Masayoshi Son แห่ง SoftBank (2) โดย วีระพงษ์ ธัม

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

Masayoshi Son แห่ง SoftBank (2) โดย วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Masayoshi Son แห่ง SoftBank (2)

จุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่มักจะเริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ เสมอ มาซาโยชิในเวลานั้นใช้เวลาเพียง 5 นาทีทุก ๆ วัน เพื่อจะ “คิดค้น” สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เขาหวังว่าจะนำมันไปขายสิทธิบัตรและจะได้เงินมาสร้างธุรกิจ เขาค้นคว้าตำราในห้องสมุดอย่างหนัก เพื่อหาว่าการสร้างสิ่งใหม่ ๆ นั้นจะต้องทำอย่างไร และในที่สุดสิ่งที่มาซาโยชิตกผลึกเมื่อ 40 ปีที่แล้วคือสิ่งที่สังคมธุรกิจเช่น startup/tech ต่าง ๆ ในไทยเพิ่งมาคุยกันไม่กี่ปีนี้เอง ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงเดินก่อนคนอื่นหลายก้าวเสมอ ๆ

สิ่งที่เขาค้นพบในวันนั้นคือ 3 วิธีที่จะนำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ วิธีแรกคือ “การคิดแก้ปัญหาคนอื่น” หรือหา pain point ของผู้บริโภค เช่น ดินสอที่มีทรงกลมอาจจะกลิ้งตกลงมาบนโต๊ะได้ง่าย ดินสอจึงต้องออกแบบเป็นทรงเหลี่ยม วิธีที่สองคือ เราควรแก้ปัญหาแบบนอกกรอบ แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ เช่น ถ้าคนอื่นทำให้ใหญ่ขึ้นดีขึ้น เราก็ลองหาวิธีทำให้เล็กลงแทน อย่างที่เราเห็นในยุค 60-80s รถญี่ปุ่นขนาดเล็กที่ชนะรถอเมริกันที่แข่งกันทำเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ๆ ได้ วิธีที่สามคือ การเอาสองสิ่งที่มีอยู่แล้วมาผสมกันเป็นสิ่งใหม่ ๆ เอาวิทยุมารวมกับเครื่องเล่นเทป เป็นต้น ด้วย “กรอบความคิด” ที่เป็นระบบนี้เอง ทำให้มาซาโยชิสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้มากมายบนสมุดโน้ตของเขา

อีกสิ่งหนึ่งที่เขาประดิษฐ์ในเวลาเดียวกันคือ การ “ประดิษฐ์ชีวิตตัวเอง” มันคือแผน 50 ปีของเขา ในอายุ 20 เขาจะเริ่มธุรกิจ อายุ 30 เขาจะมีเงินอย่างน้อย 100,000 ล้านเยน อายุ 40 จะหาวิธีสร้าง “อาณาจักรธุรกิจ” ที่ยิ่งใหญ่ และอายุ 50 จะทำให้อาณาจักรของเขาสำเร็จ และส่งมอบให้รุ่นต่อไปตอนเขาอายุ 60 แผนการแรกในอายุ 19 ก็คือการสร้างสิ่งประดิษฐ์ เขาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เรื่อง “การจับคู่” และความน่าจะเป็น เพื่อนำไอเดียที่ดีที่สุดที่เขาคิดได้ในเวลานั้นมาเริ่มต้น ซึ่งมันคือเครื่องสังเคราะห์เสียง (speech synthesizer) ที่ช่วยออกเสียงมนุษย์และแปลภาษามนุษย์ได้ ต้นแบบสิ่งที่เราใช้อย่าง Google translate ในปัจจุบัน

คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตมาซาโยชิ คือ Professor Forrest Mozer อาจารย์ของเขาเองที่มหาวิทยาลัย UC Berkeley ความก้าวหน้าทางวิทยาการของอเมริกาต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นการผสมผสานระหว่าง “องค์ความรู้” ในมหาวิทยาลัยกับ “ความมุ่งมั่น” ของผู้ประกอบการ มาซาโยชิคือเด็กอายุ 19 ที่มีแววตาที่มุ่งมั่น ไม่มีทุน และอันที่จริงไอเดียของเขาในเวลานั้น Prof.Mozer คิดว่าไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่ แต่อาจารย์ก็มองเห็นอะไรในตัวมาซาโยชิ และให้โอกาสเด็กคนนี้ ไม่กี่เดือนถัดมา เขาและทีมก็สามารถผลิต chip แปลภาษาได้สำเร็จ

