ขนาดของพอร์ต VS ผลตอบแทน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ขนาดของพอร์ต VS ผลตอบแทน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในเรื่องของการลงทุนนั้น มี “ความจริง” ที่นักลงทุนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่อยู่ในตลาดหุ้นมานาน “ยอมรับ” ก็คือ เมื่อพอร์ตมีขนาดใหญ่มากขึ้น ผลตอบแทนการลงทุนของเขาก็จะลดต่ำลง ปีเตอร์ ลินช์ เคยบอกว่าขนาดของพอร์ตที่ใหญ่ขึ้นมากนั้นเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการสร้างผลตอบแทนที่ดี และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่เขาเกษียณตัวเอง “ก่อนกำหนด” เพราะรับภาระในการเลือกหาหุ้นลงทุนและต้องทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างเดิมไม่ไหว เขาคงคิดว่าการหาหุ้นขนาดเล็กและโตเร็วนับร้อยหรือพันตัวเพื่อรองรับกับเงินกองทุนขนาดมหึมาไม่ไหว อย่าลืมว่าในช่วงประมาณ 13 ปี สิ้นสุดปี 1990 ที่เขาบริหารกองทุนรวมแมกเจลลัน เขาทำผลตอบแทนแบบทบต้นได้ถึงปีละประมาณ 29% แต่เม็ดเงินที่บริหารนั้นเริ่มต้นจากน้อยมากที่ 20 ล้านเหรียญกลายเป็น 14,000 ล้านเหรียญในวันที่เขาเกษียณ การที่จะทำผลตอบแทนได้ดีแบบเดิมต่อไปด้วยเงินขนาดนั้นก็แทบเป็นไปไม่ได้

วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่าถ้าเขาบริหารเงินจำนวนน้อย ๆ อย่างสมัยก่อนที่เขาเพิ่งจะเริ่มลงทุน การสร้างผลตอบแทนถึงปีละ 50% ก็เป็นไปได้ เหตุผลสำคัญก็คือ เขาสามารถลงทุนในหุ้นตัวเล็ก ๆ ที่ Undervalue หรือมีราคาถูกมากและไม่มีคนสนใจได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีมากต่อพอร์ตที่มีขนาดเล็กนั้น ในขณะที่ในปัจจุบัน พอร์ตของบัฟเฟตต์นั้นมีขนาดมโหฬารที่ทำให้เขาจะต้องลงทุนแต่ในบริษัทขนาดยักษ์เท่านั้นถึงจะส่งผลต่อผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตได้ และหุ้นขนาดใหญ่เหล่านั้นก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดเล็กที่ยังสามารถเติบโตได้เร็วกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม “ความจริง” ที่ว่าพอร์ตเล็กมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพอร์ตใหญ่นั้น ก็ไม่จริงเสมอไปโดยเฉพาะถ้าเราตั้งคำถามว่าขนาดเท่าไรถึงจะเรียกว่าใหญ่ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนเริ่มน้อยลง? จริงอยู่ พอร์ตเล็กนั้นย่อมมีความได้เปรียบหลายอย่างในเรื่องของการลงทุน เช่น ข้อแรก เราจะไม่มีข้อจำกัดในการเลือกหุ้น เราสามารถเลือกลงทุนในหุ้นได้ทุกตัวและการลงทุนในหุ้นตัวนั้นก็มีนัยยะต่อผลตอบแทน ดังนั้น คนที่มีพอร์ตเล็กจึงได้เปรียบ แต่คนที่พอร์ตใหญ่ระดับหนึ่งแต่ไม่ถึงกับใหญ่มากก็ยังสามารถลงทุนในหุ้นจำนวนมากพออยู่ดี ข้อสอง ก็คือเรื่องของการกล้ารับความเสี่ยง คนพอร์ตเล็กก็มักจะสามารถลงทุนในหุ้นแบบกระจุกตัวได้มากกว่า เหตุผลก็เพราะเขาอาจจะคิดว่าเงินจำนวนน้อย ถ้าเสียหายหนักเขาก็ “ไม่ตาย” หาใหม่ได้ แต่นี่ก็อีกเช่น คนที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมาในระดับหนึ่ง เขาก็ยังสามารถลงทุนแบบ Focus ในหุ้นน้อยตัวซึ่งก็อาจจะไม่เสียเปรียบเท่าไร

