โรงพยาบาลธงฟ้า โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

โรงพยาบาลธงฟ้า โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โรงพยาบาลธงฟ้า คือแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง (1) โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ความกังวลว่าค่ารักษาพยาบาลมีแต่จะแพงขึ้นมีอยู่อย่างกว้างขวาง ทำให้ภาครัฐมีท่าทีว่าจะต้องจัดตั้งระบบโรงพยาบาลธงฟ้า เพื่อช่วยลดค่ารักษาพยาบาลลง แนวคิดเช่นนี้ดูเสมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราเห็นค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจริง ๆ และทุกคนก็คงจะมีความเห็นตรงกันว่าการได้รับการรักษาพยาบาลนั้น น่าจะเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนคนไทย

การที่ประชากรของประเทศไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วก็เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข โดยผมเองก็ได้เคยคำนวณจากการพยากรณ์ประชากรของประเทศไทย โดยหน่วยงานต่าง ๆ สรุปได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปี และมากกว่า จำนวนประมาณ 12.3 ล้านคน แต่คนกลุ่มนี้ จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 21.3 ล้านคน (เพิ่มขึ้นอีก 9 ล้านคน) ในปี 2040 หรืออีก 21 ปีข้างหน้า กล่าวคือ คนเรายิ่งแก่ตัวก็ยิ่งสุขภาพไม่ดี และเป็นโรคที่ต้องอาศัยการรักษาพยาบาลมากมายหลายประเภท ซึ่งตัวเลขสถิติในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้สูงอายุจะมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลสูงมาก ดังปรากฏในตาราง

จะเห็นได้ว่า คนอายุ 55 ปีขึ้นไป มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบสัดส่วนของคนกลุ่มนี้กับจำนวนประชากรทั้งหมด เช่น กลุ่มอายุ 55-64 ปี มีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 13% ของประชากรทั้งหมด แต่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงถึง 20% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด และสำหรับกลุ่มอายุ 65 ปี หรือมากกว่า ซึ่งมีจำนวนเพียง 16% ของประชากรทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 36% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในด้านนี้ ตรงกันข้าม กลุ่มประชากรที่อายุ 19 ปี หรือน้อยกว่า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 24% ของประชากรทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลเพียง 10% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดังนั้น “คนแก่” ที่มีสิทธิ มีเสียง และไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ ก็คงจะเป็นกลุ่มการเมืองที่เรียกร้องและผลักดันให้

1.ภาครัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อผลิตหมอพยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสรรหายารักษาและสร้างโรงพยาบาลเพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ภาครัฐต้องขยายสิทธิประโยชน์ และพัฒนาคุณภาพของ “30 บาทรักษาทุกโรค” ในขณะที่ข้าราชการก็จะปกป้องสิทธิประโยชน์ด้านรักษาพยาบาลที่ได้รับในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเต็มที่ และข้าราชการที่เกษียณอายุซึ่งจะอายุยืนมากขึ้น ก็จะทำให้ต้องตั้งงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างแน่นอน

3.รัฐบาลรีบจัดทำ/จัดตั้งระบบโรงพยาบาลธงฟ้าโดยเร็ว ซึ่งนักการเมืองก็คงจะรีบตอบสนองและ “เอาใจ” ประชาชนกลุ่มนี้ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต

ได้เคยมีบทวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอ เมื่อปี 2018 สรุปว่า

1.ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลของไทยในช่วงปี 2017-2032 (อีก 15 ปีข้างหน้า) นั้น โดยปกติน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 480,000-630,000 ล้านบาทต่อปี

2.แต่หากนำเอาการแก่ตัวของประชากรเข้ามาคำนวนด้วย ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่ไม่ติดต่อแต่เป็นกันมากในวัยแก่ ก็ประเมินได้ว่าค่าใช้จ่ายต่อปีอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ถึง 1.8 ล้านล้านบาทต่อปี

แปลว่าค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น อาจเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี หรือ 5-6% ของจีดีพี ซึ่งมองได้ว่าจะเป็นภาระของเศรษฐกิจอย่างมาก

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ กล่าวคือจะต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ทั้งนี้ หากดูจากสถิติประชากรในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยก็จะพบว่า ในบั้นปลายของชีวิตนั้น ผู้ชายจะมีช่วงอายุที่สุขภาพไม่ดี นานประมาณ 10-15 ปี ส่วนผู้หญิงจะมีช่วงอายุที่สุขภาพไม่ดีนานกว่า คือประมาณ 13-19 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้องพึ่งพาการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ คือจากสถิตินั้นพบว่า

1.ช่วงเวลาที่สุขภาพไม่ดี (morbidity) ดังกล่าวนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นพร้อมไปกับอายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

