ความเปราะบางของประเทศตลาดเกิดใหม่ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (1)

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ความเปราะบางของประเทศตลาดเกิดใหม่ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (1)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ผมแบ่งกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกมีความเปราะบางสูงมาก ได้แก่ อาร์เจนตินา ตุรกี และแอฟริกาใต้ ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่าเสมือนกับคนที่ตกลงจากหน้าผาสูงไปแล้ว และในกรณีของอาร์เจนตินานั้น ตกถึงพื้นกระดูกหักต้องนำเข้าไปผ่าตัดใหญ่ที่โรงพยาบาลไอเอ็มเอฟไปแล้ว และอาการก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะมีโรครุมเร้ามาก เช่น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อสูง หนี้สาธารณาสูง ซึ่งประเทศตุรกีและแอฟริกาใต้ก็จะมีความเสี่ยงในทำนองเดียวกันเกือบทุกประการ 3 ประเทศดังกล่าวนั้น มี จีดีพี รวมกันเท่ากับ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่สูงมากนัก คือเกือบ 2% ของ จีดีพีโลก จึงยังไม่ถือว่าจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มที่ 2 ถูกตลาดกดดันให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยและดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อปกป้องค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าลงไปอีก ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และบราซิล ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจบางประการ เช่น อินโดนีเซีย ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 2.5% ของ จีดีพี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมกับหนี้ต่างประเทศสูงถึง 36.3% ของ จีดีพี ส่วนบราซิลนั้น ก็มีเงินเฟ้อสูงถึง 4.5% และรัฐบาลขาดดุลงบประมาณสูงถึง 5.3% ของ จีดีพี และน่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะจะเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง สำหรับอินเดียนั้น ก็จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า และรัฐบาลก็ขาดดุลงบประมาณสูงถึง 3.6% ของ จีดีพี และเงินเฟ้อก็ค่อนข้างสูงที่ 4.2% ต่อปี

จีดีพี ของอินเดียนั้น เท่ากับ 2.6 ล้านล้านเหรียญ ตามด้วย บราซิล ที่ 2 ล้านล้านเหรียญ และอินโดนีเซียที่ 1 ล้านล้านเหรียญ รวมกันแล้วมากถึง 5.7 ล้านล้านเหรียญ หรือ 7% ของ จีดีพีโลก ประเทศกลุ่มนี้ น่าจะหลีกเลี่ยงปัญหารุนแรงทางเศรษฐกิจได้ โดยการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดให้เหมาะสมและทันท่วงที แต่ประเด็นคือ ประเทศกลุ่มนี้จะต้องชะลอเศรษฐกิจลง แปลว่า บทบาทในการขับเคลื่อนอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกในอนาคต จะมีข้อจำกัดอย่างมาก รวมกันทั้งสองกลุ่มจะมีมูลค่า จีดีพี ประมาณ เกือบ 10% ของ จีดีพีโลก ซึ่งจะต้องขยายตัวช้าลงในอนาคต 2-3 ปี ข้างหน้า

อีกประเทศหนึ่งที่การขยายตัวของจีดีพีกำลังอยู่ในขาลง คือ จีน ซึ่ง มี จีดีพีสูง ถึง 12 ล้านล้านเหรียญ กล่าวคือประเทศตลาดเกิดใหม่ชั้นนำที่เคยเป็นเสาหลักขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกคือ BRICS นั้น กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวลงทุกประเทศ เว้นแต่ รัสเซีย (จีดีพี 1.5 ล้านล้านเหรียญ) ดังนั้น ผมจึงกังวลว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020จึงไม่น่าจะแจ่มใสมากนัก และที่เคยพูดกันมากว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง (synchro nous global economic recovery) นั้น น่าจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินจริงมากกว่า

นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟ ได้คาดการณ์การขยายตัวของสหรัฐเอาไว้ว่า จีดีพีจะโต 2.9% ในปี 2018 ลดลงมาเป็น 2.7% ในปี 2019 และจะขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2020 1.7% ในปี 2021 1.5% ในปี 2022 และ 1.4% ในปี 2023

ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น? เพราะแรงขับเคลื่อนจากการลดภาษีรายได้บุคคลและรายได้นิติบุคคล ตลอดจนการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี ซึ่งเริ่มต้นในปี 2017 นั้น จะหมดกำลังลง ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป และในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐก็จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดยจากขาดดุล 666,000 ล้านเหรียญ (3.4% ของ จีดีพี) ในปี 2017 มาเป็น 1 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2019 และมีแต่จะสูงมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ ไป เท่ากับ 5% ของ จีดีพี แปลว่า นโยบายการคลังที่เป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2017-2018 (fiscal stimulus) จะมาฉุดรั้ง จีดีพี (fiscal drag) ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ทำให้ จีดีพีขยายตัวได้ช้าลง

รัฐบาลทรัมพ์มองว่า การขาดดุลงบประมาณจะต่ำและ จีดีพี จะขยายตัวสูง 3-4% ต่อปี อย่างต่อเนื่อง เพราะการลดภาษีจะจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพทางการผลิตในระยะยาว ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน แต่ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะนโยบายกีดกันการค้าที่ทรัมพ์ใช้กดดันประเทศคู่ค้าเกือบทุกประเทศจะทำให้การลงทุนต้องชะงักงัน เพราะความไม่แน่นอน และในประเทศสหรัฐเองก็มีการจ้างแรงงานจนเต็มศักยภาพแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถขยายการลงทุนได้มากนัก แต่จะเสี่ยงกับการต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2019 และ 2020
[/size]
โพสต์โพสต์