ลงทุนหุ้นอเมริกา โดย วีระพงษ์ ธัม

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

ลงทุนหุ้นอเมริกา โดย วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ลงทุนหุ้นอเมริกา

ถ้าพูดถึงการลงทุนในหุ้นอเมริกา กลุ่มที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้คงไม่พ้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และผมเพิ่งจบโครงการ THAIVI GO USA ที่เป็นการร่วมมือกับ JITTA.COM เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลการลงทุนคุณภาพระดับโลกแก่นักลงทุน พวกเราพาสมาชิกเดินทางเข้าเยี่ยมชมกิจการ เช่น Facebook, Google ใน Silicon Valley และเข้าร่วมงานเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Tech Crunch ในคอนเซ็ปต์ปีนี้ที่ชื่อว่า Disrupt SF และผมอยากแชร์ควันหลงบางเรื่องจากสิ่งที่น่าสนใจมากมายตลอดการเดินทาง

จุดเริ่มต้นของ Silicon Valley ซึ่งเป็นชื่อรวม ๆ ของบริเวณ Bay Area แถบเมือง San Francisco คือการเกิดอีโคซิสเต็มที่สร้างบริษัทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกในวงการคอมพิวเตอร์มากมาย นับตั้งแต่ยุคแรกที่เป็นฮาร์ดแวร์อย่าง INTEL, AMD, NVDIA, Apple เกิดบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Adobe, Ac-tivision Blizzard, Autodesk และมาถึงยุคที่เกิด Yahoo, Google, Facebook, Salesforce, Twitter

รวมไปถึงบริษัทที่กำลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง Uber, Airbnb, Robinhoods เรียกได้ว่าตั้งแต่ 1940s ที่ Hewlett และ Packard ใช้โรงรถตัวเองสร้างบริษัท และ William Shockley คิดค้น Silicon อารยธรรมคอมพิวเตอร์ของมนุษยชาติ รวมไปถึงจิตวิญญาณผู้คิดค้นก็เริ่มต้นที่นี่ ตั้งแต่วันนั้นที่นี่คือศูนย์กลางของโลกในด้านเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์

พวกเรามีโอกาสได้เยี่ยมบริษัทหลายแห่ง และเห็นถึงวิธีการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่าง ซึ่งโดยหลักนั้นเกิดขึ้นจาก “ผู้นำ” หรือ “ผู้ให้กำเนิดบริษัท” และที่สำคัญกว่าคือ ขึ้นกับ “อายุ” ของบริษัท บริษัทที่อายุน้อยกว่า ก็มักมีความเซ็กซี่หนุ่มแน่นกว่า เช่น Facebook หรือ Airbnb บรรยากาศบริษัทเหล่านี้จะเหมือนอยู่มหาวิทยาลัย ทำงานที่ไหนก็ได้ มุมไหนของตึกก็ได้ มีโรงอาหารฟรี เปิดให้กินตลอด บางบริษัทไม่นับวันลาหยุด พนักงานจะหยุดเมื่อไหร่ นานเท่าไหร่ก็ได้ ตราบใดที่คุณยังสามารถนำส่งผลงานได้ และจะมีอายุเฉลี่ยวิศวกรน้อยกว่าที่อื่น

แตกต่างจากบริษัทที่มีอายุมากขึ้นอย่าง Google ที่เริ่มดูเหมือนวัยกลางคนมีความขี้เล่นน้อยลง เนื่องจากอายุทั้งของบริษัทและของพนักงานที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้ก็ยังให้ “อิสระ” กับพนักงานพอสมควร วิธีการของ Google คือ การแยกพนักงานที่เน้น “หาเงิน” ออกจากพนักงานที่ “คิดค้น” สินค้าใหม่ ๆ เพราะเงินนั้นเป็นอุปสรรคให้การคิดค้นนวัตกรรมมีข้อจำกัด และพนักงานทุกคนมีจิตวิญญาณการ “พัฒนาตัวเองตลอดเวลา”

