ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ปีนี้ควรเป็นปีที่มีการฉลองครั้งใหญ่ของจีนและสหรัฐ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 40 ปีในวันที่ 1 ม.ค. 1979 ทั้งนี้เป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายการทูตที่ยาวนานกว่า 8 ปี หลังจากที่ประธานาธิบดีนิกสัน ส่งเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐ ไปเริ่มการเจรจาปรับความสัมพันธ์กับจีนในเดือน ก.ค. 1971 ทำให้ประธานาธิบดีนิกสัน ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน ในเดือนก.พ.1972 และสามารถบรรลุถึงข้อตกลงร่วมกันในการริเริ่มการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เรียกว่า “The Shanghai Communique” ซึ่งประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือสถานะของไต้หวัน กล่าวคือสหรัฐยอมรับว่ามี “จีนเดียว” แต่ต่อมารัฐสภาสหรัฐก็ออกกฎหมายให้สหรัฐปฏิบัติกับไต้หวันเสมือนกับเป็นประเทศอิสระ รวมทั้งการที่สหรัฐขายอาวุธให้กับไต้หวันมาโดยตลอดและแสดงท่าทีเสมอมาว่าหากจีนจะพยายามใช้กำลังในการรวมประเทศไต้หวันเข้ากับจีนแล้วสหรัฐมีพันธะกรณีที่จะให้การสนับสนุนไต้หวัน

ดังนั้นนอกจากการที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังขยายตัวไปสู่เรื่องของการช่วงชิงความเป็นหนึ่งในด้านเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม ดังที่มีการรายงานโดยสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้ว แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันในความเห็นของผมคือ การเผชิญหน้ากันที่รุนแรงมากขึ้นเกี่ยวกับไต้หวันที่พอจะเรียบเรียงเหตุการณ์ได้ดังนี้

1.เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามผ่านกฎหมาย Taiwan Travel Actซึ่งเป็นกฎหมายที่มิได้มีผลบังคับใช้ เพราะเป็นเพียงการแสดงความเห็นของรัฐสภาสหรัฐว่ารัฐบาลสหรัฐควรมีนโยบายที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไต้หวันมาเยือนสหรัฐและเข้าพบเจ้าหน้าที่สหรัฐได้ และสหรัฐควรส่งเสริมให้ผู้แทนของไต้หวันด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาทำธุรกิจในสหรัฐได้ กฎหมายดังกล่าวประธานาธิบดีทรัมพ์จะไม่ลงนามก็ได้ แต่ก็ยอมลงนาม ทำให้รัฐบาลจีนแสดงความไม่พอใจอย่างมาก โดยกล่าวว่า “China is strongly dissatisfied with that and firmly opposes it”

2.เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2018 สหรัฐยินยอมให้ประธานาธิบดีไต้หวันหยุดค้างคืนที่นครลอสแองเจลลิสเพื่อเดินทางต่อไปประเทศปาราไกว และกลับมาหยุดค้างคืนที่นครฮุสตันตอนขากลับในวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งจีนแสดงความไม่พอใจอย่างมาก ที่สำคัญคือระหว่างที่พักอยู่ที่นครลอสแองเจลลิสนั้น ประธานาธิบดีไต้หวันได้พบปะผู้แทนราษฎรพรรคเดโมเครท 3 คน รวมทั้งนาย Brad Sherman ซึ่งเสนอให้รัฐบาลสหรัฐเชิญให้ประธานาธิบดีไต้หวันเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน

3.เมื่อวันที่ 28 เม.ย.กองทัพสหรัฐได้สั่งให้เดินเรือพิฆาต 2 ลำคือ The William P. Lawrence และ The Stethem ผ่านช่องแคบไต้หวันซึ่งจีนอ้างว่าเป็นน่านน้ำของจีน แต่สหรัฐอ้างว่าเป็นทะเลหลวง

4.เมื่อวันที่ 13-21 พ.ค.2019 นาย David Lee ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีไต้หวันเดินทางมาเยือนสหรัฐและได้มีโอกาสเข้าพบนาย John Bolton ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งทางากรจีนแถลงว่า “China is extremely dissatisfied and resolutely opposed this”

ประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับไต้หวันนี้มีอยู่ 2 ข้อคือ

-ไต้หวันได้รับการสนับสนุนในสหรัฐอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในรัฐสภาสหรัฐจากทั้งพรคครีพับลิกันและพรรคเดโมเครท (มลรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นส่วนใหญ่มีผู้แทนจากพรรคเดโมเครท ส่วนมลรัฐเท็กซัสนั้นผู้แทนส่วนใหญ่สังกัดพรรครีพับลิกัน) ทั้งนี้เพราะในสหรัฐนั้นความไม่พอใจและเกรงกลัวประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนั้นไต้หวันก็พัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ โดยไต้หวันนั้นได้จัดการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ 3 ปีมาตั้งแต่ปี 1992 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆ 4 ปี ตั้งแต่ปี 1996 ทั้งนี้โดยประชาชนในไต้หวันแสดงท่าทีชัดเจนตลอดมาว่าไม่ต้องการรวมตัวเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน

-ผมมีความเห็นว่ารัฐบาลจีน โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนยอมรับไม่ได้ที่จะให้มีระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของจีน ทั้งนี้เพราะได้เห็นผลจากการเปิดเสรีและการปฏิรูปไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอดีตที่สหภาพโซเวียต แล้วผลปรากฏว่าสหภาพโซเวียตต้องล่มสลายลงในปี 1990 ดังนั้นการเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน
โพสต์โพสต์