มองต่างมุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

มองต่างมุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมพยายามสะท้อนว่า ทำไมคนส่วนใหญ่จึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจ “ไม่ดี” ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาลทุกตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างกว้างขวางแล้ว ทั้งนี้โดยการนำเสนอดัชนีราคาสินค้าเกษตรซึ่งไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นช่วงการเดินขบวนล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในกรุงเทพในปี 2014 นั้น ยิ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต้องตกต่ำลงอย่างมากจากดัชนีที่ 160.9 ใน 1Q 2014 มาเหลือ 78.2 ใน2Q 2014 ดังเห็นได้จากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในบรรทัด 2 ของตารางข้างล่าง

รูปภาพ

ผมไม่เห็นด้วยกับการจำนำ (ประกัน) ราคาข้าวสูงกว่าราคาตลาด แต่ความไม่สงบทางเมืองและการยึดอำนาจในปี 2014 ซึ่งทำให้ต้องยุติโครงการดังกล่าวอย่างฉับพลัน น่าจะทำความเดือดร้อนให้กับภาคการเกษตรของไทยอย่างมากและทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งเป็นภาคที่ได้ประโยชน์อย่างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา (ดูบรรทัด 3 ถึง 6)

ครั้งที่แล้ว ผมให้ข้อสังเกตว่าภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือ ภาคการส่งออกซึ่งในปี2018 มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 58.3% ของจีดีพี มากกว่าการบริโภคของภาคเอกชนที่50.7% ของจีดีพี แต่ภาคการส่งออกของไทยนั้นในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา คือ 2Q 2014 ถึง 4Q 2018 ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% (บรรทัด 7) กล่าวคือที่มูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้น 12.58%นั้น เป็นเพราะต้องเพิ่มปริมาณการส่งออกเกือบ 10% ในช่วงดังกล่าว เมื่อราคาขายไม่สามารถปรับขึ้นได้ ก็ต้องทำให้รู้สึกว่า “ เศรษฐกิจไม่ดี” อย่างแน่นอน ซึ่งในกรณีของผู้ที่ผลิตสินค้าแข่งกับสินค้านำเข้านั้น ก็จะยิ่งรู้สึกมากกว่าอีก เพราะราคาสินค้านำเข้านั้นปรับตัวลดลงไปถึง 3.9% (บรรทัด 9) ในช่วง 2014-2018 ดังกล่าว การที่ราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจไทยเพราะ

1.เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศมากกว่า 75% ของจีดีพี ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจึงย่อมมีผลโดยตรงกับจีดีพี ที่สำคัญคือประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก (จีดีพีของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.5% ของจีดีพีโลก) ดังนั้นราคาโลกจึงเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าของไทย เช่น ราคาข้าว ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม ยางพารา รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย นั้นย่อมถูกกำหนดโดยราคาตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ดังนั้นเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับเงินสกุลหลักทั้งหมด (หรือที่เรียกว่า NEER-nominal effective exchange rate) แข็งค่าขึ้นมากถึง 14.16% ในช่วง 2014-2018 (บรรทัด 11) ก็แปลได้ว่า หากเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากขึ้นถึงขนาดนั้น ราคาสินค้าส่งออกและสินค้าเกษตรคิดเป็นเงินบาทก็น่าจะสูงกว่าราคาปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ

3.น่าสังเกตด้วยว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท “จริง” คือค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศคู่ค้า เมื่อนำมาหักลบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าดังกล่าว (REER หรือ real effective exchange rate) พบว่ามีการแข็งค่าน้อยกว่าคือ แข็งค่าขึ้นเพียง 6.46% ซึ่งแปลความหมายให้เข้าใจได้ง่ายคือ ผู้ส่งออกและผู้ที่ผลิตแข่งกับสินค้านำเข้าของไทยต้องพยายามลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอดโดยการกดราคาสินค้าและวัตถุดิบในประเทศ (กดราคา supplier) ช่วยทำให้เงินเฟ้อในประเทศไทยโดยรวมต่ำกว่าเงินเฟ้อในต่างประเทศ กล่าวคือในประเทศไทยนั้นคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกและสินค้านำเข้าจะรู้สึกว่า “เศรษฐกิจไม่ดี” เพราะไม่มี pricing power เลย มีแต่ถูกกดดันให้ลดราคาสินค้ามากกว่า

4.กลับกลายเป็นว่าภาคเศรษฐกิจที่น่าจะยังมี pricing power นั้นเหลือแต่ภาคเศรษฐกิจที่ไม่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ หรือที่เรียกกันในภาษาวิชาการว่า non-traded goods (NTG) sector ได้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ (เพราะต่างชาติยังขนที่ดินและบ้านมาขายแข่งในประเทศไทยไม่ได้) ดังนั้นจึงเห็นราคาในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างเกินหน้าเกินตาภาคอื่นๆ (ดูบรรทัด 3 ถึง 6) และเมื่อทรัพยากรของประเทศถูกดึงดูดเข้าไปในภาคดังกล่าวเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้น นอกจากนั้นก็ยังเป็นภาคที่มีความรวยกระจุกตัวอยู่แล้ว ดังนั้นจึงจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น

5.การที่ทรัพยากรถูกดึงดูดไปสู่ภาค NTG นั้นเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุมาจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวกว่าประเทศคู่ค้าอื่นๆ เช่น เงินเฟ้อในสหรัฐเฉลี่ย 2% ต่อปีมา ตลอด4-5 ปีที่ผ่านมา แต่เงินเฟ้อของไทยนั้นแทบจะไม่มีเลย (หากไปดูที่ดัชนี CPI จะพบว่าเงินเฟ้อไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้นประมาณ 1%) เงินเฟ้อคือการเสื่อมค่าของเงิน ดังนั้นหากเงินเฟ้อของไทยเท่ากับ 0% ต่อปี แต่เงินเฟ้อของสหรัฐเท่ากับ 2% ต่อปี ในระยะยาวค่าเงินบาทก็จะต้องแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ประมาณ 2% ต่อปีเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยก็ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันและไปสู่อนาคตครับ แต่ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าได้เพราะกลัวความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นต้น
โพสต์โพสต์