อยากเป็นเจ้าของกิจการฟังทางนี้/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

อยากเป็นเจ้าของกิจการฟังทางนี้/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    สมัยนี้ บัณฑิตจบใหม่ส่วนใหญ่ รู้สึกว่าโก้มากๆที่จะได้เป็นเจ้าของกิจการ ต่างจากสมัยดิฉันเป็นวัยรุ่นที่พวกเราจะพยายามเรียนสูงๆ เรียนเยอะๆ เพื่อเข้าสู่การทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทต่างๆ

    แต่ทว่า…ไม่ใช่ทุกคน ที่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ และถึงเป็นได้ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนเหมาะสมที่จะเป็นเจ้าของกิจการ หรือจะสามารถดำเนินกิจการไปได้ดีและประสบความสำเร็จ

    วารสาร Kellogg Insight ได้นำเสนอบทวิจัยของคณาจารย์สาขาผู้ประกอบการ และคำแนะนำจากศิษย์เก่า ของโรงเรียนบริหารธุรกิจเคลลอกก์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ดิฉันในฐานะศิษย์เก่าจึงขออนุญาตนำบางส่วนมาแบ่งปันในสัปดาห์นี้

    บทวิจัย “Three Questions All Aspiring Entrepreneurs Should Ask Themselves” กล่าวถึงคำถามสามข้อที่สามารถใช้ในการช่วยกรองว่า ท่านเหมาะที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือไม่ (ดิฉันของใช้คำว่า “ผู้ประกอบการ” และ “เจ้าของกิจการ” สลับกันไปมาตามความเหมาะสม) โดยได้ทำการสอบถามผู้ประกอบการประมาณ 2,000 คน เกี่ยวกับอุปนิสัยในการทำงาน เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ จนกระทั่งได้คำตอบซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้ มีอะไรที่คล้ายๆกันบ้าง เพื่อเปรียบเทียบกับคนอีก 300 คนที่ตอบแบบสอบถามเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ

    ผลก็คือ อาจารย์ผู้วิจัย Justin B.Craig และผู้วิจัยร่วมซึ่ง อยู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ อาจารย์ Leon Schjoedt พบว่า มีคำถามอยู่สามข้อ ซึ่งหากตอบว่าใช่ครบทุกข้อ ก็จะสามารถวัดระดับ “การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-efficacy)” ได้

    การรับรู้ความสามารถของตนเอง หรือ Self-efficacy นี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จค่ะ พูดง่ายๆก็คือ เขาพบว่า หากผู้ประกอบการเชื่อและมั่นใจว่าตนเองจะประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการมักจะประสบความสำเร็จ

    อยากทราบแล้วใช่ไหมคะว่าสามคำถามนั้นคืออะไร

    ให้ตอบว่า ใช่หรือไม่ สำหรับข้อต่างๆดังต่อไปนี้

    หนึ่ง โดยรวมแล้ว ทักษะและความสามารถของฉัน จะช่วยให้ฉันเริ่มธุรกิจได้

    สอง ประสบการณ์ในอดีตของฉัน จะมีคุณค่ามากในการก่อตั้งธุรกิจ

    สาม ฉันเชื่อมั่นว่า ฉันจะใช้ความพยายามและพลังอย่างเต็มที่ เท่าที่จะต้องใช้ในการเริ่มธุรกิจ

    จากการวิจัยพบว่า หากตอบ “ใช่” สองในสามข้อ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จค่ะ ต้องได้ครบทั้งสามข้อ แต่หากไม่ครบสามข้อ และผู้(จะ)ประกอบการ ยังต้องการจะทำต่อ  จะต้องถามตัวเองต่อว่า “มีอะไรที่ต้องเตรียมตัวเพิ่มอีกบ้าง” เพื่อเตรียมให้ประสบความสำเร็จ เช่น ต้องมีประสบการณ์เพิ่มให้ลึกขึ้นไหม ต้องไปเรียนรู้อะไรเพิ่มอีกหรือไม่ เป็นต้น

