ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในตอนที่แล้วผมสรุปว่า เมื่อใดที่ราคาแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน (Lithium ion หรือ Li-ion) ราคาลดลงครึ่งหนึ่งจากราคาปัจจุบัน 208 เหรียญต่อ 1 kWh เหลือ 100 เหรียญต่อ 1 kWh ต้นทุนรวมในการใช้รถไฟฟ้า (Electric vehicle หรือ EV) จะต่ำกว่าต้นทุนรวมในการใช้รถสันดาปภายใน (รถ internal combustion engine หรือ ICE) เพรารถ EV นั้น ค่า “น้ำมัน” ถูกกว่ารถ ICE อยู่แล้ว และค่าบำรุงรักษาก็ต่ำกว่ารถ ICE อย่างมาก เพราะมีชิ้นส่วนที่สึกหรอเพียง 20 กว่าชิ้นหรือประมาณ 1/100 ของจำนวนชิ้นที่สึกหรอได้ของรถ ICE (เช่นรถ EV ไม่มีท่อไอเสีย ไม่ต้องเปลี่ยนหัวเทียน ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่มีหัวฉีด ไม่มีหม้อน้ำ ไม่มีเกียร์ ฯลฯ) แต่การเปลี่ยนจากรถ ICE เป็นรถ EV นั้นจะมีผลต่อระบบการขนส่งอย่างกว้างขวาง เพราะรถ EV จะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้เป็นรถขับเอง (self-driving vehicle หรือ autonomous vehicle, AV) ซึ่งเทคโนโลยีในด้านนี้กำลังถูกพัฒนาอย่างเร่งรีบ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา นางMary Barra ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทรถยนต์จีเอ็ม (General Motors, GM) ประกาศว่าจีเอ็มจะเริ่มให้บริการขนส่งส่วนบุคคลแบบ ride-sharing (เช่นเดียวกับ Uber) โดยรถของจีเอ็มจะเป็นรถที่อาศัยเทคโนโลยีด้านการขับเคลื่อนเองหรือ AV โดยนาง Barra บอกว่าจีเอ็มจะแสดงให้เห็นว่ารถ AV นั้นปลอดภัยกว่ารถที่มนุษย์ขับเอง โดยกล่าวว่า “GM’S vehicles are safer than human drivers” ที่ความเร็วสูงสุดเท่ากับ 50 กม.ต่อชั่วโมง โดยในขั้นแรกจะเริ่มให้บริการในบริเวณจำกัดก่อน ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นมลรัฐซานฟรานซิสโก

ทำไมรถ EV จึงเหมาะที่จะนำไปดัดแปลงเป็นรถ AV? เพราะเป็นรถที่ใช้งานได้หลายแสนกิโลเมตร โดยไม่สึกหรอมากและค่า “น้ำมัน” ก็ไม่สูงมาก รถส่วนตัวนั้นใช้งานเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง เวลาที่เหลือจอดอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน ทำให้ต้นทุนที่สูงเป็นลำดับต้นสำหรับรถส่วนตัวคือการเสื่อมค่าตามอายุของรถ (รถจะราคาตกทุกปี แม้ว่าจะใช้น้อยหรือไม่ใช้เลย) และค่าจ้างคนขับรถ (ขับเองก็ไม่อยากขับแล้วในภาวะรถติดปัจจุบันหาก) ดังนั้นการลดต้นทุนการขนส่ง จะมาจากการมีบริษัทที่เป็นเจ้าของรถหลายแสนคันที่ขับเองได้แล้วขายบริการขนส่งให้กับผู้บริโภค (ride sharing) แทนการเป็นเจ้าของรถของตัวเอง ในส่วนของผู้ประกอบการ ride sharing นั้นก็จะสามารถทำกำไรคล้ายกับเครื่องบิน low cost บินขึ้น-ลงตลอดเวลา เพื่อให้มีการใช้อุปกรณ์ (รถยนต์) อย่างคุ้มค่า (high turnover)

