เงินพอใช้หลังเกษียณหรือไม่/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

เงินพอใช้หลังเกษียณหรือไม่/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการบริษัทเกษียณสุข ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงาน กลต. ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทต่างๆ เพิ่มอัตราการสะสมเงินของตนเองในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สามารถออมและลงทุนให้เพียงพอต่อการใช้เงินหลังเกษียณ

    ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดมีขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกัน 1,146,921 ล้านบาท มีจำนวนสมาชิก 3,025,473 ราย คิดเป็นเงินเฉลี่ยต่อราย 379,088 บาท มีการจัดสรรเงินลงทุนอยู่ใน ตราสารหนี้ (หุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง เงินฝากธนาคาร บัตรเงินฝาก ฯลฯ) 67.59% อยู่ในหุ้นทุน 19.05% อยู่ในหน่วยลงทุน 13.06% และอยู่ในสินทรัพย์อื่นๆ 1.01% โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุนจะต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของกองทุนบำนาญภาครัฐของทั่วโลก

    โดยบริษัทสเตทสตรีทโกลบอลแอดไวเซอร์ รวบรวมไว้ว่า ณ สิ้นปี 2559 กองทุนบำนาญภาครัฐทั่วโลก มีการลงทุนในตราสารหนี้ 55.6% หุ้นทุน 33.4% (ในตลาดหลักทรัพย์ 28.2% หุ้นทุนนอกตลาด 5.2%) อสังหาริมทรัพย์ 6.3% และอื่นๆ 4.8%

    มีการศึกษาวิจัยหลายโครงการว่า มีเงินเท่าไรจึงจะพอใช้หลังเกษียณ  ดิฉันเคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่า ตัวเลขไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของท่านหลังเกษียณ  ท่านที่สมถะ อาจใช้เงินเพียงเดือนละ 10,000 บาท ท่านที่ต้องการอยู่อย่างสุขสบาย อาจต้องการใช้เงินเดือนละ 200,000 บาท จึงขึ้นอยู่กับว่าท่านอยากใช้ชีวิตอย่างไร

    แต่ไม่ว่าจะต้องการใช้ชีวิตอย่างไร เงินก้อนที่ต้องมีเพื่อเอาไว้ใช้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการออมและลงทุนให้บรรลุเป้าหมายค่ะ เพราะอย่างน้อยท่านก็ต้องมีเงิน 3 ล้านบาท จึงจะมีเงินใช้เดือนละ 10,000 บาท ไปอีก 25 ปี และตรงนี้ยังไม่ได้คำนวณเรื่องเงินเฟ้อนะคะ เพราะอนุมานว่า ท่านลงทุนได้อัตราผลตอบแทนเท่าอัตราเงินเฟ้อ และหากท่านต้องการใช้เงินเดือนละ 200,000 บาท ท่านต้องมีเงินถึง 60 ล้านบาทก่อนเกษียณค่ะ

    จากข้อมูลของ กลต. พบว่า ประมาณ 52% ของสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีเงินตอนเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งไม่พอที่จะใช้หลังเกษียณแน่นอน (เพราะหากลงทุนได้ผลตอบแทน 3%ต่อปี เงิน 1 ล้านบาท จะสามารถใช้เงินทั้งต้นและดอกเบี้ย ได้เพียง 4,742 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 25 ปี) สาเหตุคือออมไม่พอ และเลือกรูปแบบพอร์ตการลงทุนที่อนุรักษนิยมจนเกินไป เพราะในการออกแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ไม่ได้ออกแบบให้พนักงานหรือลูกจ้าง พึ่งพาเงินออมจากกองทุนนี้เพียงอย่างเดียว แต่หวังว่าพนักงานแต่ละคนจะออมเงินและลงทุนในรูปแบบอื่นๆเสริมด้วย

    อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติการ มักจะไม่ได้ออมเงินในรูปแบบอื่นเพื่อเตรียมไว้สำหรับการเกษียณอายุงาน เงินที่ได้รับจากการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเบี้ยชราภาพจากกองทุนประกันสังคม จึงเป็นแหล่งเงินเพื่อการเกษียณแหล่งใหญ่เพียงสองแหล่งสำหรับผู้เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง ซึ่งรวมกันแล้ว เขาเหล่านั้นจะมีเงินใช้หลังเกษียณไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน

    คนไทยต้องใช้วิธีบังคับค่ะ ถ้าไม่ถูกบังคับก็ไม่ยอมออม หากถูกบังคับก็จะบ่นเยอะหน่อยแต่ก็ต้องออม

