การศึกษาไทยล้มเหลว?/กฤษฏา บุญเรือง

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

การศึกษาไทยล้มเหลว?/กฤษฏา บุญเรือง

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมมีโอกาสได้พบเด็กผู้ชายคนหนึ่งอายุ 17 ปี ขายผ้าไหมกับแม่ที่จังหวัดสุรินทร์ ฝีมืองดงาม ลวดลายแปลก ดูแล้วสดชื่นแตกต่างจากผู้อื่น ทีแรกเดาว่าแม่คงเป็นผู้ทอและลูกมาช่วยขาย แต่ผู้ค้าในตลาดด้วยกันเล่าให้ฟังว่าเยาวชนคนนี้ทอผ้าไหมเก่งที่สุดในหมู่บ้านส่วนแม่เป็นเพียงแค่ผู้ช่วย นอกจากจะได้เรียนรู้ศิลปะและงานฝีมือจากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นแล้วเขายังได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองจาก Google ชื่นชมมากที่เห็นแม่ลูกทำงานด้วยกันอย่างมีความสุขทั้งการออกแบบการผลิตและนำสินค้ามาสู่ตลาด ลูกค้าตอบสนองดีมาก นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม

ที่จังหวัดขอนแก่น ผมมีโอกาสได้พบกับสุภาพสตรีสองท่านเป็นหุ้นส่วนกันเปิดโรงแรมและร้านอาหารขนาดเล็กแต่เก๋ไก๋ ริมบึงหนองโคตร ประทับใจกับการตกแต่งโดยใช้วัสดุท้องถิ่นแบบประหยัดแต่มีรสนิยมไม่แพ้ชาวตะวันตก การจัดห้องนอน รายละเอียดต่างๆ การใช้วัสดุและพื้นที่ถูกต้องตามมาตรฐานของโรงแรมระดับสูง ผมถามว่าเคยไปเรียนหนังสือหรือทำงานที่ประเทศไหนมา

ได้รับคำตอบว่าเจ้าของทั้งสองสาวไม่เคยไปต่างประเทศเลย หนีกรุงเทพฯตอนน้ำท่วมใหญ่ ตัดสินใจไปเสี่ยงข้างหน้าและเลือกขอนแก่นด้วยความบังเอิญ ศึกษาเรื่องการทำธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารด้วยตนเองจากข้อมูลออนไลน์และจำเอาจากประสบการณ์ที่เห็นในไทย ทำเลที่ขอนแก่นก็หาเจอออนไลน์ ธุรกิจปัจจุบันไปได้ดีมาก

สัปดาห์ที่ผ่านมาอาจารย์โรงเรียนมัธยมในภาคอีสานท่านหนึ่งเล่าว่าเดินทางไปกับคณะผู้บริหาร อาจารย์และนักเรียนจากประเทศไทยเพื่อดูงานเรื่องการศึกษาที่ประเทศเวียดนาม

ระหว่างเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างของเวียดนาม ชาวไทยทั้งคณะลงมติว่าโรงเรียนเขาสะอาดกว่า เด็กมีวินัย ตั้งใจเรียน ขยัน ไม่เหมือนกับเด็กบ้านเราที่ไม่ใส่ใจและการแต่งกายไม่เรียบร้อย โดยภาพรวม”ไทยโดนเวียดนามแซงไปแล้ว”

และไม่นานมานี้ มีผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของไทยออกมาวิจารณ์ความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่สอบวัดผลมาตรฐานโลกได้คะแนนต่ำ เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งได้เป็นที่หนึ่งหรือระดับต้นของโลกทุกปี หลายกลุ่มไปเยี่ยมดูงานการศึกษาที่สิงคโปร์ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยแล้วสงสารบ้านเรา เกิดอาการซึมเศร้าหงุดหงิดและอยากรีบปฏิรูปการศึกษาไทย

ประเทศฟินแลนด์ประสบความสำเร็จในการศึกษามาก เป็นตัวอย่างที่ถูกยกเสมอ มีผู้เชี่ยวชาญจากไทยเดินทางไปเยี่ยมชมและฝึกงานที่ฟินแลนด์หลายชุด จุดเด่นของฟินแลนด์มีหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพของครูซึ่งยอดเยี่ยมมากและรายได้สูงเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น

เรื่องการเปรียบเทียบประเทศอื่นว่าประสบความสำเร็จกับการบริหารระบบการศึกษาและขณะเดียวกันตำหนิว่าบ้านเรา “10 ปีที่แล้วก็เป็นอย่างนี้อีก 10 ปีข้างหน้าเราเดาว่าก็คงเหมือนเดิม” คำถามคือว่าการศึกษาของไทยโดยส่วนรวมล้มเหลวจริงหรือไม่ ควรใหมที่เราจะมีการปรับปรุงใหญ่ หรือว่าเราควรจะปรับแต่งเล็กน้อยตามความเป็นไทย หรือว่านี่คือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดแล้ว

