การพัฒนาเศรษฐกิจ (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

การพัฒนาเศรษฐกิจ (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมสรุปว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวนั้นไม่ได้มี 4 เครื่องยนต์ดังที่มักจะพูดกันเวลาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลงในระยะสั้น กล่าวคือในระยะยาวนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนนั้นจะต้องอาศัยการลงทุนเป็นหลักเพียงปัจจัยเดียว เพราะการลงทุนคือ

1.การยอมเสียสละไม่บริโภคในวันนี้เพื่อนำเอาทรัพยากรไปเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อจะได้มีปริมาณสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นในภายภาคหน้า

2.การลงทุนนั้นอาจเป็นการลงทุนเพื่อนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ก็ได้ ทรัพยากรธรรมชาตินั้นหากปล่อยเอาไว้เฉยๆ ก็จะไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด (แต่การมุ่งใช้ทรัพยากรมากเกินจนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อน ก็เป็นผลเสียทางเศรษฐกิจเช่นกัน)

3.แต่ส่วนของการลงทุนที่สำคัญที่สุดมักจะเป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ เครื่องจักรหรือโรงงานรุ่นใหม่ที่ทันสมัยผลิตสินค้าได้ดีกว่าและมากกว่าของที่มีอยู่เดิม กล่าวคือเทคโนโลยีใหม่แทรกตัวอยู่ในการลงทุนใหม่ ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในอดีต 300-400 ปีผ่านมาที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเจริญเติบโตได้อย่างมากและประชากรโลกอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัว ก็เพราะการพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ผสมผสานไปกับระบบทุนนิยมที่นำเอาวิวัฒนาการใหม่ๆ มาผลิตเป็นสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่น โทรทัศน์ iphone airbnb และ uber เป็นต้น

4.การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงสูง จึงต้องอาศัยความกล้าเสี่ยงของนักลงทุนที่คาดหวังจะได้กำไร ดังนั้นระบบคุ้มครองทรัพย์สิน (รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา) ระบบการเงินและระบบตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนระบบตลาดเสรีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การ “หวังดี” ให้รัฐเข้ามาควบคุมระบบทุนนิยมให้มี “ความเป็นธรรม” มากจนเกินไป เช่นแนวคิดของระบบสังคมนิยมนั้น จะทำให้การลงทุนชะงักงันเพราะได้ไม่คุ้มเสี่ยงและรัฐบาลซึ่งหวังดี ก็จะเพิ่มบทบาทเข้ามาลงทุนและดำเนินกิจการเสียเอง โดยใช้ระบบราชการที่เชื่องช้าและไม่กล้าเสี่ยง ซึ่งเห็นมาแล้วจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตว่าระบบเศรษฐกิจที่ควบคุมโดยรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมสู้ระบบทุนนิยมไม่ได้

ในประเทศไทยนั้นการลงทุน (Gross capital formation) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจาก 3.265 ล้านล้านบาทในปี 2014 มาเป็น 3.727 ล้านล้านบาทในปี 2018 (ตัวเลขจากไอเอมเอฟ) แต่คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ไม่ได้เพิ่มมากนัก กล่าวคือจาก 24.68% ของจีดีพีในปี 2014 มาเป็น 25.40% ของจีดีพีในปี 2018 ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากนัก เพราะจะมีส่วนใหญ่ของ25% ดังกล่าวที่จะต้องลงทุนเพื่อแทนที่เครื่องจักรและโรงงานที่ชำรุดหรือล้าสมัย ในเชิงเปรียบเทียบนั้นการลงทุนของจีนน่าจะเกือบ 50% ของจีดีพี แต่ก็ต้องย้ำว่าการลงทุนนั้นจะต้องเป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์ คือให้ผลตอบแทนสูงคุ้มค่า มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นภาระทางเศรษฐกิจในอนาคต เพราะอาจจะผลิตสินค้าที่ไม่มีใครต้องการ เป็นต้น

สาขาเศรษฐกิจสุดท้ายคือภาครัฐที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพี ซึ่งมีอำนาจพิเศษคือการเก็บภาษี (ซึ่งเป็นการยึดทรัพย์ส่วนหนึ่งของประชาชน) มาใช้จ่ายและลงทุน รัฐบาลจะขาดทุนงบประมาณเกือบตลอดเวลา กล่าวคือจะใช้จ่ายเกินตัวและคาดหวังว่าจะสามารถเก็บภาษีมากขึ้นจากประชาชนได้ในอนาคต ดังนั้นการลงทุนของภาครัฐประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาทต่อปี (เมื่อเทียบกับรายจ่ายทั้งหมดประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี) จะต้องให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่า มิฉะนั้นก็จะยิ่งเป็นการสร้างหนี้และภาระทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนั้นการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการใช้จ่ายในปัจจุบัน โดยการสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นนั้นก็จะยิ่งลดทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ประมาณการคือปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 20-60 ปี) ประมาณ 40.5 ล้านคนและมีคนสูงอายุ (อายุ 60 ปีและมากกว่า) 12 ล้านคน แต่ในปี 2040 จะมีผู้ที่อยู่ในวัยทำงานเหลือเพียง 32.5 ล้านคน แต่ในปี 2040 จะมีผู้ที่อยู่ในวัยทำงานเหลือเพียง 32.5 ล้านคน แต่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 21 ล้านคน ดังนั้นรัฐบาลจึงน่าจะมีภาระเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

ประเด็นสุดท้ายคือรัฐบาลไทยมีอำนาจอย่างมากในอีกด้านหนึ่ง คือการควบคุมรัฐวิสาหกิจซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ตัวอย่างเช่น รัฐวิสาหกิจนั้นในปี 2004 มีมูลค่าสินทรัพย์เท่ากับ 4.3 ล้านล้านบาท แต่ในปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านล้านบาท ดังนั้นการควบคุมการใช้สินทรัพย์ดังกล่าวให้คุ้มค่าในการสร้างรายได้และการสร้างความเจริญให้กับเศรษฐกิจ จึงน่าจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวช้าหรือเร็วในปัจจุบันและในอนาคตครับ
โพสต์โพสต์