แนวโน้มที่ไม่สู้ดีนักของเศรษฐกิจโลก (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

แนวโน้มที่ไม่สู้ดีนักของเศรษฐกิจโลก (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

เดือนต.ค.ที่กำลังจะหมดลง ถือว่ามีข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีในเกือบทุกภูมิภาคของโลก โดยอาจมี “ข่าวดี” เพียงข่าวเดียวว่าสหรัฐมิได้เปิดประเด็นเศรษฐกิจอีกเรื่องหนึ่ง เพราะรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐนั้น ไม่ได้ระบุประเทศใดเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีคลังสหรัฐออกมาส่งสัญญาณว่า อาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการกำหนดว่าประเทศใดบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่ยึดโยงแต่เพียง 3 เงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย (คือ1. ประเทศคู่ค้าที่เป็นประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ ซึ่งสหรัฐขาดดุลการค้าด้วย 20,000 ล้านเหรียญ หรือมากกว่า 2. ประเทศคู่ค้าที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3% -ของจีดีพีขึ้นไป และ 3. ประเทศคู่ค้าที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน จนกระทั่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2% ของจีดีพี หรือมากกว่านั้น )

ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ อาจกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมคือ พิจารณาการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนจากการอ่อนค่าของเงินสกุลอื่นๆ เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ และกดดันให้ประเทศที่ค่าเงินอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้เงินของตนไม่อ่อนค่าลงไปอีก เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ แปลว่าประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่รัดตัวมากขึ้นและปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินที่อิสระได้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ประเทศซึ่งเศรษฐกิจยังขยายตัวช้าและเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าเช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและแม้กระทั่งจีน ก็น่าจะยอมรับได้ยาก ดังนั้น เรื่องนี้คงจะต้องคิดตามดูต่อไปว่ากระทรวงการคลังของสหรัฐ จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเพื่อ “จับผิด” ประเทศคู่ค้าให้จงได้ตามความต้องการของประธานาธิบดีทรัมพ์หรือไม่

ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญมากนัก ในความเห็นของผม แต่เรื่องที่โลกกำลังเป็นห่วงมากที่สุดนั้น น่าจะเป็นผลพวงจากการกีดกันการค้า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบอย่างจริงจังในปลายปีนี้ เป็นต้นไป (แต่ตัวเลขการหดตัวของการส่งออกของไทยในเดือนกันยายนนั้น ต้องยอมรับว่า ผลกระทบจากการกีดกันการค้า อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้) ทั้งนี้ ตลาดเคยมีการคาดหวังอย่างยิ่งว่าหลังการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐในวันที่ 6 พ.ย.แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์จะหันมาเจรจาการค้าอย่างจริงกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่ความหวังดังกล่าวดูจะเจือจางลงไป เพราะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาวคือ นาย Larry Kudlow ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จีนไม่ยอมเจรจากับสหรัฐ ที่สำคัญ นาย “Wilbur Ross รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐ ตอบคำถามของ CNBC เกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประธานาธิบดี ทรัมป์ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในวันที่ 30 พ.ย. ที่การประชุมผู้นำ G20 ว่าจะมีเวลาพบประกันน้อยมาก (ไม่เกิน 1 ช.ม.) ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวังว่าจะมีการเจรจา และ/หรือ ทำความตกลงทางการค้าอย่างกว้างขวาง และครบถ้วนได้

ผมตีความว่า นาย Ross ไม่ต้องการให้เกิดการคาดหวังว่าปัญหาการค้า จีน สหรัฐ จะได้รับการแก้ไขภายในปลายปีนี้ ซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงที่สหรัฐจะเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นไปจาก 5-10% เป็น 20-25% ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งจีนก็คงต้องตอบโต้ และประธานาธิบดีทรัมพ์ก็ได้ขู่เอาไว้ว่าจะต้องตอบโต้การตอบโต้ของจีน โดยเก็บภาษีสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนทั้งหมดมูลค่ารวม 5 แสนล้านเหรียญ

ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลก ที่บาหลีนั้น รองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟคนหนึ่ง กล่าวว่า หากเกิดการทำสงครามทางการค้าอย่างกว้างขวาง ไอเอ็มเอฟประเมินว่า จีดีพีของโลกอาจลดลงไปได้ถึง 1% (ประมาณ 8 แสนล้านเหรียญ) นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟก็ยังได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในปี 2019 ลงไปแล้วจาก 3.9% มาเป็น 3.7% อีกด้วย

แต่เรื่องความเป็นห่วงปัญหาการกีดกันการค้านั้น ผมคิดว่าตลาดรับรู้ไปมากแล้ว ยังไม่น่าจะส่งผลกระทบไปมากกว่าที่สะท้อนอยู่ในตลาดเงินตลาดทุน ที่ราคาสินทรัพย์ก็ได้ปรับตัวลงไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงโดยรวมนั้น จะเห็นผลอย่างชัดเจนในปีหน้า ทำให้เชื่อได้ว่าการส่งออกของไทยในปีหน้า ตลอดจนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คงจะโตต่ำกว่า 4% ในความเห็นของผม

นอกจากนั้น ก็ยังจะมีปัจจัยลบอื่นๆ ที่ตลาดอาจจะยังไม่ได้คาดการณ์ถึง ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงในครั้งต่อไป ได้แก่ เรื่องของดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ เรื่อง Brexit และ อื่น ๆ ครับ
[/size]
โพสต์โพสต์