แต่คนที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมานั้นเองก็อาจจะมีข้อได้เปรียบคนที่พอร์ตเล็กเช่นกัน ครั้งหนึ่งในช่วงที่บัฟเฟตต์เริ่มมีพอร์ตใหญ่ขึ้นมากซึ่งก็น่าจะประมาณซัก 10 ปีหลังจากที่เขาเริ่มบริหารกองทุน เขาบอกว่าการที่พอร์ตใหญ่ขึ้นนั้นทำให้เขา “ได้เปรียบ” ที่สามารถเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทอื่นที่มีราคาถูกมาก การเป็นเจ้าของบริษัทเหล่านั้นทำให้เขาสามารถกำหนดทิศทางหรือกำหนดการจัดสรรเงินเช่นการลงทุนใหม่และการจ่ายปันผลของบริษัทซึ่งทำให้บริษัทเหล่านั้นมี Value หรือมีมูลค่ามากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็รวมถึงหุ้นของบริษัทเบิร์กไชร์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันที่เขาซื้อมาในราคาที่ถูกมาก ในขณะที่คนพอร์ตเล็กนั้นทำได้อย่างเดียวก็คือการลงทุนแบบ “Passive” นั่นก็คือ ได้แต่ซื้อหรือขายหุ้นโดยที่ไม่สามารถจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลในบริษัทได้เลย

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน บัฟเฟตต์หรือเบิร์กไชร์จะใหญ่จนคนคิดว่ามีแต่เสียเปรียบคนพอร์ตเล็กกว่าในการสร้างผลตอบแทนที่ดีนั้น ผมก็คิดว่าไม่จริงทั้งหมด เหตุผลก็เพราะว่าความใหญ่ของเบิร์กไชร์ก็ทำให้มีชื่อเสียงที่สามารถดึงดูดดีลการลงทุนที่ดีและให้ผลตอบแทนสูงได้ ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์และ/หรือบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งมีปัญหา เบิร์กไชร์ก็มักจะเป็นคนแรกหรือตัวเลือกแรกที่จะเข้าไป “กู้” ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์สามารถต่อรองซื้อหลักทรัพย์ในราคาถูกมากได้ และนี่ก็คือเหตุผลที่นักวิชาการหรือคนที่ติดตามผลงานการลงทุนของเบิร์กไชร์บอกว่าเป็นข้อได้เปรียบที่นักลงทุนหรือกองทุนอื่นไม่สามารถทำได้

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทยและนักลงทุนไทย ความคิดที่ว่าคน “พอร์ตเล็ก” จะได้เปรียบและมักจะสามารถทำผลตอบแทนที่สูงหรือดีกว่าคน “พอร์ตใหญ่” นั้น ผมคิดว่าก็อาจจะจริงในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่เสมอไป คงจะคล้าย ๆ กับประสบการณ์อย่างในกรณีของบัฟเฟตต์แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน

เรื่องแรกเกี่ยวข้องกับความสามารถในการเลือกหุ้นขนาดเล็กนั้น ผมคิดว่าคนพอร์ตเล็กได้เปรียบที่สามารถ “เล่นหุ้นได้ทุกตัว” พร้อมที่จะเข้าออกได้โดยไม่ทำให้ “เสียราคา” แต่ผมเองคิดว่านี่ก็ไม่ได้เป็นความได้เปรียบที่มากมายอะไรนัก เพราะหุ้นมีจำนวนมากมายเทียบกับขนาดของพอร์ตของนักลงทุนส่วนบุคคล การที่จะพลาดหุ้นเล็กและถูกมากบางตัวไปก็คงไม่ทำให้หาหุ้นถูกตัวอื่นยากนัก เช่นเดียวกัน การลงทุนที่ต้องกระจายหุ้นมากขึ้นเองนั้น ผมเองก็เห็นว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ก็ยังคงสามารถลงทุนในหุ้นน้อยตัวได้ นอกจากนั้น คนพอร์ตใหญ่บางคนเองก็ยังกู้เงินซื้อหุ้นด้วยมาร์จินไม่น้อยไปกว่านักลงทุนรายเล็ก ดังนั้น ความได้เปรียบของคนพอร์ตเล็กในสองกรณีนี้ก็ไม่มากนัก

