สร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

สร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ใกล้ฤดูเกษียณอายุราชการ ดิฉันมักจะได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องการเกษียณอายุงานและการรับมือกับสังคมสูงวัย วันนี้จึงจะขอเล่าถึงบางส่วนของเรื่องที่ไปบรรยายและแสดงความเห็นไว้ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา 

    คำถามหนึ่งที่ผู้จัดงานถามคือรัฐควรมุ่งเน้นมาตรการใดเพื่อให้ประเทศไทยมีสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

    ก่อนอื่น ดิฉันต้องขอกล่าวถึง “สังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ” ก่อน เพื่อเป็นโจทย์ตั้งต้นว่า หากเราบรรลุถึงเป้าหมายเหล่านี้ ถือว่าเรามีสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มิฉะนั้น การตั้งเป้าหมายของเราจะดูเลื่อนลอยเกินไปค่ะ

    ในความเห็นของดิฉัน สังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ หมายถึง 5 M ดังนี้

    1. ผู้สูงวัยในสังคมมีสุขภาพดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ หรือหากเป็นภาษาอังกฤษ ก็เรียกว่า Healthy Mind & Body
    2. ผู้สูงวัยมีงานทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเต็มเวลาที่ได้เงิน หรืองานชั่วคราวในลักษณะไม่เต็มเวลา งานอดิเรก มีงานทำที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย (Meaningful) ซึ่งหากเป็นงานที่สามารถสร้างรายได้ก็ยิ่งดี
    3. มีขวัญและกำลังใจที่ดี มีสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีการเกื้อกูลกัน (Morale & Social)
    4. มีความสะดวกสบายในการเดินทาง ในการเคลื่อนที่ (Mobility) คือมีการคมนาคมสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย เช่น รถไฟฟ้า รถแท้กซี่ รถประจำทาง
    5. มีแรงจูงใจ มีความหวัง และมีการมองโลกในแง่ดี (Motivation, Hope & Optimism)
ถามว่ารัฐมีการจัดให้ หรือมีการสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพแล้วบ้างหรือยัง ดิฉันคิดว่ามีการทำเป็นบางส่วน แต่ส่วนใหญ่แยกๆกันทำ มองไม่เห็นภาพรวม

    สิ่งที่รัฐทำได้ดีคือเรื่องของ friendly design โดยมีคุณกฤษณะ ละไล เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อที่ 4. และเรื่องของสุขภาพจิตในข้อ 1. ซึ่งรัฐร่วมกับเอกชน ทำได้ค่อนข้างดี มีหนังสือธรรมะ รายการธรรมะออกมามากมาย ส่วนในเรื่องสุขภาพกายนั้น จะทำได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวและสถานะทางเศรษฐกิจ

    เรื่องงานที่ทำในข้อ 2. นั้น ยังไม่ค่อยเห็นใครทำเป็นกิจจะลักษณะ ยกเว้น ร้านหนังสือซีเอ็ด ร้านอีเกีย และน้ำมันบางจาก ที่รับผู้สูงวัยเป็นพนักงานขาย หรือพนักงานแนะนำสินค้าให้กับลูกค้า

    ถามว่าทำอย่างไรจะทำให้ผู้สูงวัยมีส่วนในเศรษฐกิจไทย

    ตอบว่า ต้องปรับแก้ทัศนคติก่อนค่ะ

    ประการแรกคือ แก้ไขทัศนคติของผู้สูงวัยเอง ที่มักจะคิดว่า “แก่แล้ว ไม่มีความหมาย”  “นั่งนับวันรอวันจากไป” “แก่แล้วไม่ต้องทำอะไรมาก” ฯลฯ เมื่อไม่มองไปข้างหน้า การจะเป็นผู้ใช้จ่าย การจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะหายไป

    ประการที่สองคือปรับแก้ทัศนคติของคนในสังคมโดยทั่วไปต่อการทำงานของผู้สูงวัย ต้องทำให้เป็นเรื่องธรรมดาในการที่ผู้สูงอายุจะทำงาน ไม่มองว่าเป็นการที่ “ลูกหลานทิ้ง”