2.เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการรักษาโรคนั้น มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น มีกระบวนการให้ขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ 2-3 ราย และมีเครื่องมือที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงมากขึ้นเช่นกัน

ปัญหาเรื่องสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลนั้น หากมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์ ก็เป็นปัญหาที่กลไกตลาดเสรีไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน (uncertainty) ว่าจะเป็นโรคอะไร ซึ่งเมื่อมีความไม่แน่นอนนั้น ตามทฤษฎีก็จะสามารถสร้างตลาดประกันสุขภาพขึ้นได้ เพราะคนเราจะต้องการปิดความเสี่ยง (risk averse)

ดังนั้น ตามทฤษฎี ทุกคนก็จะซื้อประกันสุขภาพเพื่อปิดความเสี่ยงส่วนตัว และบริษัทประกันก็จะถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ จากการคำนวณความเสี่ยงโดยเฉลี่ยของประชากรทั้งหมดว่าจะเป็นโรคประเภทใด และจะต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลต่อโรคมากน้อยเพียงใด เมื่อได้ค่าความเสี่ยงโดยเฉลี่ยแล้วก็จะสามารถคำนวนค่าประกันสุขภาพต่อหัว เพื่อรองรับการกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ซื้อประกันได้

เช่น หากมีผู้ซื้อประกัน 10 คน จ่ายค่าประกันคนละ 10,000 บาทต่อปี แต่พบว่าโดยเฉลี่ยมีคนต้องเข้ารักษาพยาบาล 2 คนต่อปี โดยมีค่าใช้จ่าย 40,000 บาทต่อคน ก็จะทำให้บริษัทประกันมีกำไรจากการรับความเสี่ยง 20,000 บาทต่อปี เป็นต้น

แต่ปัญหาของเรื่องการประกันสุขภาพ คือ ปัญหาของการมีข้อมูลไม่สมดุลกัน (asymmetric information) ทั้งในส่วนของผู้ขอ (ซื้อ) ประกัน ผู้ให้ (ขาย) ประกัน (บริษัทประกันภัย) และผู้ที่ให้บริการรักษาพยาบาล กล่าวคือ

1.คนที่จะต้องการซื้อประกัน จะเป็นคนที่ใกล้เป็นโรคร้าย หรือเป็นโรคร้ายแล้ว แต่จะไม่ต้องการบอกผู้ขายประกัน ในขณะเดียวกัน คนที่มีสุขภาพดี (คนหนุ่มสาว) ก็จะไม่ยอมซื้อประกันสุขภาพ ดังนั้น บริษัทขายประกันก็จะสามารถขายประกันได้เฉพาะกับคนที่สุขภาพไม่ดี และต่อไปจะเบิกค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้บริษัทประกันต้องขายประกันในราคาแพง เพราะผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพนั้น ส่วนใหญ่สุขภาพย่ำแย่ตั้งแต่ต้น (ตรงนี้ทางทฤษฎีเรียกว่า adverse selection)

2.คนที่มีประกันสุขภาพไปแล้ว ก็อาจไม่คิดว่าจะต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง และหากเป็นอะไรนิดหน่อยก็จะรีบไปหาแพทย์ และรับบริการอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้มีความประมาทในการ (ไม่) ดูแลสุขภาพ และเบิกค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น (ตรงนี้เรียกว่า moral hazard)

3.แพทย์และโรงพยาบาล (ผู้ขายบริการ) รู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค (คนไข้ หรือผู้ซื้อบริการ) มากกว่าตัวผู้บริโภคเอง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงว่า ผู้ขายจะขายของให้เกินความต้องการของผู้บริโภค

ข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นที่มองปัญหาการรักษาพยาบาล และการประกันสุขภาพว่าเป็นปัญหาที่มีพื้นฐานมาจากความไม่แน่นอน หรือความที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเกี่ยวกับสุขภาพนั้น ส่วนหนึ่งก็มีวิธีการลดทอนปัญหา เช่น การให้ผู้ซื้อประกันสุขภาพต้องนำผลการตรวจร่างกายมาให้บริษัทประกันสุขภาพนำไปประเมินก่อนการอนุมัติการขายประกัน แต่โดยรวมนั้นทำให้มีข้อสรุปว่าจะต้องมีการเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐ และจะต้องมีการทุ่มเททรัพยากรของประเทศในส่วนนี้เป็นจำนวนมหาศาล

นอกจากนั้น รัฐก็จะต้องมีบทบาทอย่างมากในการบริหารจัดการ “ตลาด” การรักษาพยาบาล เพราะมีความบิดเบือนจากปัญหาของการมีข้อมูลไม่สมดุลกันดังกล่าวข้างต้น แต่ผมจะขอมองต่างมุมในตอนต่อไปว่า เราจะมีทางออกเกี่ยวกับสุขภาพที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ในอนาคตครับ
โพสต์โพสต์