วิกฤตขนาดไหน? / คนขายของ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
คนขายของ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 792
ผู้ติดตาม: 122

วิกฤตขนาดไหน? / คนขายของ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วิกฤตขนาดไหน? / โดย คนขายของ

ความเชื่อเรื่องวิกฤตในตลาดหุ้นมักเกิดขึ้นทุก 10 ปีมักเป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงในช่วงปีที่ลงท้ายด้วยเลข 7 และ 8 ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า ในปี 1987 เกิดเหตุการณ์ Black Monday ดัชนี Dow Jones ลดลงมากถึง 22.61% ในวันที่ 19 ตุลาคม 1987 ต่อมาอีกสิบปีในปี 1997 ก็เกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย ทำให้ตลาดหุ้นไทยซบเซาต่อเนื่องกันยาวนานถึงห้าปี ตามมาด้วย วิกฤตอสังหาในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงตลาดหุ้นไทย ทำให้ดัชนีปรับตัวลงไปมากกว่า 50% มาในปี 2018 การปรับตัวลงของ SET INDEX หลังจากทำจุดสูงสุดที่ราว 1,840 จุดแล้วร่วงลงมาถึง 14% ตามมาด้วยการถล่มทลายของราคาในหุ้นบางกลุ่มมากกว่า 50% ยิ่งทำให้ความเชื่อวิกฤตทุก 10ปี ดูมีน้ำหนักมากขึ้น ในบทความนี้เราจะมาดูว่า วิกฤตจะมาทุก 10 ปีจริงไหม? และในรายละเอียดของแต่ละวิกฤตมีอะไรให้เราพอเรียนรู้ได้บ้าง?

หากเราเริ่มดูจากรายละเอียดของวิกฤต Black Monday ในปี 1987 เราจะเห็นว่าแท้จริงแล้ว เราไม่ควรเรียกว่าวิกฤต แต่เป็นเรื่องของ “Market Crash” หรือ ตลาดถูกถล่มด้วยแรงขายที่รุนแรงมากกว่า ทั้งนี้เพราะ ในปี 1987 การตกลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นไม่ได้ทำให้ ธนาคารหรือสถาบันการเงินล้มละลาย และถึงแม้ลงแรงถึงเกือบ 23% แต่ถ้าเทียบกับดัชนีตอนต้นปี 1987 ก็จะเห็นว่า ตลาดแทบไม่ได้ลดลงเลย และถ้ามองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 5 ปี เราก็จะเห็นว่า ดัชนี S&P500 นั้นเป็นขาขึ้นยาวนานมาตั้งแต่ปี 1982 โดยขึ้นมาจาก 122 จุด จนมาถึงจุดสูงสุดที่ 337 จุดในเดือนกันยายน 1987 ขึ้นมาเกือบสองเท่าในระยะเวลาห้าปี ดังนั้นการขายทำกำไรขนาดใหญ่ก็น่าจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และหลังจากนั้นไม่ถึงสองปี ดัชนีก็ทะลุจุดสูงสุดเดิม และเป็นขาขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน

ในส่วนของวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 1997 ซึ่งเริ่มจากไทยลดค่าเงินบาทนั้น ผมคิดว่าเป็นวิกฤตอย่างแท้จริง เพราะมีผลกระทบในวงกว้าง มีสถาบันการเงินล้มละลาย ผู้คนตกงาน ระบบเครดิตของประเทศมีปัญหา ตลาดหุ้นอยู่ในสภาวะซบเซายาวนานถึง 5 ปี และก็ไม่เคยได้เห็นระดับเหนือ 1000 จุดอีกเลยจนกระทั่งในอีก 13 ปีต่อมา สำหรับวิกฤตในปี 2008 นั้นก็นับเป็นวิกฤตที่สำคัญเพราะเกิดจาก ตราสารอนุพันธุ์ของอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ และขยายผลมาสู่สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจในภาพรวม และดูเหมือนจะมีผลในการทำลายล้างมากกว่าวิกฤตครั้งใดๆในอดีต แต่ด้วยนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ทำให้ตลาดหุ้นทั้งโลกกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่เดือน มีนาคม 2009 และเป็นขาขึ้นมาเป็นระยะเวลา 9 ปีจนถึงปัจจุบัน โดย SET ขึ้นมาถึง 3 เท่า เช่นเดียวกับ S&P500

