ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมเกริ่นถึงอดีตเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว ที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น มีความใกล้ชิดกลมเกลียวกันอย่างมากจนมีการบัญญัติคำศัพท์ใหม่เพื่อสะท้อนความใกล้ชิดดังกล่าวคือคำว่า Chimerica ซึ่งแปลในเชิงปฏิบัติว่า จีนขายสินค้าให้สหรัฐจนสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนปีละหลายแสนล้านเหรียญ แต่จีนก็นำเอาเงินที่ได้มาจากการขายสินค้าให้กับสหรัฐมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพื่อให้ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐลดลง และผันเงินดอลลาร์กลับไปให้สหรัฐสามารถใช้จ่ายเกินตัวต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แต่เป็นที่ทราบทั่วกันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้มองว่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐมีสาเหตุมาจากการใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐ แต่ทรัมป์เชื่อว่าการขาดดุลการค้าแปลว่าสหรัฐกำลังถูกประเทศคู่ค้าเอาเปรียบ จึงต้องข่มขู่และแก้ปัญหาโดยการขึ้นภาษีศุลกากร ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจะไม่ขอพูดถึงเพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้แพร่หลายอยู่มากมายแล้ว ประเด็นของผมคือข้อเรียกร้องของทรัมป์ให้ลดการขาดดุลการค้านั้นมีเหตุผลหรือไม่ และจีนจะยอมรับได้หรือไม่ คำตอบคือไม่มีเหตุผลที่จะไปโทษจีนเป็นหลัก แต่หากผมเป็นประเทศจีน ผมก็จะพร้อมที่จะลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐให้เหลือศูนย์โดยเร็ว กล่าวคือหากการลดการขาดดุลการค้ากับจีนเป็นจุดมุ่งหมายหลักของสหรัฐเพื่อการปรับความสัมพันธ์กับจีนให้ไปสู่สภาวะปกติ ผมเชื่อว่าจีนจะร่วมมืออย่างแข็งขันและเร่งลดการเกินดุลกาค้าอย่างต่อเนื่องด้วยความจริงใจ

เหตุผลหลักๆ คือเศรษฐกิจจีนพัฒนามามากแล้วจนไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากเช่นอดีต กล่าวคือ ปัจจุบันการส่งออกโดยรวมนั้นมีสัดส่วนประมาณ 12% ของจีดีพี และส่วนที่ส่งออกไปสหรัฐนั้นมีสัดส่วนประมาณ 4% ของจีดีพี ซึ่งหากการค้าเกินดุลกับสหรัฐเป็นปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด ก็น่าจะเชื่อได้ว่าจีนจะพยายามลดทอนการค้ากับสหรัฐเพื่อปลดเปลื้องประเทศจากปัญหาดังกล่าวนี้กับสหรัฐอย่างถาวร แต่คงจะต้องใช้เวลาในระดับหนึ่ง ประเทศจีนเองก็ต้องการขยายการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นการช่วยให้ประชาชนจีนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น การผลิตสินค้าราคาถูกให้ประชาชนสหรัฐโดยแลกกับกระดาษ (เงินดอลลาร์) นั้นดูน่าจะไม่จำเป็นมากนักสำหรับจีนที่มีทุนสำรองถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้นปัจจุบันการบริโภคของจีนมีสัดส่วนต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพีคือเพียง 38% ทั้งนี้การบริโภคนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-55% ของจีดีพี ในกรณีของประเทศไทยและ 70% ในกรณีของประเทศสหรัฐฯ

แต่ข้อเรียกร้องของสหรัฐมิได้มีแต่เรื่องของการขาดดุลการค้า ตรงกันข้ามผมเชื่อว่านักวิเคราะห์สหรัฐทุกคนก็รู้ดีว่าแม้ทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมดในอัตรา 25% 30% หรือ 40% สหรัฐก็จะยังขาดดุลการค้า อาจจะไม่ขาดดุลการค้ากับจีน แต่จะขาดดุลการค้าโดยรวม และอาจจะขาดดุลการค้ารวมมากกว่าเดิมก็ได้ เพราะจะต้องนำเข้าสินค้าที่ราคาแพงกว่าสินค้าของจีนจากแหล่งผลิตอื่นๆ กล่าวคือการข่มขู่จะขึ้นภาษีศุลกากรนั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่ทีมของทรัมป์เชื่อว่าจะมีประสิทธิผลในการบังคับให้จีนทำตามสิ่งที่สหรัฐเรียกร้องจากจีนในเรื่องของการเปิดตลาดการค้าและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า

กล่าวคือผมไม่เชื่อว่า การลดการขาดดุลการค้าเป็นเรื่องหลักที่สหรัฐต้องการคาดคั้นจากจีน อันที่จริงแล้วมีรายงานข่าวจาก Wall Street Journal ว่าจีนได้รวบรวมข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหรัฐและพบว่ามีรวมทั้งสิ้น 142 ข้อ ซึ่งจีนบอกฝ่ายสหรัฐว่าจีนพร้อมเจรจาด้วยเพื่อลดความขัดแย้งใน 122 ข้อ แต่อีก 20 ข้อนั้นจีนจะไม่ยอมเจรจาด้วย ไม่มีใครทราบว่า 142 ข้อคืออะไรบ้างและ 20 ข้อที่จีนไม่ยอมเจรจานั้นคืออะไรบ้างเช่นกัน แต่ผมประเมินว่าจะสามารถแบ่งแยกทั้ง 142 ข้อเป็น 4 หมวดหมู่ได้ดังนี้

    - การกีดกันการเข้าสู่ตลาดของสินค้าทั่วไป (market access)
    - การบังคับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (forced technology transfer)
    - การจารกรรมเทคโนโลยีทางไซเบอร์ (cyber espionage)
    - ยับยั้งยุทธศาตร์ Made in China 2025 ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ให้รัฐบาลจีนสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจจีนพัฒนาเป็นบริษัทชั้นนำในเทคโนโลยีล้ำหน้าใน 10 สาขา เช่น รถขับเอง (autonomous vehicles) ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) และ 5G เป็นต้น

ผมมีความเห็นว่า 3 ข้อแรกนั้นเป็นเรื่องที่จีนพร้อมเจรจากับสหรัฐ แต่จะต้องใช้เวลายาวนาน ส่วนหนึ่งเพราะจีนต้องการปกป้องผลประโยชน์ระยะสั้นในการปิดกันตลาดสินค้าของตนเองเอาไว้เป็นข้อต่อรองในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถไล่ทันและนำหน้าสหรัฐ แต่ก็คงจะรับรู้ว่าการบังคับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการปล่อยปละละเลยให้มีการจารกรรมเทคโนโลยีนั้น เป็นเรื่องที่สหรัฐสามารถหาพันธมิตรเช่นสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมาร่วมกดดันจีนได้ นอกจากนั้นพฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้จีนไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการสนับสนุนระบบการค้า/การลงทุนเสรี และจะไม่สามารถอ้างตัวว่าเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจพหุภาคีเปิดที่เน้นการมีกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานที่เที่ยงธรรมได้

แต่หมวดที่ 4 เรื่อง Made in China 2025 นั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงน่าจะไม่สามารถตอบสนองท่าทีของสหรัฐได้เลยครับ
[/size]
โพสต์โพสต์