ในทางตรงกันข้าม คนพอร์ตใหญ่บางคนเองนั้นกลับได้เปรียบคนพอร์ตเล็กมากในเรื่องของการที่สามารถ “ส่งอิทธิพล” หรือมีอิทธิพลต่อราคาหรือผลตอบแทนของหุ้นที่ตนเองลงทุนได้ พวกเขาไม่ใช่นักลงทุนที่ Passive เนื่องจากขนาดการลงทุนของเขานั้นมักจะสูงเมื่อเทียบกับตัวหุ้นหรือ Free Float ของหุ้นในตลาดที่ลงทุน

ขนาดพอร์ตที่ใหญ่นั้น บางทีก็ทำให้ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO มาก หรือที่ดียิ่งกว่าก็คือ ได้รับการเสนอขายหุ้น PP ในราคาที่ถูกมาก นี่ทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบกำในหลาย ๆ กรณี ถ้าจะบอกว่าคล้าย ๆ กับกรณีการได้ดีลที่ดีแบบบัฟเฟตต์ก็อาจจะพูดได้ แม้ว่าในกรณีของตลาดหุ้นไทยหลายครั้งก็ถูกตั้งคำถามถึง “ความโปร่งใส” อยู่ไม่น้อย เพราะหุ้นที่ได้รับดีลที่ดีมาถูกขายออกอย่างรวดเร็วทำกำไรมหาศาลก่อนที่จะร่วงลงมาและทำให้นักลงทุนรายย่อยขาดทุนอย่างหนัก

ความได้เปรียบของการมีพอร์ตใหญ่ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ “แรงซื้อ” ที่มากพอที่จะ “ขับเคลื่อนราคาหุ้น” โดยเฉพาะหุ้นที่มีจำนวนหมุนเวียนในตลาดหุ้นน้อยซึ่งก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นไทยที่ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของเดิมยังถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทอยู่ การที่รายใหญ่ซื้อหุ้นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในขณะที่คนขายมีจำกัดก็มักทำให้ราคาวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาก็คือ ความ “ตื่นเต้น” ของนักเล่นหุ้นรายย่อยที่มักจะเข้ามาซื้อขายตาม ผลก็คือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วซึ่งทำให้นักลงทุนพอร์ตใหญ่มีโอกาสขายหุ้นทำกำไรมหาศาลได้ในเวลาอันสั้น

ข้อสรุปของผมก็คือ ในตลาดหุ้นไทยนั้น การเป็นคนพอร์ตเล็กหรือบริหารเงินจำนวนน้อยนั้น น่าจะช่วยให้สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ถ้าทั้งสองพอร์ตถูกออกแบบให้รับความเสี่ยงเท่า ๆ กันผ่านการกระจายความเสี่ยงเท่า ๆ กันเช่น ถือหุ้นกระจายตัวและไม่เล่นหุ้นด้วยมาร์จินเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อนุญาตให้ทั้งสองพอร์ตสามารถ “เล่นได้ทุกรูปแบบ” พอร์ตขนาด “ร้อยหรืออาจจะถึงพันล้านบาท” ก็อาจจะไม่เสียเปรียบพอร์ตไม่เกิน 2-3 ล้านบาท
echelon
Verified User
โพสต์: 158
ผู้ติดตาม: 1

Re: ขนาดของพอร์ต VS ผลตอบแทน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ

อยากชวนเพื่อนๆ ในห้องมาร่วมแสดงความคิดเห็นกันครับ
คำพูดของวอเร็น บัฟเฟตต์ที่ว่า "ถ้าเขาบริหารเงินจำนวนน้อย ๆ อย่างสมัยก่อนที่เขาเพิ่งจะเริ่มลงทุน การสร้างผลตอบแทนถึงปีละ 50% ก็เป็นไปได้"
ผมคิดว่าคำพูดนี้ไม่น่าจะมองผลตอบแทนแค่ 1-2 ปี แต่น่าจะมั่นใจว่าสามารถได้ผลตอบแทนประมาณนี้ยาวถึงกรอบ 10 ปีได้เลย ถ้าบริหารเงินจำนวนไม่มาก
คำถามคือ ด้วยเงื่อนไขนี้วอเร็น บัฟเฟตต์จะซื้อหุ้นแนวไหน ??? เช่น turn around, growth stock,value stock..
โดยอิงจากลักษณะนิสัยการซื้อหุ้นเดิมวอเร็น
- ทำไมหุ้นถึงจะสามารถทำ perfomance ขนาดนั้นได้??
- ถ้าซื้อหุ้นเติบโต ก็น่าจะราคาแพงหน่อยแล้ว(มีสตอรี่โตตั้งปีล่ะ 50 %) pe คง 30+ เรื่อง valuation ทำไง??
nut776
Verified User
โพสต์: 3350
ผู้ติดตาม: 4

Re: ขนาดของพอร์ต VS ผลตอบแทน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

echelon เขียน:ขอบคุณครับ

อยากชวนเพื่อนๆ ในห้องมาร่วมแสดงความคิดเห็นกันครับ
คำพูดของวอเร็น บัฟเฟตต์ที่ว่า "ถ้าเขาบริหารเงินจำนวนน้อย ๆ อย่างสมัยก่อนที่เขาเพิ่งจะเริ่มลงทุน การสร้างผลตอบแทนถึงปีละ 50% ก็เป็นไปได้"
ผมคิดว่าคำพูดนี้ไม่น่าจะมองผลตอบแทนแค่ 1-2 ปี แต่น่าจะมั่นใจว่าสามารถได้ผลตอบแทนประมาณนี้ยาวถึงกรอบ 10 ปีได้เลย ถ้าบริหารเงินจำนวนไม่มาก
คำถามคือ ด้วยเงื่อนไขนี้วอเร็น บัฟเฟตต์จะซื้อหุ้นแนวไหน ??? เช่น turn around, growth stock,value stock..
โดยอิงจากลักษณะนิสัยการซื้อหุ้นเดิมวอเร็น
- ทำไมหุ้นถึงจะสามารถทำ perfomance ขนาดนั้นได้??
- ถ้าซื้อหุ้นเติบโต ก็น่าจะราคาแพงหน่อยแล้ว(มีสตอรี่โตตั้งปีล่ะ 50 %) pe คง 30+ เรื่อง valuation ทำไง??
บัฟเฟต ผมไม่แน่ใจ
แต่เท่าที่เคยรู้ บัฟ เขา discount future value มาเป็นมูลค่าปัจจุบัน
ไม่ได้ใช้ pe โต้งๆอย่างที่ คนชอบไปสมอ้างกัน
ref จาก การ สวิชหุ้น ที่มีกำไร มากจากตัวนึงไปเป็นอีกตัวนึง
แล้วคนงง ว่าทำไปทำไม ( แต่อ่านจากไหนผมจำไม่ได้ละ)

ส่วนไอเดียซื้อ หุ้น growth ตามที่พี่ว่า
ผมมั่วๆ ของผมเอง คือ
ผมคิดว่า 50% growth ต้องมี สมมติฐาน time frame ที่เหมาะสมคับ
แล้ว พี่กะใส่ตัวเลข assumption เพื่อให้ได้ future value ที่ควรจะเป็น
แล้วสุดท้าย เอามาเทียบ กับ present value
โดย discount rate ที่ได้ จะเป็นตัวบอก ผลตอบแทน
ถ้า assumption ตลอด time frame ไม่เปลี่ยน
และน่าจะเป็น ที่มา ของ ประโยค ที่ บัฟเฟต เคยบอกว่า
price is what your get อะไรนองเนี้ยป่าว (จำไม่ค่อยได้)