    อาจารย์ปิดท้ายว่า “การได้เป็นผู้ประกอบการ ดูเหมือนจะน่าสนใจ ดูเหมือนจะสนุก แต่ในความเป็นจริง มันยากกว่าที่คนคิดเอาไว้มาก” 

    นอกจากนี้ ศิษย์เก่า 6 คนยังได้ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ “How to Succeed as an Entrepreneur” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องสูญเสียอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุน หรือ สุขภาพจิตที่อาจเสียไป ในระหว่างการประกอบธุรกิจ

    Scott R. Baker, Sean Johnson, Benjamin F. Jones, David Schonthal, Nicole Staple และ Gabriel Vehovsky ได้ให้คำแนะนำดังนี้

    1. ข้อจำกัดเป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจ

    เวลาเริ่มต้นธุรกิจ ทรัพยากรต่างๆมักจะมีอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน หรือทรัพยากรอื่นๆ แต่การมีอย่างจำกัดนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย บริษัทสามารถใช้ข้อจำกัดนี้ในการสร้างความได้เปรียบ เนื่องจากบริษัทเล็กๆสามารถลงพื้นที่เพื่อพบคนที่อาจเป็นลูกค้าในอนาคตได้ และคนเหล่านี้สามารถบอกความต้องการได้อย่างแท้จริง  ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆมักจะให้ทีมที่ทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เก็บข้อมูลและเสียงสะท้อนจากลูกค้า

    2. ระวังผู้ลงทุนแองเจิล (Angel Investors) ซึ่งก็คือผู้ลงทุนบุคคลที่ลงทุนกับธุรกิจเริ่มต้น เพราะหากมีจำนวนผู้ลงทุนแองเจิลมากเกินไป อาจทำให้การลงมติเป็นไปได้ยาก หรือหากผู้ลงทุนให้เงินมาเยอะ ก็อาจทำให้ธุรกิจไม่มุ่งเป้าไปโครงการที่สำคัญ อาจตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่ไม่มีกำไรได้

    3. ปรับประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดี(และเร็ว)

    หลังจากเปิดตัว ความสนใจในสินค้าและบริการของบริษัทใหม่มักจะตกลงไปหากบริษัทไม่สามารถนำประสบการณ์ที่ผู้ใช้เสนอแนะ มาปรับปรุงสินค้าและบริการ  แนะนำว่า บริษัทตั้งใหม่ต้องรีบทำให้ผู้ใช้สินค้าและบริการเชื่อว่าสินค้าและบริการของเรามีประโยชน์ต่อผู้ใช้ โดยใช้วินาทีที่คนกำลังสนใจในช่วงแรกให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่เคยใช้หรือสัมผัสสินค้าและบริการนั้นๆมาก่อน

    4. หาหุ้นส่วนที่เหมาะสม

    หากหุ้นส่วนธุรกิจเข้ากับเราได้ดี มีแนวคิดและทักษะที่จะช่วยเกื้อกูลในการทำงาน สามารถเป็นส่วนผสมที่ดีในการทำงาน ธุรกิจจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จ

    5. บทบาทของผู้ประกอบการ สามารถอยู่ในบริษัทที่มั่นคงแล้วได้

    บางครั้งไอเดียใหม่ๆ ก็สามารถนำมาทำให้เกิดสินค้าและบริการ หรือกระบวนการใหม่ในการดำเนินธุรกิจในบริษัทที่มั่นคงแล้ว เพราะฉะนั้น หากมีความคิดดีๆ อาจจะสามารถนำเสนอต่อบริษัทที่เราทำงานอยู่ เพื่อให้บริษัทนำไปต่อยอดได้ โดยอาจจะตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ หรือโครงการใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงไปเริ่มต้นกิจการใหม่เอง ปัจจุบันมีระบบตอบแทนซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนกับเจ้าของความคิดได้อย่างเป็นธรรมค่ะ

    หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการ หรือคิดจะเป็นผู้ประกอบการนะคะ
[/size]
โพสต์โพสต์