ชั่วโมงเซียน : ทางเดินความคิด...."Value Investor"

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Mon money
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 3134
ผู้ติดตาม: 27

ชั่วโมงเซียน : ทางเดินความคิด...."Value Investor"

โพสต์ที่ 1

โพสต์

จาก Bangkok Bizweek รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2547
--------------------------------------------------------------------------------------

ชั่วโมงเซียน : ทางเดินความคิด...."Value Investor" หมายเลข 1 เฟ้นหุ้น "เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

"แก่นแท้" แห่งวิถีการลงทุน ของ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร"

สูตรการลงทุนให้ประสบความสำเร็จสำหรับ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.นครหลวงไทย ไม่ได้แตกต่างไปจากวิถีทางเดินชีวิตของดอกเตอร์เลยแม้แต่น้อย

ทางเดินความคิดของ...."Value Investor" หมายเลข 1 ผู้นี้ทั้งเรียบง่าย และสมถะ

ดอกเตอร์ไม่ได้เสแสร้ง หรือสร้างภาพลักษณ์โดยปราศจาก "แก่นแท้" ของความปกติพอดี..."ชีวิตคนเราจะต้องการอะไรไปมากกว่านี้"

แก่นแท้อย่างหนึ่งที่สรุปได้ในความหมายของดอกเตอร์ ก็คือ ความสำเร็จมันซ่อนอยู่ในความ "พอเพียง" ของการใช้ชีวิต และรู้จัก "เพียงพอ" ต่อความโลภ

กว่าชั่วโมงที่นั่งคุยในช่วงเวลาอาหารมือกลางวัน เริ่มต้นจากเทคนิคการเล่นหุ้น ไปจบที่วิถีความคิด และเส้นทางการใช้ชีวิต ขณะที่ดอกเตอร์ก็นั่งกินแซนด์วิชที่ออกจะแข็งกระด้างไปพราง ตามด้วยน้ำเปล่าเป็นระยะๆ มันเป็นอาหารที่ออกจะวิเศษสุดในมื้อนั้นสำหรับ Value Investor พันธุ์แท้ที่เน้นความเรียบง่าย

วันนี้ต้องบอกว่า ดร.นิเวศน์ "รวย" แล้ว แม้จะยังมีเงินไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ตามที่ตั้งใจ แต่ก็มีมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายไปตลอดชั่วชีวิต แต่เปล่าเลยดอกเตอร์กลับไม่เคยใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย

....ทุกสิ่งที่ ดร.นิเวศน์ จ่ายเงินออกไป จะต้องแลกกลับมาด้วยความ "คุ้มค่า" เสมอ

"คนชอบเข้าใจผิดว่า Value Investor ต้องใช้ของถูก จริงๆ แล้วเข้าใจผิด เรามองทุกอย่างที่ความคุ้มค่า "ดอกเตอร์บอกอีกว่า Value Investor จะไม่จ่ายอะไรที่แพงเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้น "การใช้จ่าย" เพื่อซื้อความสุข สำหรับ Value Investor จึงไม่ใช่ความสุข"

"....ไม่มี Value Investor พันธุ์แท้คนไหน ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยแล้วประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้น(ในระยะยาว) ทั้งหมดเป็นวิธีคิดที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน" ดอกเตอร์บอก ดูอย่าง "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ซิ!!! พอเขาเป็น Value Investor ทั้งชีวิตและจิตใจ จะไม่มีความสุขกับการใช้เงิน

ความสุขทั้งหมดของเขาจะไปอยู่ที่การลงทุน เห็นราคาหุ้นเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง เอาเงินไปซื้อบ้านราคาแพง ไปซื้อรถเบนซ์ ของพวกนี้ใช้แล้วมันหายไป Value Investor พันธุ์แท้จะไม่ชอบ"

การค้นหาหุ้นของ ดร.นิเวศน์ เรียบเรียงจากวิธีคิดพอจะสรุปได้ว่ามาจากขบวนการภายใต้ "จิตสำนึก" โดยมองสินค้าที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน และทำความเข้าใจกับมันทุกวันจนกลายเป็นความเคยชิน

"เราเห็นมันบ่อยๆ เนื่องจากการใช้ชีวิตของเรา ผมจะเลือกซื้อหุ้นพวกนี้ก่อน"