    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนภาคสมัครใจค่ะ นายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงกันว่า ลูกจ้างจะยอมให้หักเงินค่าจ้าง เพื่อนำไปออมและลงทุน โดยนายจ้างจะช่วยจ่ายเงินสมทบให้ เริ่มได้ตั้งแต่ 2% ของรายได้ ไปจนถึงสูงสุดที่ 15% แต่กฎหมายเดิมบอกว่า ห้ามลูกจ้างสะสมเกินกว่าอัตราที่นายจ้างจะสมทบ และนายจ้างจำนวนมากไม่สามารถสมทบในอัตราสูงๆได้ เนื่องจากการสมทบเป็นค่าใช้จ่าย เป็นภาระทางการเงินที่ผูกพันระยะยาว  สมาคมบริษัทจัดการลงทุนจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย  หลังจากเรียกร้องมายาวนานหลายสิบปี  ปัจจุบันกฎหมายเปิดให้พนักงานหรือลูกจ้างสามารถสะสมเงินออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ในจำนวนที่มากกว่าที่นายจ้างสมทบ เพื่อความมั่นคงของอนาคตตัวเอง

    จากข้อมูลของ กลต. สัดส่วนของนายจ้างที่มีอัตราการจ่ายเงินสมทบสูงสุดในอัตรา 2-3% มีสัดส่วน 23.77% ของนายจ้างทั้งหมด จ่ายอัตราสูงสุด 3.01-5.0% มีสัดส่วน มากที่สุดคือ 33.07% จ่ายในอัตราสูงสุด 5.01-10.0% มีอัตราส่วน 30.59% และจ่ายในอัตราสูงสุด 10.01-15.0% มีสัดส่วน 12.57%

    โครงการบริษัทเกษียณสุข ตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์เรื่อง “ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินพอ” พนักงานหรือลูกจ้าง ต้องคำนวณว่าแต่ละคนต้องการเงินเท่าไรเมื่อเกษียณ และมีเครื่องมือช่วยคำนวณ และบริษัทจัดการลงทุนที่เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะช่วยพนักงานในการเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายในการออมและความสามารถในการรับความเสี่ยงของพนักงานค่ะ

    ทั้งนี้พนักงาน(อาจ)จะพบว่าต้องมีการออมเพิ่ม ซึ่งหากมีการแก้ไขข้อบังคับกองทุนให้สามารถเปิดให้พนักงานเลือกสะสมได้เกินกว่าระดับที่นายจ้างสมทบ เช่น พนักงานต้องการสะสมเต็มเพดาน 15% พนักงานก็จะมีการเก็บออมเพิ่มเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่สบายขึ้น

    เพียงเปิดให้พนักงานมีโอกาสออมเพิ่ม นายจ้างก็เท่ากับได้ทำบุญแล้วค่ะ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่หลังเกษียณของพนักงานและครอบครัวดีขึ้น และหากจะปรับเงินสมทบเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งดีค่ะ ทั้งนี้เป็นการช่วยประเทศชาติในทางอ้อมด้วย เพราะภาระของรัฐในการดูแลผู้สูงวัย เมื่อเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้นั้น หนักหนามากทีเดียวค่ะ รัฐไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงแน่นอน ถ้าเรามีคนแก่และจนจำนวนมาก

    แฟนคอลัมน์นี้ ต้องไม่เป็นภาระของรัฐค่ะ เราจะเกษียณอย่างสุขสบาย เหมือนที่แฟนคอลัมน์ท่านอื่นๆได้เกษียณไปแล้วและรายงานผลมา  เงินจะเป็นก้อนใหญ่ต้องมีสามปัจจัย คือ จำนวนเงินที่ออม ระยะเวลาการออมที่ยาว และอัตราผลตอบแทนที่ดี ขาดข้อใดข้อหนึ่งไปก็ต้องเอาปัจจัยอื่นมาชดเชย เช่น เริ่มออมช้า หรือเลือกการลงทุนที่อนุรักษนิยมจนเกินไป ก็ต้องออมด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้น หรือออมด้วยจำนวนเงินที่น้อย ก็ต้องใช้ระยะเวลาการออมที่ยาวขึ้น

    แฟนคอลัมน์นี้จะดูแลตัวเองด้วยการออมตั้งแต่อายุยังน้อย ออมอย่างมีวินัย เพิ่มอัตราการออมเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น และเลือกลงทุนอย่างระมัดระวังในแผนการลงทุนที่ทำให้เงินเติบโต โดยไม่อนุรักษนิยมจนเกินไป
[/size]
โพสต์โพสต์