How to Stay Young/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

How to Stay Young/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

เมื่อปลายเดือน มี.ค. ผมได้เข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับการนำหุ้นเข้าตลาด และการสืบทอดธุรกิจและทรัพย์สมบัติ จัดร่วมกันโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ซึ่งในวันนั้นผมโชคดีพบลูกค้าของ ภัทรฯ ท่านหนึ่ง แนะนำให้ผมดูรายการโทรทัศน์ของบีบีซี เรื่อง How to Stay Young ซึ่งมีคณะแพทย์และนักวิชาการ แสวงหาแนวทางทำให้ร่างกายไม่แก่ตัว ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจอย่างมาก จึงต้องขอขอบคุณลูกค้าท่านนั้นอีกครั้งหนึ่งที่กรุณาให้คำแนะนำ

โดยรายการล่าสุดนั้น กล่าวถึงการรักษาสุขภาพของสมอง ซึ่งโตเต็มที่ตอนอายุ 25 ปี แล้วเริ่มหดตัวลงทีละน้อย จนมาเร่งการหดตัวลงปีละ 0.5-1.0% หลังอายุ 60 ปี แปลว่าสมองของเราจะหดตัวลงไป 15% เมื่ออายุ 75 ปี จากที่โตเต็มที่ตอนอายุ 25 ปี แต่ข่าวดีคือ งานวิจัยที่ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งติดตามประวัติและพัฒนาการของสมองของประชาชนกลุ่มหนึ่งยาวนานกว่า 60 ปี จากอายุ 11 ปี ถึงอายุ 79 ปี พบว่าการหดตัวของสมองมนุษย์นั้น สรุปว่า 25% เป็นผลมาจากพันธุกรรม แต่อีก 75% เป็นผลมาจากการดำเนินชีวิต (Life Style Choices)

การมีสมองที่สุขภาพดีและแข็งแรงนั้น เกิดควบคู่ไปกับการมีอายุยืน ซึ่งคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่บนเกาะโอกินาวานั้น ถือได้ว่าเป็นคนที่อายุยืนและมีสุขภาพดีที่สุดในโลก (มีคนอายุเกิน 100 ปี 34 คน ต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ 3 เท่า ในขณะที่คนญี่ปุ่นมีอายุยืนสูงสุดในโลกอยู่แล้ว) กล่าวคือ นอกจากจะมีคนอายุเกินกว่า 100 ปี มากกว่าที่อื่นๆ แล้ว ยังพบว่าคนโอกินาวา เป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าประชากรโลกถึง 50% และมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าประชากรโลกถึง 80% จึงมีความพยายามศึกษาว่าความอายุยืนของร่างกายและสมองของชาวโอกินาวานั้น เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

ในรายการบีบีซีมีข้อสังเกตว่า คนโอกินาวาบริโภคมันหวานสีม่วง เฉลี่ยคนละครึ่งกิโลกรัมต่อวัน โดยมันหวานดังกล่าวมีสาร Anthocyanin ซึ่งเชื่อว่าเป็นยาบำรุงให้สมองแข็งแรง (สารดังกล่าวนั้นมีในผลไม้อื่น ๆ เช่น blackcurrant, blackberries และ blue berriesเป็นต้น) นักวิชาการบางคนเชื่อว่าคนโอกินาวาอายุยืน (และสุขภาพดี) เพราะบริโภคแคลอรีเพียง 83% ของการบริโภคแคลอรีของชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ

นอกจากนั้น ก็ยังพบว่า คนโอกินาวาที่อายุเกิน 100 ปีนั้น จะมีสัดส่วนไขมันในตัวน้อยมาตลอดชีวิต คือเฉลี่ย BMI (Body Mass Index) เพียง 18-22 โดยคนที่ BMI เท่ากับ 23 หรือว่าต่ำกว่านั้น ถือว่าเป็นคนผอม

รายการบีบีซี ยังทำการทดลองแบ่งคนอังกฤษอายุเกินกว่า 60 ปี เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่หนึ่ง ให้เดินออกกำลังกาย ครั้งละ 1 ชม. 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 10 สัปดาห์ และกลุ่มที่สอง ให้ออกกำลังกายโดยการเล่นปิงปอง ครั้งละ 1 ชม. 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และวัดประสิทธิภาพของสมองก่อนและหลังการทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อดูว่ากิจกรรมใดจะมีประโยชน์ในการพัฒนาสมองมากกว่า ผลปรากฏว่า

1.คนที่เดินนั้น สมองพัฒนาดีขึ้นในด้านการแก้ปัญหาและความจำ (problem-solving, memory) มากกว่าคนที่เล่นปิงปองถึง 2 เท่า

2.คนที่เดินนั้น เซลล์ neuron ในส่วนของ hippocampus เพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่เล่นปิงปองมากถึง 3 เท่าตัว ซึ่ง hippocampus นั้น เป็นส่วนของสมองที่ควบคุมความจำและความสามารถในการเรียนรู้ (ability to learn)

3.แต่ในส่วนของสมองที่เรียกว่า cortex นั้น แน่นหนาเพิ่มขึ้นมากกว่า 11 เท่า สำหรับคนที่เล่นปิงปอง โดย cortex นั้น เป็นส่วนของสมองที่ใช้ในการคิดค้นเรื่องที่สลับซับซ้อน (complex thinking) และส่วนที่ทำให้มีความเฉียบแหลมในความคิด (mental sharpness)

4.คนที่เล่นปิงปองมีความรู้สึกเชิงลบ (negative emotions) น้อยกว่าคนที่เดิน แปลว่าการเล่นปิงปองจะช่วยลดความรู้สึกหดหู่ได้ดีกว่า

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการกล่าวถึงการศึกษาสมองของแม่ชี 600 คน ยาวนานถึง 30 ปี และสามารถตรวจสอบสมองของแม่ชีกลุ่มดังกล่าว หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว พบว่าการศึกษาในวัยเด็กมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพของสมอง กล่าวคือ แม่ชีที่มีการศึกษาสูงสามารถเขียนบันทึกรายวัน (diary) ที่มีการเรียบเรียงเรื่องราวอย่างละเอียดและมีสำนวนที่สลับซับซ้อน เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดที่ลึกซึ้ง สมองมีสุขภาพดีแข็งแรงจนวันตาย แตกต่างจากแม่ชีที่มีการศึกษาต่ำ และเขียนบันทึกรายวันสั้นๆ ห้วนๆ จะประสบปัญหาทางสมองเสื่อมในวัยแก่เฒ่า

ประเด็นสุดท้ายคือการค้นพบว่าหนูอายุมากที่ได้รับเลือดจากหนูหนุ่ม ทำให้สมองพัฒนาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีการทดลองถ่ายเลือดคนหนุ่มให้กับคนแก่ในสหรัฐ เพื่อดูว่าจะช่วยรักษาโรคสมองเสื่อมหรือการแก่ตัวของสมองได้มากน้อยเพียงใด
[/size]
โพสต์โพสต์