เคล็ดลับเช่นนี้เองที่กลายเป็นพฤติกรรมแทรกซึมเข้ามาอยู่ในจิตใต้สำนึกที่เฟ้นแต่หุ้น "Value" เข้าพอร์ต "ทุกครั้งที่เห็นสินค้า เราอ่านหนังสือเจอ ทุกอย่างมันจะลิ้งเข้ามาที่เรื่องของหุ้น มันเข้ามาเองอัตโนมัติ"

ดร.นิเวศน์ อธิบายว่า จริงๆ แล้ว Value Investor เวลาเลือกหุ้นก็แบบเดียวกัน หาหุ้นที่ "ดีมาก" แต่ใช้เงิน "นิดเดียว" (ซื้อตอนที่ราคายังไม่แพง หรือตอนที่หุ้นตกหนักๆ) เช่นเดียวกับการใช้ชีวิต ค้นหาสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตได้มากมาย ด้วยเงินเพียงนิดเดียว

"ถ้าศึกษาวิธีคิดของ Value Investor มันเกี่ยวกับข้องกับชีวิตนะ ถ้าคุณจ่ายเงินซื้อรถเบนซ์โก้หรู ผมยังไม่ค่อยเห็น ถ้าคุณคิดแบบนั้นคุณก็ไม่ใช่ Value Investor พันธุ์แท้"

Value Investor พันธุ์แท้ในมุมมองของ ดร.นิเวศน์ จะต้องมองที่ "คุณค่า" ของเงินที่จ่าย คุณอย่าซื้อหุ้นเพราะเห็นว่าราคา "ถูก" แต่ต้องซื้อหุ้นเพราะว่ามัน "ดี" แล้วจ่ายเงินซื้อในราคา "ยุติธรรม"

"ผมไม่เคยซื้อหุ้นราคา 3 บาท 5 บาท ชอบซื้อหุ้นที่คนพูดว่า "แพง" ในด้านราคา แต่ "ถูก" ในแง่ของ "Value" ถ้าสังเกตุดูหุ้นในพอร์ตผมราคาเป็น 100 บาทขึ้นไปทั้งนั้น หรือราคาหลายสิบบาทที่พาร์บาทเดียว (เช่น STANLY SE-ED IRC APRINT SSC PR และ TMD) หุ้นของผมราคาสูงหมดนะ แต่มันคุ้มค่า มันสร้างผลตอบแทนให้เราดีมาก"

ดอกเตอร์พูดว่าการเล่นหุ้นขาดไม่ได้จะต้องมีความสุขกับมัน....เพราะความสุขจะเป็น "ทุน" สร้างผลตอบแทน มันเป็น "เหตุ" ที่สร้างผลลัพธ์ของ "กำไร"

"จริงๆ ผมมีความสุขกับการได้ซื้อหุ้นที่เราพอใจมากๆ ดีมากๆ น่าสนใจมากๆ แล้วเก็บมากขึ้นๆ จนวันหนึ่งเรากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท"....ความสุขในที่นี้ของ ดร.นิเวศน์หมายถึงความ "ภาคภูมิใจ"

"ผมเชื่อมาตลอดว่า "การเดินทาง" สำคัญกว่า "เป้าหมาย" อยากบอกนักลงทุนทุกคนว่าอย่าไปกังวลกับเป้าหมาย แต่ควรใส่ใจใน "เส้นทาง" ที่เรากำลังเดิน ถ้าเราทำดีที่สุด และมีความสุขในเส้นทางของเราทุกวัน ในที่สุดเราก็จะไปถึงเป้าหมายนั้นเอง" ดร.นิเวศน์ เชื่อเช่นนี้ตลอด

".....เงิน 1,000 ล้าน สำหรับผมถ้าไม่ได้ ก็ไม่ใช่จะเป็นจะตาย เรามี "เป้าหมาย" เพื่อกำหนด "เส้นทาง" ไม่ให้เราไขว้เขว ถ้าเราแน่วแน่ ผลลัพธ์ที่ออกมามันจะสอดคล้องกันทั้งหมด"

ถามดอกเตอร์ว่าสมมติ ดร.นิเวศน์ ทำเงินถึง 1,000 ล้านบาท จริงๆ เป้าหมายต่อไปคืออะไร?

