เศรษฐกิจภาคฤดูร้อน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

เศรษฐกิจภาคฤดูร้อน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นบริเวณที่มีอากาศหนาว การท่องเที่ยวจึงคึกคักเฉพาะฤดูร้อน และเมื่อมีการท่องเที่ยวเป็นฤดูกาล แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงต้องเป็นแรงงานที่มาจากเมืองอื่น รัฐอื่น หรือแม้แต่ประเทศอื่น

หนึ่งในวิธีการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานของเขา คือการจ้างนักเรียน นักศึกษา มาช่วยงาน เพราะตรงกับปิดภาคฤดูร้อนพอดี ค่าแรงก็ไม่สูง และสิ่งที่ดีมากๆคือ เยาวชนมีพลัง มีความกระตือรือร้นที่จะให้บริการค่ะ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงว่า ตอนเราอายุน้อย การทำอะไรทุกอย่างล้วนเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เยาวชนจึงมีความสดชื่น อยากรู้ อยากเห็น อยากเปิดโลกทัศน์ มีความเป็นมิตร และมองโลกในแง่ดี แต่พอถึงวัยหนึ่ง เราจะเริ่มเคยชินกับสถานที่ เรื่องราว หรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆมาแล้ว ความกระตือรือร้นก็จะลดลง และที่เป็นประเด็นสำคัญคือ เราอาจจะรู้สึกไม่อยากให้บริการคนอื่น แต่อยากให้คนอื่นมาบริการเราแทน

คนในวัยนี้คือกลุ่มคนที่ไม่เหมาะกับการเป็นผู้ให้อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยว แต่เหมาะที่จะเป็นลูกค้าอย่างมากค่ะ

พอถึงอีกวัยหนึ่ง ก็จะมีคนที่เหมาะที่จะเข้าสู่ภาคบริการท่องเที่ยวอีก คือกลุ่มคนสูงวัยที่เกษียณอายุงานจากงานประจำแล้ว ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวอิงประวัติศาสตร์บางแห่ง จ้างมาแต่งตัวย้อนยุคเป็นพนักงานต้อนรับในสถานที่ต่างๆ รวมถึงบนรถไฟจักรกลไอน้ำด้วย น่ารักมากค่ะ

ไปท่องเที่ยวอลาสก้าและแคนาดาตอนเหนือในครั้งนี้ ดิฉันเห็นทุกกลุ่มเลยค่ะ เด็กจบชั้นมัธยม มาทำงานเป็นคนบังคับเลื่อนสุนัขลากบนหิมะ เธอบอกว่าบ้านอยู่รัฐฟลอริด้า (ซึ่งนานๆจะมีหิมะครั้งหนึ่ง) แต่ชอบกิจกรรมนี้ รักสุนัข และชอบความเย็น เธอทำหน้าที่ได้อย่างดี และด้วยความมีชีวิตชีวา สดใส เต็มใจ ทำให้ลุงๆป้าๆจากเมืองไทย แถมทิปให้เยอะจนหนูน้อยดีใจออกนอกหน้า ยิ้มไม่หุบเลยทีเดียว

มัคคุเทศก์ที่ให้บริการกับกลุ่มของดิฉัน ในการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ Banff ในแคนาดา นอกจากจะบรรยายประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของสถานที่แล้ว ยังต้องขับรถ ยกกระเป๋า คอยให้คำแนะนำ และเตือนเรื่องสภาพอากาศและการแต่งกาย เขาเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่กลับไปทำงานที่บ้านเกิดในช่วงฤดูร้อน 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวไปเที่ยวมากที่สุด ส่วนอีกหกเดือนอยู่ในเมืองใหญ่ใกล้กับบ้านเกิด เข้าใจว่าทำงานเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา และชีววิทยาของท้องถิ่นบริเวณนั้น มีความรู้เยอะทีเดียวค่ะ

เขาเล่าว่า แคนาดามีอัตราการเกิดต่ำเพียง 1.2 คนต่อครอบครัว ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และไม่มีประชากรเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต (เข้าใจเศรษฐศาสตร์อีกด้วย) จึงต้องอาศัยแรงงานอพยพ ซึ่งแคนาดารับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยในสองสามทศวรรษก่อน จะเป็นผู้อพยพจากเอเชียตะวันออก (ฮ่องกง ไต้หวัน จีน) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบัน ผู้อพยพส่วนใหญ่มาจาก อัฟริกา และเอเชียใต้ (อินเดีย ศรีลังกา ฯลฯ)

