่นขอล้มละลายว่า เป็นการอาสาปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ ต้องยื่นขอล้มละลายเพื่อจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ในระหว่างที่หาโครงสร้างทางการเงินที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้นั้น บริษัทก็จะยังดำเนินอยู่ ยังมีผลิตภัณฑ์ขายตามปกติ ซึ่งดิฉันเข้าไปดูแล้ว เขามีการขายตรงให้ผู้บริโภคด้วยค่ะ แม้กระนั้น ก็ไม่สามารถดึงให้ผู้คนหันมาดื่มนมเพิ่มขึ้นได้

ข้อมูลจากซีเอ็นเอ็น ระบุว่า การบริโภคนมของคนอเมริกันทั้งประเทศ ลดลง 6% นับตั้งแต่ปี 2015 และมีฟาร์มโคนมแบบครอบครัว เลิกกิจการไปแล้วกว่า 2,700 แห่ง และหากนับตั้งแต่ปี 1992 มีฟาร์มกว่า 94,000 แห่งเลิกกิจการไป ทำให้ผู้ผลิตนมมีต้นทุนเพิ่ม (เนื่องจากมีผลผลิตน้อย ฟาร์มจึงขึ้นราคาน้ำนมดิบ) และยังถูกบีบจากราคาขายที่ลดต่ำลง เพราะมีคนบริโภคนมน้อยลง ทำให้กำไรของธุรกิจนี้หดหายไปหมด

การขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ภาระหนี้สินเพิ่ม ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม และบริษัทถึงจุดที่อยู่ไม่ได้ค่ะ

เป็นตัวอย่างของการปรับก่อนที่มูลค่าจะหดหายไปหมด ซึ่งธุรกิจไทยที่เคยมีคนไปเที่ยวกันแน่น ก็ออกมาประกาศหยุดดำเนินกิจการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากสาเหตุที่เห็นแนวโน้มที่ไม่ดี จึงตัดสินใจหยุด เพื่อไปคิดโจทย์ใหม่

ธุรกิจต้องหมั่นสังเกตดูแนวโน้มต่างๆ และปรับตัวรับ ก่อนที่สถานการณ์จะบังคับทางเดินให้เราค่ะ
โพสต์โพสต์