ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คราวที่แล้วผมเขียนถึงการที่สหรัฐริเริ่มการปรับความสัมพันธ์กับจีนในปี 1971 และในที่สุดก็ได้ “ทิ้ง” ไต้หวันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนในปี 1979 ซึ่งผมเชื่อว่าแนวคิดของผู้นำของสหรัฐในตอนนั้น คือ ประธานาธิบดี นิกสัน นั้น ต้องการแยกจีนออกจากสหภาพโซเวียต เพราะในช่วงทศวรรษที่ 70 นั้น เศรษฐกิจสหรัฐประสบปัญหามากมาย เช่น เงินเฟ้อที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐใช้จ่ายเกินตัวจากการทำสงครามเวียดนาม (แล้วต่อมาก็แพ้สงคราม) และนโยบายการเงินก็ผ่อนคลายมากเกินไป ทำให้สหรัฐต้องประกาศลอยตัวค่าเงินดอลลาร์ (หรือ “เบี้ยว” การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับทองคำ) ทำให้ระบบการเงินของโลกได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างมาก ต่อมาก็ยังมีวิกฤติน้ำมันที่ทำให้เงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นต่อไปอีกและเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่สภาวะถดถอย กล่าวโดยสรุปคือในช่วงทศวรรษที่ 70 นั้นเศรษฐกิจสหรัฐอาจดูอ่อนแอกว่าเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ดังนั้นในเชิงของการช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 นั้น การที่สหรัฐทำให้จีนหันมา “คบ” กับสหรัฐเป็นกลยุทธ์ที่แยบยลอย่างมาก

จีนเองก็เผชิญความปั่นป่วนและการช่วงชิงอำนาจกันหลังจากที่ประธาน เหมา เจ๋อ ตุง เสียชีวิตลงในปี 1976 แต่ในปี 1978 เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็สามารถกลับเข้ามาคุมอำนาจในประเทศจีนได้อีก และแม้ว่า เติ้ง เสี่ยว ผิง จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญใดๆ อย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีน โดยการอาศัยกลไกตลาดเสรีที่ผสมผสานไปกับระบบการปกครองแบบสังคมนิยม (socialism with Chinese characteristics) ผมต้องขอสรุปว่าในช่วงที่จีนอยู่ภายใต้การนำของ เติ้ง เสี่ยว ผิง นั้น ฝ่ายตะวันตก “หลงรัก” ทั้ง เติ้ง เสี่ยว ผิงและประเทศจีนว่าจะพัฒนาไปสู่ระบบตลาดเสรีและยังฝันหวานต่อไปอีกด้วยว่าจีนจะปฏิรูปทางการเมืองไปสู่ระบบที่มีความเสรีและเคารพสิทธิมนุษยชนได้ในที่สุด จึงไม่แปลกใจว่านิตยสาร Time ของสหรัฐจะเลือก เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็น Person of the Year ถึง 2 ครั้ง ในปี 1978 และ 1985

เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวในปี 1984-1985 จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงในปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐพึงพอใจและให้การสนับสนุนจีนอย่างหนักแน่น ซึ่งดูเสมือนว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง เพราะในขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตก็เริ่มสั่นคลอน และในที่สุดก็มีปัญหาอย่างมากจากการกดดันให้ต้องแข่งกับสหรัฐในการสร้างอาวุธภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรแกน ทั้งนี้สามารถสังเกตได้ว่าสหรัฐสามารถกดดันสหภาพโซเวียตได้อย่างเต็มที่ เพราะจีนนั้นยืนอยู่ข้างสหรัฐมากกว่ายืนอยู่ข้างสหภาพโซเวียต การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990นั้น จึงมองได้ว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญยิ่งสำหรับโลกตะวันตก แต่สำหรับผู้นำของจีนนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง และได้มีการรายงานข่าวและการวิเคราะห์ของนักวิชาการมากมายว่า พรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำของจีนได้ทุ่มเทเวลาและทรัพยากรในการประเมินบทเรียนจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน

การศึกษาและประเมินเรื่องการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้น ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดมีรายงานจากหนังสือพิมพ์ South China Morning Post วันที่ 13 พฤศจิกายน 2013 (หลังจากประธานาธิบดี สี จิ้ง ผิง เข้ามามีอำนาจในสมัยแรก) ก็ยังมีการทำเทปวีดีโอ 2 เทปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงและพรรคคอมมิวนิสต์สรุปว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้นเกิดจากเหตุผลหลัก 3 ประการคือ

1.ประธานาธิบดีมิคาเอิล กอร์บาเชฟ เร่งการปฏิรูปไปสู่ระบบประชาธิปไตยและลดทอนอำนาจผูกขาดทางการเมืองและอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์

2.ประธานาธิบดี บอริส เยลซินเร่งรัดการปฏิรูปและขายรัฐวิสาหกิจ ทำให้อำนาจในการควบคุมด้านเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ถูกทำลายและนำไปสู่การล่มสลายของเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต

3.ฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐคบคิดและมีอุบายที่จะนำไปสู่การล่มสลายของระบบสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต

จาก “บทเรียน” ดังกล่าวนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่า

1.ผู้นำจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่มีนโยบายปฏิรูปการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบดังกล่าวจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบสังคมนิยม ดังนั้นการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบที่ไต้หวัน (และฮ่องกง) ย่อมจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของผู้นำของจีน

2.ผู้นำจีนจะต้องมีบทบาทสำคัญและสามารถควบคุมกลไกด้านเศรษฐกิจทั้งหมดของจีนเพื่อการคงเอาไว้ซึ่งการผูกขาดอำนาจ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาซึ่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจที่จะอยู่ภายใต้ระบบปกครองปัจจุบันที่จำกัดสิทธิทางการเมือง

ผมมีความเห็นว่าแนวคิดและข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่และเป็นเรื่องที่ผู้นำและนักวิชาการของฝ่ายตะวันตกจะรับรู้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้วในขณะนี้ ประเด็นสำคัญคือฝ่ายตะวันตกจะมีท่าทีกับจีนอย่างไรและจะยอมรับเรื่องนี้ต่อไปในอนาคตได้อีกนานเพียงใด ซึ่งผมจะขอเขียนถึงในตอนต่อไปครับ
โพสต์โพสต์