ผมมีโอกาสไป Microsoft และ Adobe ที่ Seattle ด้วย ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า องค์กรที่เก่าแก่มากขึ้น ก็ยิ่งทำอะไรยาก เนื่องจากมีข้อจำกัด อันที่จริง บริษัทใน Silicon Valley ยุคหลัง ๆ เริ่มสูญเสียจิตวิญญาณไปพอสมควร การเป็นพนักงานบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้คนอยู่ใน comfort zone มากขึ้น รายได้ดี มั่นคง เติบโตไปตาม career บริษัทที่ใหญ่ก็ใหญ่ จนบริษัทขนาดเล็กหาช่องว่างโอกาสธุรกิจได้ยากขึ้นมาก มากไปกว่านั้น “ต้นทุน” การใช้ชีวิตในบริเวณนี้สูงขึ้นอย่างสุดกู่ ราคาบ้านขึ้นหลายเท่าตัว เรียกได้ว่า ถ้า “สตีฟ จ็อบส์” ต้องมาเปิดโรงรถในเวลานี้ คงต้องเครียดกับการผ่อนบ้านมากกว่าการนั่งประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ

ในบรรดาบริษัทที่เก่าแก่ บริษัทที่ค่อนข้างฉีกตัวเองออกมาได้อย่างสวยงาม คือ Apple ทั้งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ผมรู้สึกว่าบริษัทไม่ได้แก่เหมือนอายุ เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นการขยับตัวเองออกจากบริษัทเทคโนโลยี แต่เป็นแฟชั่น หรือเป็น lifestyle เรียบร้อยแล้ว

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บัฟเฟตต์ซื้อหุ้น ความสามารถในการวิวัฒนาการส่งผลให้ Apple เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก Apple Store ทุกสาขามีคนแน่น ทั้ง ๆ ที่สินค้าเหมือนกัน ลูกค้าดูมากี่รอบต่อกี่รอบ ก็ยังต้องมนต์สะกด กับสินค้า ร้านที่ตกแต่งอย่างสวยงามทันสมัย และอารยธรรมที่ Apple สร้างขึ้น

ระหว่างการเดินทางผมรู้สึกภูมิใจที่มีคนไทยจำนวนมากสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมใน Silicon Valley มากมาย แม้จะเสียดายอยู่บ้างว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่มีที่รองรับคนที่มีความสามารถเหล่านี้ จากการพูดคุย ผมพบว่าในวิศวกรคอมพิวเตอร์ Silicon Valley นั้น มีคนจีนและอินเดียเป็นสัดส่วนสูงสุด เรียกได้ว่าเกินครึ่งของพนักงานทั้งหมด คนชาวอเมริกันส่วนมากจะเป็นผู้บริหาร หรือดูแลฝั่งการตลาดเสียมากกว่า

ในการสัมมนา Tech Crunch นอกจากการโชว์เทคโนโลยีรุ่นใหม่ ก็ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ท่ามกลางความรุ่งเรืองของ Silicon Valley ในอีกฟากหนึ่งของโลก คือ จีนก็เริ่มเติบโตเป็นคู่แข่ง เริ่มมีคนจีนที่นี่ทยอยกลับบ้าน เพราะโอกาสมากกว่า

คำถามที่ถูกถามบ่อย ๆ คือการแข่งขันระหว่างจีนและอเมริกา ใครจะเป็นผู้ชนะ ? Dr.Kai Fu Lee ผู้ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง AI Super Powers พูดบนเวทีว่า “คุณอย่าถามเรื่องของจีน ให้ลองไปที่นั่น แล้วใช้ชีวิตสัก 1 เดือน เพื่อสัมผัสมันอย่างจริงจัง คุณจะได้เห็นอะไรมากมายที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้”

ทำให้ผมนึกถึง Jack Ma ที่มาอเมริกาเมื่อปี 1995 และนำเอาจิตวิญญาณของ Silicon Valley ไปก่อตั้ง Alibaba ดูเหมือนกับว่า ยุคนี้ พ.ศ.นี้ โลกหมุนกลับ และลมเริ่มเปลี่ยนทิศเสียแล้ว
โพสต์โพสต์