การที่คนท้องถิ่นเข้าใจถึงความจำเป็นในการรับผู้อพยพ ทำให้การบริหารจัดการประชากรเป็นไปได้ง่ายขึ้นกว่าการที่รัฐมีนโยบาย แต่ประชาชนไม่เข้าใจ

สัมผัสเลยค่ะว่า คนแคนาดามีความระมัดระวังในการจัดการสิ่งแวดล้อมมาก หลายท่านอาจจะพอจำได้ว่า เขามีประเด็นเกี่ยวกับการตัดทางรถไฟ และถนนหลวงผ่าเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติ เพื่อสร้างการคมนาคมเชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ และมีผู้คัดค้านจำนวนมาก บอกว่าจะทำให้สัตว์ป่าถูกรถชนตายหมด เขาจึงต้องลงทุนทำรั้วกั้น ซึ่งได้คิดเผื่อไปถึงเส้นทางสัญจรไปหาอาหารของสัตว์ต่างๆด้วย จึงสร้างทั้งอุโมงค์ลอดใต้ทางหลวง และเส้นทางสะพานให้สัตว์ข้ามทางหลวง ซึ่งเขาเล่าว่าหลังจากสร้างใหม่ๆ ไม่มีสัตว์มาลอด หรือมาข้ามเลย (ดูจากกล้องที่ติดเอาไว้) ผู้คนก็วิจารณ์ว่า เอางบประมาณของชาติมาถลุงกับโครงการสร้างทางลอด และสะพานให้สัตว์ข้าม และใช้งานไม่ได้

แต่หลังจากนั้นประมาณ 2-3 ปี พบว่าสัตว์เริ่มเรียนรู้ที่จะมาข้ามและลอด และได้สอนรุ่นลูกให้มาข้ามด้วย จึงได้ใช้ประโยชน์จริง จึงนอกจากจะลดอัตราการตายของสัตว์จากการถูกรถชนแล้ว ยังลดอัตราการอดตายของสัตว์ด้วย

การจัดการยังรวมไปถึงเรื่องของการจำกัดปริมาณรถที่จะเข้าใปในอุทยาน ด้วยการให้จอดในที่จอดรถ และนั่งรถบัสรับส่งนักเรียน (ซึ่งช่วงปิดเทอมไม่ได้ใช้งาน) ไปยังอุทยาน และการจัดการเรื่องห้องน้ำ ในบางจุด ห้องน้ำยังเป็นส้วมหลุมอยู่ แต่หลุมจะลึกมาก และเขาจะมีกระดาษชำระไว้ให้เสมอ ทำให้สถานที่ค่อนข้างสะอาด แม้กลิ่นจะยังแรงอยู่ค่ะ

เรื่องการประหยัดน้ำ ประหยัดการใช้ทรัพยากร และลดการใช้พลาสติกก็น่าเอาอย่าง เวลาซื้อของ ไม่ว่าจะเป็นร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมืองหรือนอกเมือง หรือร้านขายของที่ระลึก หรือแม้แต่ร้านแบรนด์เนมก็ตาม พนักงานขายจะถามทุกครั้งว่า “ต้องการรับถุงหรือไม่” ทำให้เราต้องชะงัก และคิดว่า เอ! เรามีที่ทางในกระเป๋าหรือถึงของเราที่จะใส่ของชิ้นนั้นๆ โดยไม่รับถุงจากเขาไหม ถ้ามีเราก็ไม่ต้องรับถุงใส่ของ ทำให้ประหยัดทรัพยากรไปได้มาก

น้ำดื่ม ดื่มจากก๊อกน้ำประปาได้อยู่แล้ว แต่เวลาจะนำน้ำไปดื่มระหว่างเดินทาง เราอาจจะใช้น้ำขวด โรงแรมในเมืองใกล้อุทยานที่ไปพัก มีขวดน้ำทำจากอลูมิเนียมขายค่ะ และมีป้ายติดไว้ว่า ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่มีน้ำใส่ขวดพลาสติกไว้ให้ เรามีขวดขาย กรุณาลงไปซื้อที่แผนกต้อนรับ ราคาขวดละ 75 บาท เท่ากันกับราคาน้ำในขวดพลาสติกที่ท่านซื้อจากร้านค้า (แต่ท่านสามารถเอามากรอกน้ำฟรี ได้หลายรอบ)

เขียนไปเขียนมา หมดพื้นที่แล้ว พบกันใหม่ในอีกสองสัปดาห์ค่ะ
โพสต์โพสต์