เป็นไปได้ไหมว่าเรามองโลกในแง่ร้ายและตำหนิบ้านเมืองเราเกินความเป็นจริง หากระบบการศึกษาบ้านเราแย่ถึงขนาดนั้นทำไมผลออกมาแล้วเราเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเมืองไทยน่าเที่ยวน่าอยู่มาก มีเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลสม่ำเสมอแทบทุกปีและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยเรื่อย ชาวต่างประเทศจำนวนมากอยากจะมาใช้ชีวิตวัยชราที่ไทยเป็นการถาวรเนื่องจากมีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งค่าของชีพที่เหมาะสมตามงบประมาณ การบริการแทบทุกอย่างดีมากรวมทั้งการแพทย์และพยาบาล การคมนาคมการสื่อสารระหว่างประเทศและภายในประเทศสะดวกสบาย

ใครได้มาเมืองไทยแล้วกลับไป ก็จะกล่าวขานถึงความน่ารักของชาวไทยในการต้อนรับบริการ อาหารการกินที่อร่อย สาธารณูปโภคในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองยอดเยี่ยม คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส มีการฉลองเทศกาลต่างๆมากมาย แทบจะทุกคนหากมีโอกาสจะกลับมาอีก ชาวไทยเวลาไปต่างประเทศกลับมาถึงบ้านรู้สึกสุขใจและดีใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย

ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาของประเทศเวียดนามเองได้ออกมาเพื่อวิเคราะห์ว่าเวียดนามก็มีปัญหาใหญ่อยู่หลายประการเช่นผู้ปกครองกดดันให้เด็กทำคะแนนให้ได้สูงสุด เน้นการกวดวิชา เกิดความเครียดในครอบครัว นักเรียนจะถูกดันให้ทุ่มเทการเรียนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่นไม่ให้ความสำคัญ การบ้านท่วมหัว และระบบการสอนเป็นการป้อนข้อมูลจากครูสู่นักเรียนและใช้วิธีจำเพื่อสอบ แต่นักเรียนขาดความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาชีวิตจริงไม่เป็นและไม่เก่งด้านมนุษยสัมพันธ์

ครอบครัวมีค่านิยมให้เรียนสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งปริญญาตรีโทและเอก ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีงานทำตรงกับสายที่เรียนมา ขณะเดียวกันชาวเวียดนามหลายคนชื่นชมกับความคิดสร้างสรรค์และนิสัยของชาวไทย หลายกลุ่มได้เดินทางมาศึกษางานด้านการบริหารธุรกิจท่องเที่ยวและการแพทย์พยาบาลในไทยเพื่อเอาไปเป็นแม่แบบ

ผู้บริหารสิงคโปร์ก็กลัวว่ากำลังเดินทางผิดเพราะเน้นเรื่องวิชาการมากเกินไป และหลักสูตรการเรียนเป็นการป้อนแรงงานให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของชาวตะวันตก ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนจะมีชื่อเรื่องความเข้มขวดให้เด็กให้ทำการบ้านหนักและมีการกวดวิชาโดยเด็กไม่ได้พักผ่อน บางรายเรียนพิเศษถึง 11 ครั้งต่อสัปดาห์ สู้ทุกอย่างให้ได้เข้าสถาบันที่มีชื่อเสียงและหวังว่าจะได้งานที่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่เกิดปัญหาเรื่องชีวิตขาดความสุขเพราะไม่ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือศรัทธา

สองปีที่แล้วผมได้พบกับชาวสิงคโปร์ที่ตั้งรกรากอยู่กับครอบครัวในอีสานและเขายืนยันว่าเมืองไทยคือเมืองสวรรค์ อยู่ไทยชีวิตสบายง่ายดีและไม่มีแผนที่จะย้ายกลับไปสิงคโปร์อีก เพื่อนผู้เชี่ยวชาญการศึกษาท่านหนึ่งเคยกล่าวว่าถ้าตัดการกวดวิชาออก เด็กสิงคโปร์อาจจะได้คะแนนไม่ต่างกับเด็กไทยต่างจังหวัด หากเรายังวัดเรื่องความสำเร็จของการศึกษาโดยใช้การทดสอบความสามารถในการจดจำ เด็กที่มีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรครบถ้วนและเตรียมตัวเพื่อสอบพร้อมกว่าก็จะน่าได้คะแนนสูง

โครงสร้างเศรษฐกิจการทำมาหากินของโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครเดาได้ว่าอีกทศวรรษหน้ากติกาของเศรษฐกิจการเมืองจะเป็นอย่างไร หากเราคิดให้รอบคอบไม่กดดันให้เด็กเรียนเพื่อเอาปริญญามาไว้ก่อนเพื่อความอุ่นใจ ซึ่งเป็นการเสียทรัพย์และเวลา แต่หาทางประกอบอาชีพที่รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักค้นคว้าเอาข้อมูลที่มีอยู่รอบตัวอย่างคล่องแคล่ว น่าจะเป็นความมั่นคงมากกว่าที่จะมุ่งเรียนแบบการกวดวิชาและท่องจำ

“การศึกษาจะล้มเหลวไม่ได้ หากเราเองรู้จักปรับตัว”

หนุ่มน้อยชาวสุรินทร์และสองสาวชาวขอนแก่นเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชีวิตดำเนินได้หลายวิธี หากรู้จักคิดและไม่ติดกับเงื่อนไขค่านิยมแบบเก่าก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้และมีความสุขด้วยครับ
โพสต์โพสต์