เรื่องสืบเนื่องจากรถไฟฟ้า/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

เรื่องสืบเนื่องจากรถไฟฟ้า/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงรถไฟฟ้าว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะพลิกผัน รถยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine หรือ ICE)ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
และเงื่อนไขสำคัญของการที่รถไฟฟ้าจะเข้ามาตีตลาดรถ ICE ภายใน 20 ปีข้างหน้า คือแบตเตอร์รี่ ที่มีความจุไฟสูง น้ำหนักเบา และต้นทุนการผลิตต่ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า กล่าวคือ หนังสือพิมพ์รายวัน Chunichi Shimbun ประเทศญี่ปุ่น รายงานในเดือน ก.ค. 2017 ว่า โตโยต้าจะเปิดตัวรถไฟฟ้าในปี 2022 ซึ่งจะติดตั้งแบตเตอร์รี่ all solid state ที่คาดว่าจะเป็น แบตเตอร์รี่แห่งอนาคต เพื่อมาแทนที่แบตเตอร์รี่ลิเธียม ไอออนที่ใช้อยู่ในรถไฟฟ้าในขณะนี้ (ซึ่งเป็นแบตเตอร์รี่ที่บรรจุของเหลว) โดยโตโยต้าบอกว่า แบตเตอร์รี่ all solid state (กล่าวคือไม่มีของเหลว) ที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้นั้น จะมีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ขนาดแบตเตอร์รี่ ลดลง และจะลดการเสื่อมของแบตเตอรรี่พร้อมกับการลดการเกิดประจุไฟฟ้าที่ไม่เสถียรตลอดจน จะไม่ลุกไหม้หรือเกิดระเบิดด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ก็จะยังสามารถทำงานได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสได้อีกด้วย

แต่เรื่องของ แบตเตอร์รี่ ไม่ได้จบที่เรื่องรถไฟฟ้าเท่านั้น เพราะอีกเทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้องที่สำคัญในการผลิตและใช้พลังงานของมนุษย์คือ แผงโซลาร์ (solar panel) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ แผงโซลาร์ราคาปรับลดลงอย่างมาก ดังเห็นได้จากข้อมูลที่นำเสนอ(ตารางที่ 1)

รูปภาพ

การลดลงของราคาแผงโซลาร์ ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ลดลงเหลือ 0.10 เหรียญต่อ 1 kwH ซึ่งใกล้เคียงกับการผลิตไฟฟ้า โดยใช้พลังงานเช่นถ่านหิน น้ำมันเตา หรือ ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนประมาณ 0.05-0.17 เหรียญ ต่อ 1 kwH อย่างไรก็ดี International Renewable Energy Agency (IRENA) ประเมินเมื่อต้นปีนี้ว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยแสงอาทิตย์และพลังจากลม จะราคาถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ในกรณีของประเทศไทยนั้น คงจะตัดเรื่องของพลังจากลมออกไปได้เพราะมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่จะสามารถใช้พลังลมได้

แต่ในส่วนของแสงอาทิตย์นั้น หากราคาแผงโซลาร์ และราคาแบตเตอร์รี่ลดลงไปอีกตามที่คาดใน 10-15 ปี ข้างหน้า ก็อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในด้านของการใช้พลังงานของครัวเรือนเพราะรถไฟฟ้าที่ผลิตอยู่ในขณะนี้เก็บพลังไฟฟ้าเอาไว้ใช้ขับเคลื่อนประมาณ 60-90 kwH ซึ่งเป็นพลังงานที่มีปริมาณสูงมาก เปรียบเทียบได้จากการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของประเทศต่างๆ ดังข้อมูลประกอบ(ตารางที่ 2)

รูปภาพ

จะเห็นได้ว่า พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในรถไฟฟ้านั้น น่าจะเพียงพอที่จะนำไปใช้ที่บ้านได้ประมาณ 3-4 วัน โดยไม่ยากลำบากนัก กล่าวคือรถไฟฟ้านั้น เป็นเสมือนกับโรงเก็บไฟฟ้าเคลื่อนที่นั่นเอง

หมายความว่าอะไร? สมมุติว่า ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า โรงงานและบริษัทขนาดใหญ่ต่างติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเกือบทั้งหมดและยอมให้พนักงานนำรถไฟฟ้าที่ขับมาทำงานสามารถชาร์จไฟในขณะที่นำรถเข้ามาจอดระหว่างทำงาน ด้วย ก็จะทำให้รถไฟฟ้าของพนักงานบรรจุไฟฟ้าได้เต็มที่ทุกวัน ซึ่งบางคนอาจโต้ว่าจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร หากโรงงานและบริษัทต้องใช้พลังงานมากในระหว่างวัน คำตอบคือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และต้นทุนการเก็บไฟฟ้า (แบตเตอร์รี่) ที่ลดลงอย่างมาก จะทำให้ทุกโรงงาน และบริษัทขนาดใหญ่สามารถผลิตและเก็บไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก จนจะสามารถมีเหลือใช้ให้เป็นสวัสดิการของพนักงานได้

เมื่อพนักงานเติมไฟฟ้าจากบริษัทเข้าไปในรถไฟฟ้าของตนจนเต็มแล้ว ก็จะสามารถขับรถกลับไปเติมไฟฟ้าในแบตเตอร์รี่ที่ติดตั้งอยู่ที่บ้านให้เต็มไปด้วย โดยเติมจากไฟฟ้าที่บรรจุอยู่ในแบตเตอร์รี่ของรถยนต์ หรืออาจจะติดแผงโซลาร์ที่บ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ของตัวเองอีกก็ได้ (ในกรณีที่หยุดงานติดต่อกันเพื่อพักร้อน 10 วัน เป็นต้น) ถามว่าเราจะยังต้องใช้ไฟฟ้าจากรัฐบาลอีกหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายัง อาจต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากรัฐบาลอยู่บ้างโดยเฉพาะในกรณีที่มีแสงอาทิตย์น้อยผิดปกติ แต่การพึ่งพาพลังงานจากรัฐบาลจะเป็นการพึ่งพาพลังงานเป็นครั้งเป็นคราวมากกว่า ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลจึงจะเปลี่ยนจากผู้ผลิตและขายไฟฟ้าเป็นหลักมาเป็นผู้ที่มีกำลังผลิตเพื่อสำรองในกรณีฉุกเฉินมากกว่า

จึงกล่าวได้ว่า หากการคาดการณ์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของแบตเตอร์รี่(ที่จะใช้เก็บไฟฟ้า)และแผงโซลาร์(ที่จะใช้ผลิตไฟฟ้า) เป็นจริงภายใน 20 ปี ข้างหน้า กล่าวคือราคาปรับตัวลดลงอย่างมากจนทุกครัวเรือนมีกำลังซื้อมาติดตั้งที่บ้านได้ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางที่เกินเลยมากกว่า การใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และหากคิดต่อไปอีก ก็จะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยในเมืองใหญ่กับผู้ที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้ามาใช้เองได้อย่างพอเพียงในการดำรงความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมากครับ
โพสต์โพสต์