"ถ้าตัดเรื่องเงินออกไป เป้าหมายของผมก็ยังต้องการเป็น "นักลงทุน" และใช้ชีวิต "สมถะ" เช่นนี้ตลอดไป(จนตาย) คนเราอย่าไปคิดว่ามีเงิน 1,000 ล้าน แล้วจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนที่คิดก่อนแล้วว่า จะทิ้ง "วิถี" ชีวิตดั้งเดิมของตัวเองก่อนที่ตัวเองจะไปถึงเส้นชัย....ผมคิดว่าเขาคงจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่แท้จริงหรอก"

ความเร้นลับของ "กำไร" และ "ความสุข" สำหรับ ดร.นิเวศน์ สะท้อนออกมาในแง่มุมของการเลือกหุ้น ก็เหมือนกับการเลือก "คู่แต่งงาน" คุณต้องคิดเสมอว่าต้องหาคู่ที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดกับคุณ เพื่อจะครองคู่กันไปจนแก่เฒ่า....โดยเน้นย้ำว่า Value Investor จะไม่เลือกหุ้น "ฉาบฉวย" หวังขายในอีก 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนข้างหน้า แต่ต้องเลือกหุ้นที่ดีที่สุด และมีอนาคตในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า

"ผมจะซื้อหุ้นที่ตัวเองรู้สึกพอใจมากๆ แล้วอยากจะเก็บมันไว้นานๆ" นี่คือปฐมบทของความสำเร็จที่ดอกเตอร์สรุปให้ฟัง

ดร.นิเวศน์ คิดถึงขนาดที่ว่าสักวันหนึ่งหุ้นที่ "พ่อ" ถือก็จะถูกส่งต่อไปให้กับ "ลูก" เพื่อเป็น "มรดก" ด้วยซ้ำ

"จริงๆ แล้วหุ้นที่ผมซื้อส่วนใหญ่ส่งต่อไปเป็นมรดกได้ แต่ไม่รู้ว่าถ้าเวลาผ่านไปนานๆ ปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนไป เราอาจต้องเปลี่ยนหุ้นตัวอื่น แต่ทุกกิจการที่ลงทุนตั้งต้นจากวิธีคิดที่ว่าสามารถถือไปจนถึงลูกถึงหลานได้"

ดอกเตอร์ย้อนกลับมาที่คำพูดคำเดิม การเล่นหุ้นจะต้องเริ่มที่ "ความสุข" มันเป็นเหตุเป็นผลกัน

"ถ้าผมซื้อหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ มีผู้บริหารดี ในที่สุดราคาหุ้นจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็มีความสุขกับ Score (ผลตอบแทน) ที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นคนละส่วนกับการเอากำไรมาซื้อความสุขนะ"

ดร.นิเวศน์ อธิบาย Score แห่งความสุขเพิ่มเติมว่า เราซื้อไปแล้วราคาหุ้นเพิ่มขึ้น จ่ายปันผลมาเราก็ "ทบต้น" ขึ้นไป แล้วเห็นผลตอบแทนแต่ละปีที่ผ่านไปดีกว่าตลาดโดยรวม รู้สึกพอใจเมื่อเห็นมันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

"จนวันหนึ่งเราสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้เราก็มีฐานะ มีความมั่นคง และเป็นอิสระพอที่จะไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ สามารถมีปันผลที่เลี้ยงเราตลอดชีวิตไปจนถึงลูกถึงหลานได้ นี่คือ ความสุขของผม"

ถามว่า ดร.นิเวศน์ เคยรู้สึกว่าตัวเองผิดพลาดเรื่องการลงทุนบ้างหรือไม่!!!

ดร.นิเวศน์ เล่าให้ฟังว่า ผมเคยซื้อบ้านราคานับสิบล้านบาทด้วย "กิเลส" ที่มันซุกอยู่ภายในเหมือนกับคนทั่วๆ ไป แต่นั่นไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าเลย ท้ายที่สุดก็ขายบ้านหลังนั้นทิ้งไป

"ตอนที่ผมยังไม่มีความคิดแบบ Value Investor เคยสนใจซื้อที่ดิน เราเห็นเลยว่าที่ดินมันก็อยู่ที่เก่า มันไม่เคยจ่ายปันผลให้เรา ราคาก็ไม่ได้ไปไหน 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าขายราคาเดิม...ผมขาย แต่มันขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ชำนาญทางด้านนี้ ให้ซื้อเพื่อเก็งกำไรคงไม่ทำแน่"

ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นแค่บ้านชั้นเดียวเล็กๆ บนเนื้อที่ไม่กี่ตารางวา ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิของแม่ยาย ทุกคนอยู่รวมกัน เห็นหน้ากันทุกวัน ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นส่วนตัว ไม่มีคนรับใช้ แต่บ้านหลังนี้ไม่เคยปราศจากอบอุ่นเลย

"ความสะดวกสบายในบ้านจริงๆ มีน้อย บ้านหลังเล็กมาก แต่ผมก็ไม่ได้ต้องการมากกว่านี้ เพราะมาคิดดูอีกทีถามว่าไปอยู่บ้านหลังใหญ่ๆโตๆได้มั๊ย!!..."มันก็ได้" แต่บ้านใหญ่โตมันก็ไม่ได้ให้ความสุขกับเรามากไปกว่าบ้านหลังเล็ก ทุกคนใกล้ชิดกัน เจอหน้ากันทั้งวัน"

ส่วนรถยนต์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นรถประจำตำแหน่ง(ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.นครหลวงไทย)ไม่มีเป็นของตัวเอง ถ้าออกจากงานวันไหน วันนั้นค่อยไปหาซื้อมาเป็นของตัวเอง

"ทุกวันนี้กิจกรรมที่ผมทำอยู่จริงๆ ชีวิตมันมีความสุขอยู่แล้ว การออกกำลังกายเป็นความสุขยิ่งใหญ่ ผมไม่ต้องใช้เงินเลย มีรองเท้าคู่เดียว ถามว่า "ฟิตเนส" มันดีกว่ามั๊ย!! สำหรับผมวิ่งในสวน (สาธารณะ) มันก็สดชื่นไปอีกแบบหนึ่ง...นี่คือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่าพื้นฐานความคิดของ Value Investor "เงิน" มันไม่ใช่โจทย์ของ "ความสุข" ตรงกันข้ามกับการเลือกหุ้นคุณต้องเลือกหุ้นที่คิดว่าดีเยี่ยมที่สุด"

ดอกเตอร์ บอกว่า เกือบ 10 ปีที่ผมลงทุนในแนวทางนี้ พิสูจน์แล้วว่ามันประสบความสำเร็จ ยังจำได้ว่าวันแรกที่ลงทุนตามแนวคิด Value Investor หนี้สินผมมากกว่าสินทรัพย์สภาพคล่อง สมัยนั้นผมคิดว่าอยากจะมีบ้านหลังใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ไปก่อหนี้ขึ้นมา 10 กว่าล้านบาท แต่โชคดียังพอมีเงินสดเหลืออยู่ แม้จะน้อยกว่าตัวหนี้ ผมเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนจนถึงวันนี้เงินก้อนนั้นเติบโตขึ้นมาเกือบ 20 เท่าตัว"

แม้วันนี้ Score แห่งความสุขของดอกเตอร์จะทะยานผ่านพรมแดนแห่งคำว่า "อิสรภาพ" ทางการเงิน(รายรับจากเงินลงทุนมากกว่ารายจ่ายประจำ)ไปแล้ว แต่ ดร.นิเวศน์ ก็หาไม่ที่จะนำเงินเก็บส่วนของการลงทุนมาซื้อความสุข "กาย" ในชีวิต มากไปกว่าสิ่งที่มีอยู่

รางวัลในชีวิตของ ดร.นิเวศน์ จึงแตกต่างจากคนทั่วไป ดอกเตอร์พูดว่า "รางวัลของชีวิต ก็คือ สิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน" คำๆ หนึ่งที่ ดร.นิเวศน์ เน้นย้ำน่าสนใจอย่างยิ่ง คำว่า "การเดินทาง" กับ "เป้าหมาย" ในชีวิตของคนทุกคน...นักเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง เขาควรเฟ้นหาเฉพาะหุ้นระดับ "เฟิร์สคลาส"...มีวิถีชีวิตแบบ "อีโคโนมี"

ทั้งหมดคือ ทางเดินความคิดของ "Value Investor"หมายเลข 1 ที่ชื่อ"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร"
เป็นบุญหนักหนาเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย เป็นคนไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Mon money
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 3134
ผู้ติดตาม: 27

ชั่วโมงเซียน : ทางเดินความคิด...."Value Investor"