ส่วนตัว ผมว่า peg ค่อนข้าง มั่ว กับมักง่าย เกิน
จริงๆ คนมักเบือนหน้าหนี dcf แต่จริงๆ หลักคิด
มันเอามาใช้ ทำมาหากิน กับ หุ้น growth ได้สมเหตสมผล กว่าpe หรือ peg มาก
แค่ ไม่กำหนด time frame ของ scenarion
ก้ับ ไม่จำลอง future value ผมว่า มันกะมั่วมากกว่าเยอะแล้ว

ปล ที่เขียนมา ทั้งหมด มั่วนะ disclamer all
show me money.
echelon
Verified User
โพสต์: 158
ผู้ติดตาม: 1

Re: ขนาดของพอร์ต VS ผลตอบแทน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ พอพูดถึงเทคนิคการสวิตซ์หุ้นไปมา ทำให้นึกถึงเทคนิคของคุณ Yoyo เลย :D
https://www.facebook.com/yoyoinvestingw ... 7608640759
ลูกอิสาน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 6490
ผู้ติดตาม: 867

Re: ขนาดของพอร์ต VS ผลตอบแทน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

อีกประเด็นคือการที่นักลงทุนรายใหญ่สามารถเข้าพบผู้บริหารได้
ไม่ใช่รายใหญ่ทุกคน หรือทุกบริษัทที่ทำอย่างนั้น แต่มีหลายบริษัทแน่ๆ
และทำให้มีความได้เปรียบของข้อมูล เปรียบเทียบกับนักลงทุนทั่วไป

เหมือนนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย (กองทุน นักวิเคราะห์)
ที่บอกว่าทำผลตอบแทนได้สูงกว่าคนทั่วไป
มากกว่าเพราะเก่งกว่า หรือมากกว่าเพราะเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า สงสัยไหม

เมื่อไหร่เมืองไทย กฎการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน
กฎหมายกับการกระทำ จะเป็นสิ่งเดียวกัน
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว
ภาพประจำตัวสมาชิก
theerasak24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 621
ผู้ติดตาม: 1

Re: ขนาดของพอร์ต VS ผลตอบแทน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ลูกอิสาน เขียน:อีกประเด็นคือการที่นักลงทุนรายใหญ่สามารถเข้าพบผู้บริหารได้
ไม่ใช่รายใหญ่ทุกคน หรือทุกบริษัทที่ทำอย่างนั้น แต่มีหลายบริษัทแน่ๆ
และทำให้มีความได้เปรียบของข้อมูล เปรียบเทียบกับนักลงทุนทั่วไป

เหมือนนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย (กองทุน นักวิเคราะห์)
ที่บอกว่าทำผลตอบแทนได้สูงกว่าคนทั่วไป
มากกว่าเพราะเก่งกว่า หรือมากกว่าเพราะเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า สงสัยไหม

เมื่อไหร่เมืองไทย กฎการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน
กฎหมายกับการกระทำ จะเป็นสิ่งเดียวกัน

อยากให้มีสิ่งนั้นเกิดขึ้นนะครับ แต่ว่าคงจะยาก เพราะมันมีมานานมากแล้ว และมันก็เป็นอย่างนี้ ตราบเท่าที่มันยังมีผลประโยชน์เกิดขึ้น แต่ก็แก้ไขได้ด้วยการลงทุนระยะยาวใช่ไหมครับพี่ อย่างที่พี่บอก ระยะสั้นตามข่าว ระยะยาวตามผลประกอบการ
"เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะยังคงทำสิ่งต่างๆ ต่อไปตราบใดที่มันยังให้ความรื่นรมย์และคุณก็ทำมันได้ดี"
โพสต์โพสต์