นอนหลับไม่เพียงพอ (1) เสี่ยงอันตราย-โรค Alzheimer”s

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

นอนหลับไม่เพียงพอ (1) เสี่ยงอันตราย-โรค Alzheimer”s

โพสต์ที่ 1

โพสต์

นอนหลับไม่เพียงพอ (1) เสี่ยงอันตราย-โรค Alzheimer”s
โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมซื้อหนังสือ “Why we sleep” เขียนโดย Prof Matthew Walker แห่งมหาวิทยาลัย California Berkeley ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 ราคาประมาณ 500 บาท ซึ่งผมต้องยอมรับว่าคุ้มค่าในเชิงของการให้ความรู้อย่างท่วมท้นเกี่ยวกับประโยชน์ของการนอนหลับให้เพียงพอ และทำให้เข้าใจถึงภัยอันตรายที่ร้ายแรง หากนอนหลับไม่เพียงพอ

ในครั้งนี้ ผมจะเขียนถึงเรื่องการนอนหลับไม่เพียงพอ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะโรค Alzheimer”s และในตอนต่อไปก็จะสรุปสาระของหนังสือของ Prof Walker ในส่วนของผลร้ายจากการนอนหลับไม่เพียงพอในการนำไปสู่โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็ง ตลอดจนการลดภูมิต้านทานโรคและการทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สำหรับท่านที่ไม่ต้องการจะรออ่านในส่วนที่ผมสรุปเป็นภาษาไทย ก็สามารถอ่านได้จากหน้า 157-163 ในส่วนของโรค Alzheimer”s และในส่วนที่เหลือก็จะอยู่ที่บทที่ 8 หน้า 164-189 ของหนังสือดังกล่าวครับ

ในส่วนแรกของหนังสือนั้น จะปูพื้นเกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับ และการนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งมีสาระสำคัญและน่าสนใจในเชิงวิชาการมากมายว่า ทำไมมนุษย์จึงต้องนอน (เพราะหากไม่จำเป็นแล้ว ก็น่าจะวิวัฒนาการ (evolve) ให้ไม่จำเป็นต้องนอนหลับเลย เพราะการนอนหลับมีความเสี่ยงจากภัยอันตรายและเสียเวลาอย่างมาก หากไม่จำเป็นจริง ๆ แล้ว พันธุ์มนุษย์ที่นอนน้อยย่อมน่าจะครองโลก)

และกล่าวถึงผลกระทบอย่างกว้างขวางกับสมรรถนะของมนุษย์ในเชิงลบ เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้ ผมจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะเราน่าจะได้เคยประสบมาด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า เวลาอดนอนนั้นสมรรถภาพของเราจะต้องด้อยลงอย่างแน่นอนเช่น งานวิจัยเมื่อปี 2016 โดย AAA Foundation ที่กรุงวอชิงตันเก็บข้อมูลจากผู้ขับขี่รถยนต์ 7,000 คน เป็นเวลา 2 ปี พบว่า คนที่นอนหลับน้อยกว่า 4 ชั่วโมงนั้น ในวันต่อมามีโอกาสประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชน มากกว่าคนที่นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงถึง 10 เท่าตัว ในขณะที่คนที่นอนหลับ 4-5 ชั่วโมงนั้น มีความเสี่ยงจะประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนที่นอนหลับ 7-8 ชั่วโมง ถึง 4 เท่าตัว เป็นต้น

ในส่วนของโรค Alzheimer”s นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นโรคที่รู้จักมานานเกือบ 120 ปีแล้ว แต่เป็นโรคที่ยังไม่มียาอะไรรักษาได้ และบริษัทยาหลายแห่งประสบความล้มเหลวในการค้นคว้าหายารักษามาโดยตลอด เช่น Axovant, Merck, Biogen, Prana Biotech และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท Pfizer, Eli Lilly และ Roche ก็ประสบความล้มเหลวเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัท Pfizer ประกาศเมื่อต้นปีที่แล้ว (2018) ว่าจะยกเลิกการค้นคว้าหายารักษาโรคสมองเสื่อมทุกชนิด แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโอบามา ได้ผ่านกฎหมาย National Alzheimer”s Project Act 2012 ซึ่งมีเป้าหมายให้กำจัดโรค Alz-heimer”s ให้ได้ภายในปี 2025 และได้รับอนุมัติงบประมาณให้เปล่าจากรัฐบาลสหรัฐ ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาโดยตลอด

ซึ่งในปี 2018 นั้นเข้าใจว่า การวิจัยหายารักษาโรค Alzheimer”s นั้นได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐมากถึง 1,900 ล้านเหรียญ ทำให้เห็นว่าการรักษาโรค Alzheimer”s นี้ ยากเย็นแสนเข็ญมากเพียงใด และปัจจุบันนั้นประเมินว่า มีคน (ส่วนใหญ่ ผู้สูงอายุ) เป็นโรคนี้มากถึง 40 ล้านคน (ขนาดมีลูกค้ารออยู่ 40 ล้านคน บริษัท Pfizer ยังต้องถอย)

ข้อเท็จจริง คือ การนอนหลับไม่ปกตินั้นอาจเป็นสัญญาณภัยที่จะบอกเหตุได้ว่า ต่อไปจะทำให้เป็นโรค Alzheimer”s ทั้งนี้ ข้อสรุปทางวิชาการในขณะนี้ คือ

1.การนอนหลับไม่ดี (sleep disturbance) จะเป็นอาการที่เกิดก่อนการเป็น Alzheimer”s (precedes the onset of Alzheimer”s disease by several years) (หน้า 157)