โพสต์ที่ 2

โพสต์

จากคอลัมน์ ชั่วโมงเซียน ในกรุงเทพธุรกิจ Bizweek รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2547
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ชั่วโมงเซียน : เล่นหุ้นสูตร"ปลอดภัย" สไตล์ "โกศล ไกรฤกษ์"

นับวันที่ตลาดหุ้น "ซึม" กับ "ทรุด" ลงทุกวัน ภาวะจิตใจของนักลงทุนหลายคน "ห่อเหี่ยว" ทำให้รำลึกสไตล์การเล่นหุ้นสูตร "โกศล ไกรฤกษ์" ขึ้นมาทันใด จนต้องนำกลับมาถ่ายทอดอีกครั้ง ...เพื่อเตือนสติ ให้นักลงทุน ได้ทบทวนบทเรียนบทหนึ่ง ของชายคนหนึ่ง ที่เขาผ่านร้อนผ่านหนาว ในวงการหุ้นมาอย่างโชกโชน และรอดพ้นวิกฤติมาได้อย่างไร?

ตราบชีวิตยังดำรงอยู่ แสงเทียนแห่งชีวิตย่อมเปล่งประกายเจิดจ้า แต่การดำรงอยู่มิอาจยืนยง ดั่งคำกล่าวที่ว่า "ชีวิตควรมุ่งมั่น แต่ไม่ควรยึดมั่น" คำกล่าวนี้ไม่เคยเลือนหาย

....ชีวิตของคนทุกคนก็มิอาจฝืนกฎธรรมชาติ นั่นคือ "ความตาย"

"จิต" ของลุงโกศลโบกมือลาสังขารด้วยวัย 78 ปี ของคืนวันที่ 2 ก.ค.2547 ที่ รพ.พร้อมมิตร จากอาการโรคไตที่ลุงปลุกปล้ำกับมันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

การจากไปของ "โกศล ไกรฤกษ์" สิ่งที่ทิ้งเอาไว้ก็คือ "แก่นคิด" การเล่นหุ้นที่ไม่เคยถูกกาลเวลากลืนหาย

*****************************

A12 หัวรับ..."ขายเอาทุนขึ้น....เหลือไว้แต่กำไร"

นอกตำราสูตร "โกศล ไกรฤกษ์"

ชื่อของ "โกศล ไกรฤกษ์" หายไปนาน หลังจาก บงล.ตะวันออกฟายแนนซ์(1991) ถูกแบงก์ชาติเข้าแทรกแซงกิจการ เมื่อกลางปี 2540 ทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายมูลค่าหลายพันล้านบาทหายวับไปกับตา

สมการชีวิตของชายคนนี้ผ่านร้อนหนาวทางการเมืองมาอย่างโชกโชน เป็น ส.ส. พิษณุโลกหลายสมัย และเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง เป็นผู้ที่ก่อตั้งพรรคกิจสังคมร่วมกับ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช มีอุปนิสัยพูดจาโผงผางจนได้รับขนานนามว่า "นักเลงโบราณ"

แม้ว่าลุงโกศล จะลดบทบาทการเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นไปนานแล้ว แต่แนวทางการลงทุนที่เน้นความ "ปลอดภัย" ของลุงโกศลไม่เคยล้าสมัย

โดยเฉพาะคำพูดที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า "ถ้าอยากสบายตอนแก่ต้องมีรายได้ประจำไว้กิน 3 อย่าง" แกบอกว่าได้ความรู้มาจากเจ๊ก (นักธุรกิจชาวจีน) สอนแกมาอีกทีหนึ่ง สมัยตอนเป็นรัฐมนตรี

เจ๊กมันบอกว่า....!!!

อย่างแรก "ต้องมีเงินฝากประจำเอาไว้กินดอกเบี้ย"

อย่างที่สอง "ต้องมีบ้านให้เขาเช่า เอาไว้เก็บค่าเช่ากินตอนแก่"

อย่างที่สาม "ต้องมีรายได้จากเงินปันผล"

นี่แหละรายได้ 3 อย่าง สูตรขนาดแท้ของลุงโกศลเลยล่ะ

ลุงโกศลเล่าให้ฟังว่า แกได้เงินปันผลจากตลาดหุ้นอย่างเดียวปีละเกือบ 2 ล้านบาท(เมื่อปี 2543) หุ้นจะขึ้นหรือจะลงแกก็ไม่เดือดร้อน คนส่วนใหญ่เจ๊งหุ้นกันหมด แต่ลุงโกศลกลับหัวเราะร่า หุ้นที่ลุงซื้อแต่ละตัว เป็นหุ้นที่ชาวบ้านชาวเมืองเขาไม่ค่อยเล่นกัน แกจะเลือกเฉพาะหุ้นปันงามๆ พื้นฐานแน่นๆ และผู้บริหารต้องโปร่งใสเท่านั้น

