เศรษฐกิจไทยโต 4.8% แต่ทำไมยังไม่รู้สึก “ดี”(2)/ดร.ศุภวุฒิ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

เศรษฐกิจไทยโต 4.8% แต่ทำไมยังไม่รู้สึก “ดี”(2)/ดร.ศุภวุฒิ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งนี้ ผมขออ้างอิงบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ 2 บทความ กล่าวคือ

- จากตลาดสดถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต : 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าในประเทศ (25 เมษายน 2561) โดยคุณปิติ ดิษยทัต คุณทศพล อภัยทาน และ คุณพิม มโนพิโมกษ์
- จุลทรรศน์ ภาคเกษตรไทยผ่านข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และสำมะโนเกษตร (30 พฤษภาคม 2561) โดยคุณโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ คุณวิษณุ อรรถวานิช และ คุณบุญธิดา เสงี่ยมเนตร

บทความแรก วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าและบริการกว่า 24,000รายการในช่วง 2002-2017 และได้มีการเสนอข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าประเภทต่าง ๆที่สำคัญ ในช่วง 2006-2016 ซึ่งผมขอนำมาสรุปในตาราง 1
2561 06 251.jpg
จะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปี ระหว่าง 2006-2016 นั้น ราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้น 26% (ประมาณ 2% ต่อปี เพราะฐานราคาจะขยายเพิ่มขึ้นทุกปี) แต่ประเภทสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้นมากที่สุด เช่น ราคาอาหาร (บริโภคที่บ้าน +84% สำเร็จรูป +43%) ของใช้ส่วนตัว (+14%) และค่าใช้จ่ายในการศึกษา(+10%) นั้น น่าจะกระทบกับความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก ในขณะที่ สินค้าที่ราคาลดลงอย่างมาก เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องมือสื่อสาร และ โทรทัศน์ นั้น น่าจะให้ประโยชน์มากกว่า สำหรับ ผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ดังนั้น จึงอาจตีความได้ว่าคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น จะมีความเห็นว่า “ของแพง”

บทความที่สองนั้น รวบรวมข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกร ซึ่งจัดเก็บโดย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปี 2017) และจากสำมะโนเกษตร จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ปี 2013 และ ปี 2003) สรุปในตาราง 2
2561 06 252.jpg
ผู้วิจัย มีข้อสรุปประเด็นเชิงนโยบาย 7 ข้อ แต่ ผมขอนำมากล่าวถึงเพียงบางส่วน และผมเองก็มีข้อสรุปบางประการที่เกี่ยวโยงกับบทความแรกคือ

1.มีความชัดเจนว่าสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยนั้น ตกต่ำลงและจำนวนคนในภาคเกษตรก็ลดลงอย่างมากเพราะลูกหลานเกษตรกรออกจากภาคเกษตรไปทำงานที่อื่น ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยทำงานลดลง เห็นได้จากตาราง 3 ตัวอย่าง เช่น ในปี 2003 นั้น
2561 06 253.jpg
ประชากรอายุ 15-40 (วัยหนุ่ม) มีจำนวนทั้งหมดคิดเป็น 51% ของประชากรของประเทศ แต่ในปี 2003 นั้น อยู่ในภาคเกษตรเพียง 48% และ 10 ปีต่อมาในปี 2013 สัดส่วนลดลงไปอีก เหลือเพียง 32% ในทางตรงกันข้าม ประชากรวัยสูงอายุ (40-60) ซึ่งมีสัดส่วน 35% ของประเทศ โดยรวม แต่ในภาคเกษตรกรรมนั้น มีสัดส่วนสูงถึง 39% ในปี 2003 และเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 49% ในปี2013 นอกจากนั้น 50% ของครัวเรือนเกษตร มีที่ดินทำกินไม่ถึง 10 ไร่ และ 80% มีที่ดินทำกินไม่ถึง 20 ไร่ ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ของประเทศไทยต่ำ คือ 520 กิโลกรัม ข้าวจ้าวต่อไร่ (ปี 2013) เทียบกับ เวียดนามที่ 900 กิโลกรัม สหรัฐ 880 กิโลกรัม และจีน 1,080 กิโลกรัม

2.ในบทความตอนที่ 1 ผมอ้างถึงข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ที่กล่าวว่ารายได้เกษตรกร ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลายไตรมาส (รวมทั้งไตรมาส 1 ที่ผ่านมา) เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ในตาราง 1 ข้างต้น นั้น ปรากฏว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคืออาหารที่บ้าน (+84%) และอาหารสำเร็จรูป (+43%) แต่แปลกที่ เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาดังกล่าวเลย ตรงกันข้าม ราคาสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ ปรับตัวลงอย่างมาก แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถ ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของ เศรษฐกิจไทย

3.ผู้วิจัยสรุปว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน (59.8% มีกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์) และจำนวนครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งผลผลิตต่อไร่ต่ำเพราะไม่มีระบบชลประทาน โดยรวมนั้นมีเพียง 26%ของครัวเรือนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงระบบชลประทาน และที่ดินดังกล่าวนั้น “ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคกลางเหนือตอนล่าง และ กทม. และปริมณฑล ซึ่งที่ดินดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นที่ดิน ซึ่งเกษตรกรต้องเช่าที่ดิน”มิได้เป็นเจ้าของที่ดิน ผมเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวซึ่งมีผลผลิตสูงน่าจะมีเจ้าของไม่กี่รายที่มิได้เป็นชาวนา

4. เกือบ 40% ของครัวเรือนเกษตร มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ และ 30% มีหนี้สินเกิน 1 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปี แต่มีความแตกต่างระหว่างกันสูงมาก โดย 10% ของครัวเรือน (ประมาณ 576,000 ครัวเรือน) มีหนี้สินเกินกว่า 3 เท่า ของรายได้ต่อหัวต่อปี
โพสต์โพสต์