ที่กล่าวข้างต้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่พูดกันในเชิงทฤษฎี เพราะหากดูข้อมูลจากตารางข้างล่างจะเห็นว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นผู้บุกเบิก EV, AV นั้น ราคาหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นของบริษัทจีเอ็มอย่างมาก (หากจะเปรียบเทียบกับบริษัทรถยนต์อื่นๆ ก็จะได้ข้อสรุปเหมือนกัน)

รูปภาพ

กล่าวคือจีเอ็มจ้างงานมากถึง 180,000 คน และผลิตรถยนต์ปีละเป็นสิบล้านคันทั่วโลก แต่มูลค่าหุ้นโดยรวม (market cap) ของจีอีที่ 51,200 ล้านเหรียญนั้น ยังต่ำกว่ามูลค่าหุ้นของ Tesla ที่ 58,200 ล้านเหรียญ แม้ว่า Tesla จะขาดทุนมาตลอด 8 ปีหลังการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่จีเอ็มทำกำไรทั้งสิ้น 70,000 ล้านเหรียญในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้น Tesla ก็ผลิตรถได้เพียงปีละ 100,000 คันหรือ 1/100 ของการผลิตของจีเอ็ม แต่นักลงทุนก็ยังมีความเชื่อว่า Tesla เป็นผู้บุกเบิกทั้งในด้าน EV และ AV สำหรับ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) และ Apple นั้นก็เป็นที่รู้จักกันดีว่าเข้ามาร่วมลงทุนและเป็นผู้บุกเบิกในด้าน AV อย่างเด่นชัดเช่นกัน ผมหมายความว่าผู้ถือหุ้นของจีเอ็มและบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อื่นๆ ย่อมจะต้องกดดันให้บริษัทรถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน EV และAV เพราะจะทำให้ราคาหุ้น (กำไรในอนาคต) สามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด

เทคโนโลยีที่จะทำให้ AV เป็นไปได้จริง คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง “ตา” ให้รถ AV มองเห็นและการนำเอาข้อมูลดังกล่าวมาประมวลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะ “ขับ” รถอย่างไรจึงจะถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งในส่วนของการมองเห็นนั้นน่าจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Lidar และในส่วนของการ “ขับ” รถก็จะเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) ส่วนของเอไอนั้น ผมเชื่อว่าน่าจะพัฒนาได้รวดเร็วมาก เพราะเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ผ่านมาบริษัท Christie ได้ประมูลขายรูปวาดโดยปัญญาประดิษฐ์ที่ทำราคาสูงถึง 432,500 เหรียญ สูงกว่าราคาที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินถึง 45 เท่า

ผมคิดว่าส่วนของเทคโนโลยีของเอไอในการ “ขับ” รถยนต์นั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหนือความสามารถของผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ และน่าจะสามารถสร้างระบบขับรถเองได้ภายในเวลา 5-10 ปี พร้อมกับวิวัฒนาการที่จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงอีกครึ่งหนึ่งของราคาปัจจุบัน อย่างไรก็ดีปัญหาหลักน่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดเกณฑ์ของการตัดสินใจในกรณีคับขัน เช่น สมมุติว่ารถ AV ที่มีครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก 4 คนนั่งอยู่ ขับผ่านสี่แยกและเสี่ยงที่จะถูกรถโดยสารนักเรียน 20 คนที่มาจากทางขวาพุ่งชนอย่างรุนแรง เพราะเบรกไม่อยู่ และสมมุติอีกว่าหากรถยนต์เร่งหลบออกไป ก็จะชนกับคนที่จะเดินข้ามถนน ในกรณีนี้จะต้องให้รถยนต์พุ่งชนคนเดินถนน 1 คน เพื่อช่วยชีวิตคนในรถยนต์และเด็กนักเรียนในรถโดยสารใช่หรือไม่ และจะคำนวณเปรียบเทียบชีวิตของคนอย่างไร อาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและยืดเยื้อ ก่อนที่จะให้มีรถ AV วิ่งกันอย่างแพร่หลายครับ
โพสต์โพสต์