หุ้นปันผลที่ลุงโกศลเล่นส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องการซื้อขายน้อย เป็นหุ้นประเภท "เสือนอนกิน" เก่าเก็บไม่ค่อยมีใครอยากขาย หาซื้อก็ไม่ง่ายนัก

ลุงโกศลยกตัวอย่างให้ฟังว่า หุ้นในพอร์ตของแก(ตอนนั้น) ประกอบด้วย หุ้นห้องเย็นโชติวัฒน์(CHOTI) หุ้นไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์(TF) หรือหุ้น"มาม่า" หุ้นไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นส์(TUF) ขายปลาทูน่าส่งออกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ หุ้นน้ำมันพืชไทย(TVO) หุ้นอาหารสยาม(SFP) และหุ้นไทยวาโก้(WACOAL)

ลุงโกศลแกเล่าให้ฟังว่า เคยไปฉะกับผู้บริหารบริษัทกู๊ดเยียร์(GYT) และบริษัทคาร์โนต์เมตัลบ๊อกซ์(CMBT)มาแล้ว เพราะบริษัทกำไรดีแต่จ่ายปันผลนิดเดียว เหมือนกับให้เงินขอทาน ตอนนั้นกู๊ดเยียร์ประกาศจ่ายปันผลหุ้นละ 2 บาท จากกำไรต่อหุ้น 52.03 บาท ส่วน คาร์โนต์เมตัลบ๊อกซ์(ออกจากตลาดหุ้นไปแล้ว) กำไรหุ้นละ 22.38 บาท ทีแรกประกาศจ่ายปันผลหุ้นละ 1 บาท แกไปต่อรองกับผู้บริหารหลายชั่วโมง จนต้องเพิ่มให้เป็นหุ้นละ 5 บาท

อีกตัวหนึ่งคือ หุ้นคาร์เปทอินเตอร์ฯ(CIT) ตอนนั้นประกาศคำเสนอซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนก่อนจะขอเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซื้อคืนในราคาหุ้นละ 45 บาท ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชี(Book Value)ของบริษัทมาก ลุงโกศลประกาศเลยว่าใครมาเอาเปรียบกันอย่างนี้แกไม่ยอมเด็ดขาด แกบอกว่าจะถือหุ้นเอาไว้ไม่ยอมขาย เอาไว้สู้กับผู้บริหารให้รู้ดำรู้แดง ไม่ยอมทิ้งลายนักเลงโบราณให้ใครมาหยามเกียรติได้ง่ายๆ

"เงินแค่นี้กูไม่เอา แต่กูจะถือหุ้นไว้สู้กับมึง"

กฎการเล่นหุ้นของนักเลงโบราณท่านนี้นับว่าไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

ข้อแรก...แกบอกว่าอย่าไปแตะต้องหุ้นสถาบันการเงิน เพราะไม่มีวันรวยได้นาน ประสบการณ์ที่ลุงโกศลเจอมากับตัวเอง โดยเฉพาะหุ้นบงล.ตะวันออกฟายแนนซ์ (DEFT) แกบอกว่าตัวเองเป็นทั้งเจ้าของ(ถือหุ้นใหญ่) เป็นเจ้ามือ(โบรกเกอร์) และเป็นคนแทง(เล่นหุ้นเอง) สุดท้ายเจ๊งหมด

ก่อนหน้าที่จะถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 เพียงไม่กี่สัปดาห์ ลุงโกศลได้เจรจาลับๆ กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อขายหุ้นทั้งหมดในส่วนของตระกูลไกรฤกษ์ จำนวน 67 ล้านหุ้น ใน บงล.ตะวันออกฟายแนนซ์ โดยต้องการขายกิจการที่ 6.7 พันล้านบาท แต่การต่อรองราคายังไม่ทันคืบหน้าทุกอย่างก็ต้องปิดฉากลงโดยไม่เหลืออะไรเลย

