ผู้มีความมั่งคั่งสูงลดความเสี่ยงลง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ผู้มีความมั่งคั่งสูงลดความเสี่ยงลง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individuals) ตามนิยามสากล คือผู้มีความมั่งคั่งสุทธิตั้งแต่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.5 ล้านบาทขึ้นไป   ทุกๆปีดิฉันจะนำผลการสำรวจพอร์ตการลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลกมาให้ท่านเป็นข้อมูล  ในปีนี้ต้องขออภัยที่เขียนถึงช้าไปหน่อย เพราะแหล่งข้อมูลออกมาช้ากว่าที่เคยเป็น และดิฉันก็มัวแต่เขียนถึงเรื่องอื่นๆ

    ข้อมูลจากการสำรวจของ Capgemini พบว่า ผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก เพิ่มจำนวนขึ้น 1.6 ล้านคน รวมเป็น 18.1 ล้านคน ณ สิ้นปี 2560  โดยทวีปเอเชีย ซึ่งมีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงแซงหน้าทวีปอเมริกาเหนือมาตั้งแต่ปี 2558 ล่าสุดมีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงรวม 6.2 ล้านคน ตามมาด้วยอเมริกาเหนือ 5.7 ล้านคน ยุโรป 4.8 ล้านคน ตะวันออกกลาง 0.7 ล้านคน ละตินอเมริกา 0.6 ล้านคน และอัฟริกา มีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูง 0.2 ล้านคน (อาจบวกไม่ลงตัวเนื่องจากการปัดเศษ)

    ผู้มีความมั่งคั่งสูงเหล่านี้ มีความมั่งคั่งรวมกัน 70.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,282 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10.6% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนโดยทั่วไป แต่การเพิ่มขึ้นนี้ มาจากสองส่วนนะคะ จากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และจากรายได้อื่นที่ได้รับเพิ่มด้วยค่ะ

    การแบ่งกลุ่มย่อยของผู้มีความมั่งคั่งสูงยังแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มมีความมั่งคั่งตั้งแต่ 1 ถึง 5 ล้านเหรียญ คาดว่ามีอยู่ประมาณ 16.26 ล้านคนทั่วโลก  กลุ่มที่มีความมั่งคั่งกลุ่มกลาง คือมี 5 ถึง 30 ล้านเหรียญ คาดว่ามีจำนวน 1.65 ล้านคน และกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงสุด ที่ดิฉันเรียกว่าอภิมหาเศรษฐี คือมีความมั่งคั่งตั้งแต่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 975 ล้านบาทขึ้นไป มีอยู่ประมาณ 174,800 คน

    เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการเพิ่มของทั้งจำนวนคน และจำนวนเงิน ของคนที่อยู่ในกลุ่มรวมที่สุด สูงกว่ากลุ่มรองลงมา แปลว่ายิ่งรวยก็ยิ่งรวยขึ้นค่ะ (ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างที่กว้างขึ้นที่ดิฉันเคยเขียนอยู่บ่อยๆ และจะเขียนถึงอีกในไม่ช้านี้)

    พอร์ตการลงทุนของตัวแทนกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่ Capgemini ทำการสำรวจมาพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2561 กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงได้ลดสักส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้และพันธบัตรลงประมาณ 2.2% ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุนลง 0.2% ลดสัดส่วนการทุนทางเลือกลง 0.3% และลดเงินสดลง 0.1% โดยนำไปลงทุนเพิ่มในอสังหาริมทรัพย์ 2.8% ท่านคงจะพอเห็นว่าการลดสัดส่วนนี้ สอดคล้องกับการเริ่มปรับตัวลดลงของตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นโลกในไตรมาสแรกของปีนี้ และการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์

    เศรษฐีในแต่ละภูมิภาคก็จัดพอร์ตแตกต่างกันค่ะ หากเฉลี่ยทั่วโลก จะพบว่ามีการลงทุนในหุ้นทุนในสัดส่วน 30.9% เงินสดและเทียบเท่าเงินสด 27.2% อสังหาริมทรัพย์ 16.8% ตราสารหนี้และพันธบัตร 15.8% และการลงทุนทางเลือก 9.4%

    เศรษฐีในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ลงทุนในหุ้นทุน 26.4% เงินสดหรือเทียบเท่า 26.2% อสังหาริมทรัพย์ 20.1% ตราสารหนี้และพันธบัตร 17.4% และการลงทุนทางเลือก 9.9%

    เศรษฐีในยุโรป ลงทุนในหุ้นทุน 28.7% เงินสด 21.9% อสังหาริมทรัพย์ 22.9% ตราสารหนี้ 15.8% และการลงทุนทางเลือก 10.7%

    ในขณะที่เศรษฐีญี่ปุ่นจะถือเงินสดมากกว่าใครเพื่อนมาแต่ไหนแต่ไร แต่ปีนี้มีมากเป็นพิเศษ คือมีเงินสดเงินฝากถึง 44.6% (แม้จะเสียค่าฝาก) มีการลงทุนในหุ้นทุน 29.7% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 11.2% ตราสารหนี้ 9.6% และการลงทุนทางเลือก 4.9%

    เศรษฐีละตินอเมริกา ลงทุนในหุ้นทุน 20.3% เงินสด 27.8% อสังหาริมทรัพย์ 21.1% ตราสารหนี้ 18.3% และการลงทุนทางเลือก 12.5%

    และเศรษฐีอเมริกาเหนือ ลงทุนในหุ้นทุนเป็นสัดส่วนมากที่สุด คือ 36.8% ถือเงินสด 22.5% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 12.4% ตราสารหนี้และพันธบัตร 18.1% และการลงทุนทางเลือก 10.2%

    ทั้งนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไม่นับรวมที่อยู่อาศัยหลักที่เศรษฐีเหล่านี้พักอาศัยอยู่นะคะ และการลงทุนทางเลือก จะรวมการลงทุนในตราสารจัดโครงสร้าง (Structured Products) กองทุนบริหารความเสี่ยง หรือ hedge funds  ตราสารอนุพันธ์ เงินตราสกุลต่างประเทศ โภคภัณฑ์ และการลงทุนในหุ้นนอกตลาด หรือ private equity ด้วย

    ดิฉันคาดว่าพอร์ตการลงทุนเหล่านี้คงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ออกมาฮึ่มๆจะทำสงครามการค้ากับประเทศต่างๆที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐมากๆ

    แต่ความเสี่ยงของโลกในปีนี้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ โอกาสเกิดสูงและผลกระทบก็รุนแรงมาก คือภัยพิบัติทางธรรมชาติค่ะ ระหว่างเขียนบทความอยู่ก็มีข่าวพายุทั้งเฮอริเคนและซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ตรงกับความวิตกของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ จากการสำรวจของ World Economic Forum เมื่อปลายปีที่แล้ว

    หากวิเคราะห์ลึกๆแล้ว ความเสี่ยงทั้งหลาย ล้วนเป็นความเสี่ยงที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีๆ เพราะภาวะโลกร้อน (global warming) หรือการกีดกันทางการค้า การสะสมอาวุธร้ายแรงเพื่อต่อสู้กัน การก่อการร้าย หรือการเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น

    ประเด็นคือ ทำอย่างไรจะจัดการลดโอกาสเกิดของความเสี่ยงต่างๆเหล่านี้  และหากป้องกันแล้ว ยังเกิดขึ้น ต้องวางแผน วางมาตรการลดความเสียหายจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีผลกระทบในทางลบให้น้อยที่สุด

    ขอให้ผู้อ่านทุกท่านอยู่รอดปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จากภัยธรรมชาตินะคะ สำหรับการลดความเสี่ยงจากการลงทุน สามารถทำได้ด้วยการวางแผนลงทุนที่ดี มีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆหลายๆประเภท ไม่กระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง และควรทบทวนพอร์ตการลงทุนทุกๆสามเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความเสียหายที่รุนแรงในการลงทุนค่ะ
[/size]
โพสต์โพสต์