    นอกจากนี้ เราควรจะต้องชื่นชมและสนับสนุน เพื่อให้ท่านเหล่านั้นมีกำลังใจ

    จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประชากรสูงวัยของประเทศไทย คือวัย 60 ปีขึ้นไปในปี 2560 มีจำนวน 10.0 ล้านตน ดิฉันคาดว่าปี 2561 นี้น่าจะเพิ่มเป็น 10.6 ล้านคน และในปี 2566 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น ใกล้ๆ 13 ล้านคน หากครึ่งหนึ่งของประชากรเหล่านี้ ออกมาทำงาน ออกมาใช้จ่าย จะมีส่วนของการเติบโตของจีดีพีเป็นอย่างมาก เพราะโดยทั่วไป ผู้สูงวัยที่กล้าใช้เงินมากๆจะเป็นเฉพาะกลุ่มฐานะดี ส่วนกลุ่มฐานะปานกลางลงมา จะไม่ค่อยกล้าใช้จ่ายค่ะ

    การบรรเทาปัญหาของประเทศที่มีคนสูงวัยจำนวนมาก และมีจำนวนไม่น้อยที่ “แก่ก่อนรวย” ดิฉันเสนอว่าต้องใช้มาตรการหลากหลาย และเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มต่างๆ

    ยกตัวอย่างเช่น ฐานะยากจน ต้องให้เงินอุดหนุน (Subsidy)  สุขภาพแข็งแรง ยังทำงานได้ ควรขยายอายุเกษียณ (Extend Retirement) หรือเพิ่มงานในลักษณะไม่เต็มเวลา (part time) ให้มากขึ้น

    ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องจัดอบรม จัดสอนทักษะใหม่ๆให้กับผู้ใหญ่ (Reskill) เพื่อให้สามารถไปทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อนได้ ต้องทำให้ผู้สูงวัยเชื่อในการเรียนรู้ตลอดชีวิต มั่นใจว่าจะสามารถฝึกทักษะใหม่ๆได้

    ดิฉันเห็นว่า ระบบสวัสดิการสุขภาพของเราดีมากแล้วในระดับหนึ่ง แต่อยากให้กระทรวงการคลังและสำนักตรวจเงินแผ่นดิน ใจกว้าง มองว่าสุขภาพทางการเงินก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาพกายและใจที่ดี ขอบเขตการทำงานของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงไม่ควรจำกัดเพียงสุขภาพกายและสุขภาพใจเท่านั้น หากคนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความลำบากของการที่ “เงินหมดแล้วยังไม่ตาย” เช่นเดียวกับที่ตระหนักถึงอันตรายของการไม่สูบบุหรี่ ของการเมาแล้วขับ จะช่วยกระตุ้นให้มีคนออมเงินและมีการลงทุนอย่างมีหลักการและเป้าหมายมากขึ้น

    การมุ่งเน้นบรรเทาปัญหาที่จะเห็นผลเร็วที่สุดคือ การสร้างหมอแก้หนี้ และการสร้างนักวางแผนการเงินให้เป็นตำแหน่งคล้ายๆ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ค่ะ

    สำหรับนวัตกรรมสินค้าทางการเงิน ที่นอกเหนือไปจาก การจำนองแบบย้อนกลับ หรือ Reverse Mortgage แล้ว การนำเสนอการเก็บออมผ่านการใช้จ่าย (Saving Through Spending หรือ STS) ซึ่งเป็นการนำเสนอจากนักศึกษาวิทยาการตลาดทุนรุ่นที่ 26 เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ดิฉันชอบค่ะ และที่อยากเห็นเพิ่มเติมคือ การปรับปรุงเรื่องการประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ดีพอ แต่ได้รับทราบจากเลขาธิการ กบข.ว่า ทางกบข.กำลังจะออกสินค้านี้ ซึ่งดิฉันคิดว่าดีมากๆค่ะ  โอกาสหน้าคงจะได้นำเสนอต่อไป
[/size]
โพสต์โพสต์