แนวโน้มค่าเงินบาท (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

แนวโน้มค่าเงินบาท (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เรื่องของค่าเงินนั้น ปัจจุบันมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความกังวลว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากเกินไปทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบและมีการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลมิให้เงินบาทแข็งค่าเกินกว่า 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ในขณะที่ธปท.ก็บอกว่า เงินบาทมิได้แข็งค่าเกินกว่าเงินสกุลอื่นๆ มากนัก และไม่สามารถรับปากได้ว่าจะเข้าไปแทรกแซงไม่ให้เงินบาทแข็งค่า เพราะหากทำเช่นนั้น ก็เสี่ยงต่อการถูกกระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวหาได้ว่ามีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า

ผมคิดว่า เราควรจะพิจารณาในเชิงของปัจจัยพื้นฐานว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่กำหนดทิศทางของค่าเงินบาทในระยะยาว จึงจะสามารถประเมินได้ถูกต้องว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไรและหากต้องการปรับทิศทางของค่าเงินบาทให้เหมาะสมตามความต้องการนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในระยะสั้นนั้น จะมีปัจจัยมากมายที่สามารถกระทบกับค่าเงินได้ เช่น เรื่องการเมืองที่ไม่ได้คาดฝันเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ก็สามารถทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้อย่างฉับพลันในระยะสั้น หรือแม้กระทั่งตัวเลขการส่งออกในเดือน ม.ค. ที่ทรุดตัวต่ำกว่าคาดอย่างมาก ก็สามารถกระทบกับค่าเงินบาทได้ในทันทีที่ตลาดรับรู้ตัวเลขในกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นต้น

แต่หากจะถามว่า ปัจจัยหลักอะไรก็จะกำหนดทิศทางของค่าเงินบาทในระยะกลางและระยะยาวนั้น ก็คงจะต้องตอบว่าน่าจะมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าของไทย โดยผมขอขยายความเกี่ยวกับดุลบัญชีเดินสะพัดในครั้งนี้ครับ

- ดุลบัญชีเดินสะพัดคือรายได้ที่ประเทศไทยได้รับจากการขายสินค้าและบริการให้กับต่างประเทศ (บวกกับผลตอบแทนของการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งยังไม่น่าจะมีมากนัก) ลบด้วยรายจ่ายของไทยในการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ กล่าวคือหากรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็แปลว่าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ (ขอใช้ศัพท์ว่าเงินดอลลาร์) มากกว่ารายจ่ายที่เป็นดอลลาร์ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็แปลว่ามีเงินดอลลาร์เหลือใช้ที่ต้องการแปลงกลับเป็นเงินบาทและเมื่อมีอะไรที่เหลือเกินความต้องการ (ในกรณีนี้คือเงินดอลลาร์) ราคาของสิ่งนั้นก็จะต้องลดลง กล่าวคือเมื่อมีคนต้องการขายดอลลาร์มากว่าคนต้องการซื้อดอลลาร์ด้วยเงินบาทราคาของเงินดอลลาร์ก็จะต้องลดลง เช่นจากเดิมที่ต้องใช้เงิน 33 บาท ซื้อ 1 ดอลลาร์ ปัจจุบันสามารถใช้เงินเพียง 31 บาทเพื่อซื้อเงิน 1 ดอลลาร์
ในกรณีเช่นนี้จะมีการพูดกันว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสามารถมองเช่นนั้นได้ โดยตีความว่าประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง จึงขายสินค้าและบริการได้มากกว่าซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศ แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น เป็นการสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเท่ากับ 10% ของจีดีพี แปลว่าประเทศไทยผลิตสินค้าและบริการได้ 100 บาท แต่ใช้จ่ายเพียง 90 บาท กำลังซื้อขาดไป 10 บาท ทำให้ต้องเอาสินค้าและบริการที่ผลิตออกมาเกินความต้องการภายในประเทศไปขายให้กับต่างชาติ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง คือ การเก็บเงินเอาไว้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ยอมใช้เงิน ซึ่งสำหรับประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่สำหรับประเทศที่ยังยากจนและมีหลายภาคส่วนที่ยังขาดแคลนทรัพยากรอย่างมาก ไม่น่าจะเป็นสิ่งพึงปรารถนา รวมทั้งการกล่าวกันบ่อยครั้งว่าประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เพราะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (6 ล้านล้านบาท) แปลว่าประเทศไทยเอาเงิน (กำลังซื้อ) ไปกองเอาไว้เฉยๆ มากมาย เศรษฐกิจไทยซึ่งมีจีดีพีมูลค่าประมาณ 15 ล้านล้านบาทนั้น มีเงินทุนสำรองเพียง 2 ล้านล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอเหลือเฟือ โดยเฉพาะเมื่อการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแปลว่าเงินทุนสำรองนั้น มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเดินดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น คือ การขาดกำลังซื้อ ซึ่งแปลว่ามีการออมมากเกินความต้องการในการลงทุน (savings > investment) ตรงนี้แปลในเชิงลบว่าประเทศไทยไม่มีความน่าลงทุนเพียงพอที่จะใช้เงินออมทั้งหมดของประเทศ ทำให้ธปท.ต้องพยายามมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมให้บริษัทไทยย้ายเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศ กล่าวคือ จะไม่ทำให้สภาวะการขาดแคลนกำลังซื้อในต่างประเทศมีอาการดีขึ้น แต่เป็นการสกัดมิให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาความน่าลงทุนในประเทศให้เพิ่มขึ้นโดยเร็ว

แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจัยที่ต้องใช้ประกอบกับการลงทุนคือ แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติและเทคโนโลยีนั้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยปัจจุบันไม่ได้มีมากมายเหมือนสมัยก่อน โดยเฉพาะในส่วนของแรงงาน (ซึ่งประชากรกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว) และทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับเรื่องของเทคโนโลยีนั้น เรื่องที่เป็นพื้นฐานสำคัญในความเห็นของผมคือ 5G ที่จะมีการลงทุนสร้างระบบใหม่นี้ขึ้นมาทั่วโลกใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่กรณีของไทยนั้น ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการรวบรวมคลื่นความถี่ที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก และผู้ประกอบการที่ขาดเงินลงทุนเพราะต้องเสียเงินประมูล 4G ไปจนเกือบหมดตัวแล้ว

ในกรณีข้างต้น ทางเลือกจะมีอยู่ไม่มากคือ จะต้องพยายามส่งเสริมให้นำเงินทุนออกนอกประเทศมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณใกล้เคียงกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หากต้องการให้เงินบาทไม่แข็งค่า หรือต้องยอมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจนหมดจากการชะลอตัวของการส่งออกและการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าที่เป็นผลพวงจากการแข็งค่าของเงินบาท

ตอนต่อไปผมจะเขียนถึงเงินเฟ้อว่ามีผลต่อค่าเงินบาทอย่างไรครับ
โพสต์โพสต์