ประสบการณ์กับหุ้นสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งที่เจอมา ก็คือ หุ้นบงล.กรุงเทพธนาทร(BFIT) หุ้นที่ถืออยู่เคยมีมูลค่าสูงกว่า 300 ล้านบาท ถือเอาไว้ไม่ได้ขายราคามันร่วงลงมาเหลือแค่ 43 ล้านบาท "ผมอยากจะบอกว่าถ้าใครอยากฉิบหายเหมือนผมให้เล่นหุ้นสถาบันการเงิน" แกพูดประชด

ข้อสอง...ให้เน้นลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดี เราจะรู้ได้ยังไงว่าจ่ายปันผลดี ก็ต้องไปค้นประวัติว่าบริษัทนี้มีกำไรดีต่อเนื่องมาแล้วกี่ปี เราจะได้รู้ว่าบริษัทนี้มีรายได้มั่นคงแค่ไหน มีประวัติการจ่ายปันผลสม่ำเสมอมาแล้วกี่ปี ควรเลือกหุ้นที่มีหนี้น้อยๆ หุ้นหลายบริษัทจ่ายเงินปันผลดีมาก ดีกว่าฝากเงินกินเยอะ หุ้นอย่างนี้แหละที่น่าซื้อ พอซื้อแล้วให้ถือยาวไปเลย

ข้อสาม...ต้องไปสืบดูประวัติผู้บริหารว่าซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ ข้อนี้สำคัญมากทุกอย่างดีหมดถ้าผู้บริหารเอาเปรียบผู้ถือหุ้น หรือไม่โปร่งใส หุ้นอย่างนี้อย่าไปซื้อมัน บางบริษัทมีผู้บริหารไม่กี่คนจ่ายเงินเดือน จ่ายโบนัสกันเองปีละ 30-40 ล้าน แต่จ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นนิดเดียว พวกมันเล่นรวยกันเองคนเดียว อย่างนี้เขาเรียกว่าพวก "โจร" แฝงตัวมานั่งบริหาร ระยะยาวหุ้นอย่างนี้ฉิบหายแน่ๆ

ข้อสี่...ต้องลดต้นทุนให้ต่ำลงตลอดเวลา นั่นคือ ต้องรู้จักดึงเงินทุนออกเหลือเอาไว้แต่กำไร ลุงโกศลเล่าว่าถึงหุ้นจะตกหนักแค่ไหน สาเหตุที่แกไม่เจ๊งก็เพราะรู้จักดึงทุนเก่าออก หุ้นที่ถืออยู่ส่วนใหญ่แทบไม่มีต้นทุนเหลืออยู่แล้ว เพราะถือมานาน ตัวไหนมีกำไรก็ขายออกเอาเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่น หรือเอาเงินปันผลของมันนั่นแหละซื้อหุ้นตัวเอง พอหุ้นลงก็ค่อยๆ ซื้อกลับ ต้นทุนของหุ้นก็จะค่อยๆ ต่ำลง

สมมุติว่าซื้อหุ้นไว้ที่ราคา 30 บาท ได้เงินปันผลปีละ 10% ก็เท่ากับปีละ 3 บาท เอา 3 บาทไปซื้อหุ้นตัวมันเอง ถ้าทำอย่างนี้ 3 ปี เราก็จะได้หุ้นมากขึ้น ต้นทุนถูกลง ถ้าถือมา 3 ปี ราคาหุ้นขึ้นไป 60 บาท เราก็ขายหุ้นออกไปครึ่งหนึ่ง เท่ากับว่าหุ้นที่เราถืออยู่เป็นกำไรทั้งหมด เราไม่ต้องขายถือต่อไปยาวเลย แล้วก็เอาปันผลของมันซื้อตัวมันเอง ส่วนทุนเดิมของเราก็เอาไปลงทุนซื้อหุ้นตัวอื่นอีก ถ้าราคาลงมาเราก็ค่อยๆ ซื้อกลับเข้าไปอีก ไม่ต้องรีบร้อนซื้อตอนราคาแพง

"ผมเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2530 จากคนไม่มีประสบการณ์เลย ค่อยๆ ศึกษาเอา หุ้นที่ซื้อเอาไว้ขึ้นไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมก็ขายเอาทุนไปลงซื้อหุ้นตัวอื่น เหลือแต่กำไรเอาไว้ ผมบอกได้เลยว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่ยังถืออยู่เหลือแต่กำไร อย่างหุ้นคาร์เปทอินเตอร์ฯ(เพิกถอนไปแล้ว) ที่ถือเป็นแสนหุ้นมีต้นทุนเหลือแค่หุ้นละ 7 บาท ทุนเก่าผมดึงขึ้นมาหมดแล้ว ขาย 45 บาทยังไงก็มีกำไร แต่ผมไม่ขายจะถือเอาไว้สู้กับมัน"

ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมามากๆ ลุงโกศลแนะนำว่า นี่แหละคือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อหุ้นดีราคาถูกเก็บเอาไว้ แกย้ำว่า "ถ้าไม่เล่นเก็งกำไรซะอย่าง ไม่ต้องไปกลัวเจ๊ง แต่ขอเตือนว่าอย่าไปเชื่อโบรกเกอร์มากไอ้พวกนี้มันหวังค่าต๋ง ใครเชื่อมันรับรองว่าเจ๊งหุ้นหมด"

แม้อายุจะมากแล้วแต่ลุงโกศล ยังทำการบ้านเรื่องหุ้นไม่เคยขาด แกจะเก็บสถิติหุ้นเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากเคล็ดไม่ลับที่เปิดเผยแล้ว ยังมีคติในการลงทุนที่เรียนรู้มาจากประสบการณ์ อีกหลายอย่าง

คติแรก...เสียดายดีกว่าเสียใจ การเล่นหุ้นเราต้องถือคติว่า ถ้าไม่แน่ใจก็อย่าลงทุน ถ้าหุ้นขึ้นไม่ได้ลงทุนก็ไม่เป็นไร อย่าเสียดาย ดีกว่าไปเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อแล้วมานั่งเสียใจทีหลัง เพราะถ้าพลาดท่าจะเสียใจ

คติที่สอง...อย่าโลภ สมมติว่าฝากแบงก์ได้ดอกเบี้ย 5% แต่ลงทุนในหุ้นเราตั้งเป้าหมายไว้ที่ 20% เราก็ต้องพอใจแค่นี้ บางคนพอได้ 20% ก็ขอ 30% พอได้ 30% ก็ขอ 40% ยังงี้ยังไงก็ไม่พอสักที ก็เลยไม่ได้ขาย รอจนหุ้นตกก็ยังหวังว่าหุ้นมันจะขึ้นมาถึงที่เดิมอีก

คติที่สาม...ต้องรู้ไส้รู้พุงหุ้น คนที่จะซื้อหุ้นตัวไหนต้องรู้จักสินค้าของบริษัทนั้นทุกแง่มุม หุ้นดีราคาหุ้นก็จะขึ้นไปเองตามธรรมชาติ เวลาหุ้นตกไปเจอหุ้นพื้นฐานไม่ดีก็ต้องกล้าตัดความเสี่ยงทิ้ง

คติที่สี่...หุ้นขึ้นให้ขายหุ้นลงให้ซื้อ พอหุ้นลงคนอื่นเขาเมินหน้า เราต้องติดตามความก้าวหน้าของบริษัท เมื่อมีความก้าวหน้าดีแต่ราคาต่ำ ไม่มีคนสนใจ เราก็ซื้อเอาไว้ พอหุ้นขึ้นคนแย่งกันซื้อเราก็ทยอยขาย ซื้อมาขายไปจะทำให้เราได้หุ้นมาเปล่า (ไม่มีต้นทุน) เก็บเอาไว้ ยกเว้นว่าหุ้นดีจริงๆ เราก็ถือยาวเอาไว้กินปันผล

คติที่ห้า...อย่าเล่นหุ้นแบบนักพนัน การเล่นหุ้นต้องเล่นแบบนักบริหาร ต้องมีความอดกลั้น อย่าเชื่อข่าวลือ

บทเรียนการเล่นหุ้นสไตล์ "ปลอดภัย" ของลุงโกศล คงไม่มีคำว่า "ล้าสมัย" สิ่งที่ลุงทิ้งเอาไว้ก็คือ "แก่นคิด" การลงทุนที่ไม่เคยถูกกาลเวลากลืนหาย แม้สังขารของลุงจะจากไปไม่มีวันกลับก็ตาม....นอนหลับให้สบายเถอะครับ!!!"คุณลุง"
เป็นบุญหนักหนาเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย เป็นคนไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
ล็อคหัวข้อ