เทคโนโลยีไม่ใช่จุดสำคัญที่ทำให้มาซาโยชิชนะ แต่ด้วยรูปแบบธุรกิจและไอเดียการตลาดต่างหากที่เขาได้เปรียบ เช่น การสร้างชื่อให้หมู่คนญี่ปุ่นในอเมริกา เขาได้ยอดสั่งซื้อจำนวนมากจากบริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้น เขาส่งจดหมายไปบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก และเข้าไปสาธิตวิธีใช้ มาซาโยชิเป็นนักขายตัวยง นอกจากนั้นเขารู้ว่าจุดตายคือการออกแบบที่ทำให้เครื่องมีขนาดเล็ก พกพาได้สะดวก เขาจึงพยายามหาผู้ร่วมพัฒนา และเขาอยากได้ Sharp ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์ และมุ่งมั่นในเส้นทางนี้มาเป็น partner

ก่อนที่มาซาโยชิจะเข้าไปพบ Sharp ผู้ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในมุมมองของเขา ถึงเขาจะเป็นคนที่พุ่งไปข้างหน้า แต่ก็ทำด้วยความระมัดระวังและคิดอย่างรอบคอบก่อนเสมอ เขาวางแผนไปพบเพื่อนำเสนอให้กับ “ตัวเลือกรอง ๆ” ก่อน เพื่อจะซักซ้อมและเก็บไอเดียดี ๆ แม้ว่าหลายบริษัทขยี้และปรามาสความคิดของเขาไม่มีชิ้นดี ในที่สุดเขาก็ได้ไอเดียและพร้อมพอที่จะพบกับ Sharp และที่สุดแล้วมาซาโยชิก็ได้สัญญามูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐแรกตามที่เขาตั้งใจไว้

นอกจากนี้เขายังทำอีกหลาย ๆ ธุรกิจในขณะที่เรียน เช่นการนำเข้าตั้งตู้เกมดิจิทัลจากญี่ปุ่นซึ่งทดแทนตู้แอนะล็อกแบบเดิม อย่างตู้พินบอลให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นไอเดียธุรกิจใหม่สำหรับยุคนั้น ซึ่งก็เป็นธุรกิจที่สองที่ทำกำไรให้เขาเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เขาค่อย ๆ เริ่มสร้างปรัชญาธุรกิจตัวเอง เช่น 1.ต้องเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 2.ต้องใช้เงินทุนน้อย 3.ต้องสามารถเป็นผู้ชนะได้ 4.ต้องทำสิ่งที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนั้น สำเร็จตั้งแต่เขายังเรียนไม่จบ UC Berkeley และทันทีที่เขาจบ เขาก็บินกลับญี่ปุ่นตามที่สัญญากับพ่อแม่เขา ถ้าเป็นการแข่งขันวิ่ง เขาได้ออกวิ่งก่อนเด็กรุ่นเดียวกันหลายช่วงตัว

มาซาโยชิ ซันกลับประเทศญี่ปุ่น และเลือกที่จะไม่เปลี่ยนนามสกุลตนเอง นามสกุลซันนั้นบ่งบอกว่าเขาไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นแท้ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ปีถัดมาเขาก่อร่างสร้างธุรกิจที่ชื่อว่า SoftBank ที่มีความหมายว่า เป็น “ธนาคาร” ที่รวบรวมไอเดียที่ดีที่สุดของเขา และจนถึงวันนี้ไอเดียนั้นได้ออกดอกออกผล ผลิบานได้อย่างงดงาม และนี่คือประวัติช่วงต้นที่น่าอัศจรรย์ของคนดิจิทัลหัวใจแอนะล็อกที่มีความฝันที่จะทำให้ญี่ปุ่นกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งครับ
โพสต์โพสต์