แล้ววิกฤตจะมาทุก 10 ปีจริงไหม? โดยส่วนตัวผมคิดว่า เป็นเรื่องบังเอิญที่วิกฤตการเงินของเอเชียเกิดขึ้นใน 1997 เลยทำให้ตัวเลขปีที่ที่เกิดวิกฤตนั้นดูสอดคล้องกัน และทำให้นักลงทุนในภูมิภาคนี้หลายคนเชื่ออย่างนั้น แต่หากเราลองดูข้อมูลของตลาดหุ้นในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ว่าในสองทวีปหลักนั้นตลาดหุ้นเป็นอย่างไร? กลับพบว่า ดัชนี CAC ของฝรั่งเศสนั้นขึ้นอย่างถล่มทลายมากกว่า 40% ดัชนี DAX ของเยอรมัน ขึ้นไปถึง 54% และดัชนี S&P500 ของสหรัฐขึ้นไปเกือบ 30% ในช่วงเวลาหนึ่งปีหลังไทยลอยตัวค่าเงินบาท ดังนั้นถ้าเราไม่นับว่าการที่ตลาดลงแรงใน 1987 เป็นวิกฤต และ ในช่วงตั้งแต่ 1990-2000 ตลาดหุ้นในยุโรปและอเมริกาก็ไม่มีวิกฤตรุนแรงเกิดขึ้น ความเชื่อที่ว่าวิกฤตจะมาทุก 10 ปีดูเหมือนว่าจะมีน้ำหนักน้อยลง

แม้ในปีที่มีวิกฤตอย่างแท้จริงเช่นในเอเซียปี 1997 และ ทั่วโลกในปี 2008 ที่ตลาดหุ้นในผลตอบแทนโดยรวมเป็นลบ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหุ้นตัวใดให้ผลตอบแทนที่ดีเลย อย่างตอนที่ไทยลอยตัวค่าเงินบาท หุ้นส่งออกของไทยก็ได้ประโยชน์มากมาย กำไรโตขึ้นมหาศาล ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 หุ้นของร้านเสื้อผ้าราคาถูกอย่าง ROSS Stores ก็ยังปิดปีด้วยราคาสูงขึ้นถึงเกือบ 18% ยักษ์ค้าปลีกอย่าง Walmart ราคาขึ้น 20% บริษัทผลิตเครื่องดื่มอย่าง Anheuser Busch เจ้าของแบรนด์ Budweiser ราคาขึ้นถึง 39% ในขณะที่ S&P 500 ให้ผลตอบแทนติดลบถึง 37% ในปีแห่งวิกฤต

ตลาดหุ้นแห่งแรกในโลกถูกก่อตั้งที่กรุง Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 1602 ประมาณ 416 ปีที่แล้ว แต่ถึงกระนั้นนักลงทุนก็ยังไม่มีเครื่องมือที่จะช่วยคาดการณ์วิกฤตในตลาดหุ้นได้อย่างแม่นยำ เหมือนการเตือนภัยเรื่องแผ่นดินไหว สิ่งซึ่งนักลงทุนพอทำได้เพื่อให้อยู่ได้รอดปลอดภัยในตลาดหุ้น คือความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจที่เราถือหุ้นอยู่ เพื่อที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ นักลงทุนที่ดีมักเป็นนักอ่านแบบเข้มข้น มหาเศรษฐีอย่าง Bill Gates อ่านหนังสือปีละ 50 เล่ม Warren Buffett ใช้เวลา 80% ในแต่ละวันในการอ่าน เมื่อเรามีความรู้พอสมควร เราจะไม่กลัววิกฤตมากเกินไป เพราะถึงวิกฤตมาจริง เราก็มีความรู้พอที่จะเห็นโอกาสในวิกฤต ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะใหญ่ขนาดไหน และเมื่อวิกฤตผ่านไป รางวัลก้อนใหญ่ก็มักจะรออยู่โดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่รู้จักอดทนและรอคอย เหมือนที่ Charlie Munger ได้กล่าวไว้ว่า…“The big money is not in the buying and the selling…but in the waiting”
อดทนไว้ กำไรยั่งยืน
โพสต์โพสต์