2.กว่า 60% ของคนไข้ที่เป็นโรค Alzheimer”s จะมีความผิดปกติประเภทใดประเภทหนึ่งเกี่ยวกับการนอนหลับ (clinical sleep disorder) (หน้า 158)

3.การนอนหลับไม่ปกตินั้น ทำให้อาการเป็น Alzheimer”s รุนแรงยิ่งขึ้น แต่ Alzheimer”s เองก็จะส่งผลให้นอนหลับอย่างปกติได้ยากมากยิ่งขึ้นเช่นกัน กล่าวคือความรุนแรงของโรคทั้งสอง จะทวีความรุนแรงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ “Sleep disruption and Alzheimer”s disease interact in self-fulfilling negative spiral that can initiate and/or accelerate the condition” (หน้า 158)

จากการอ่านบทความทางวิชาการ (ซึ่งมีความยากและสลับซับซ้อนสำหรับคนธรรมดาอย่างผม) ก็พอจะเข้าใจว่า โรค Alzheimer”s นั้นน่าจะเกิดจากการสะสมของโปรตีน 2 ประเภทมากเกินไป คือ beta amyloid และ tau ซึ่งในส่วนของ beta amyloid และ tau นั้น หากมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะครอบคลุมสมองในลักษณะของหินปูน (plaque) ทำให้ neuron และ synapse ของสมองไม่สามารถทำงานส่งสัญญาณไฟฟ้าด้วยเคมีตามปกติได้

งานวิจัยของ Prof Walker นำผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่มีปริมาณ beta amyloid ในสมองต่างกัน (ทั้งสูงและต่ำ) มาให้เรียนรู้สิ่งใหม่ และให้นอนหลับ 1 คืน หลังจากนั้นก็จะสอบถามว่า จำความรู้ใหม่ดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผลคือ คนที่มี beta amyloid มาก จะนอนหลับโดยเฉพาะการหลับลึก (deep sleep) ได้น้อย จะเป็นกลุ่มที่จำความรู้ใหม่ไม่ได้เลย

จึงสรุปว่า “the amyloid plaque of Alzheimer”s disease may be associated with loss of deep sleep” (ข้อสรุปคือเราควรจะหลับลึกคืนละ 1 ชั่วโมง กับ 45 นาที และนาฬิกาประเภท activity tracker เช่น Apple Watch Garmin Fitbit และ Xiaomi เป็นต้น สามารถวัดการหลับลึกได้ โดยผมเรียงลำดับจากราคาแพงไปหาถูกครับ)

การนอนหลับลึกสำคัญอย่างไร Prof Walker เล่าถึงการทำวิจัยของ Dr. Nedergaard ที่ University of Rochester พบจากการทำการทดลองกับหนูว่ามีระบบทำความสะอาดในสมอง เรียกว่า glymphatic system ประกอบด้วย glial cells ที่ “เก็บขยะ” ที่อันตรายที่เกิดขึ้นในสมองระหว่างที่เราใช้สมองทำงานระหว่างวัน และ glymphatic system นี้ แม้จะทำงานอยู่บ้างในระหว่างวัน แต่ยังทำงานน้อย แต่จะเพิ่มการทำงานเป็น 10-20 เท่าตัว ในช่วงที่นอนหลับลึก

ซึ่งการทำงานนี้ใช้คำว่า “night time power cleanse” โดยเพิ่มการใช้น้ำจาก cerebrospinal fluid เพื่อ “อาบน้ำ” ให้สมองสะอาดหมดจดอีกครั้ง ในระหว่างการหลับลึก ซึ่งในช่วงที่หลับลึกดังกล่าว glial cells จะหดตัวลง 60% ทำให้น้ำ cerebrospinal fluid สามารถชำระล้างสิ่งที่เป็นพิษออกให้อย่างหมดจดอีกด้วย

การชำระล้างดังกล่าวจะล้างออกทั้ง beta amyloid และ tau ดังนั้นหากไม่สามารถนอนหลับลึกได้เพียงพอก็จะมีการก่อตัวมากขึ้นของโปรตีนทั้งสองประเภท ซึ่งจะส่งผลให้นอนหลับได้ไม่ดี และนอนหลับลึกได้น้อยลง จึงจะยิ่งทำให้มีการสะสมของ beta amyloid และ tau เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ Alzheimer”s แพร่ขยายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะสมองก็จะยิ่งมีความสามารถในการขจัดโปรตีนทั้งสองลดลงไปอีก

ทั้งนี้ Dr. Walker ทำนายว่า getting too little sleep across the adult lifespan will significantly raise your risk of developing Alzheimer”s disease และให้ข้อสังเกตว่า ทั้งนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher ของอังกฤษ และประธานาธิบดี Ronald Regan ของสหรัฐ ซึ่งภูมิใจว่าตนนอนน้อยเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อคืนนั้น เสียชีวิตด้วยโรค Alzheimer”s (แม้แต่ประธานาธิบดี Trump ที่พูดว่า ตนเองนอนหลับคืนละไม่กี่ชั่วโมง ก็คงจะต้องระวังตัวเองเอาไว้ด้วย)

Dr. Walker สรุปว่า การวิจัยผู้ที่มีอายุวัยกลางคน และผู้สูงวัยที่รักษาโรคการนอนหลับผิดปกติ หายเป็นปกติได้ จะช่วยชะลอการเกิดโรค Alzheimer”s ได้นานถึง 5-10 ปี
โพสต์โพสต์