ทรัมป์จะประสบความสำเร็จ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่? (3)

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ทรัมป์จะประสบความสำเร็จ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่? (3)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมสรุปว่าทรัมป์คงจำเป็นต้อง ขอเสียงสนับสนุนจากสส.พรรคเดโมแครตเพราะแม้รีพับลิกันจะมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่ากึ่งหนึ่งไป 21 เสียง แต่กลุ่มขวาจัดคือ Freedom Caucus สามารถคุมเสียงได้ 30-40 เสียงเพื่อต่อรองเรื่องปฏิรูประบบประกันสุขภาพ จนทำให้ต้องยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของพรรครีพับลิกัน เพราะปกติแล้วประธานาธิบดีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเพียง 2 เดือนจะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น แต่ก็ต้องกล่าวตำหนิประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยว่า ทำไมจึงเร่งรัดเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งเช่นการประกันสุขภาพ โดยใช้เวลาหาเสียงสนับสนุนเพียง 3 สัปดาห์แล้วต้องล้มเลิกไป ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาใช้เวลากาเสียงสนับสนุนและ “ขาย” ร่างกฎหมายประกันสุขภาพของตนนานเกือบ 1 ปีครึ่ง ทำให้นักการเมืองฝ่ายเดโมแครตสรุปว่าพรรครีพับลิกันนั้นมีประธานาธิบดี “who is out of his league and doesn’t know how to legislate” เมื่อเดโมแครตคิดเช่นนี้ การที่จะยอมหันมาร่วมมือกับทรัมป์ ในการผ่านกฎหมายปฏิรูป และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคงทำได้ไม่ง่าย แม้ว่าพรรคเดโมแครทจะประกาศในหลักการว่าสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น

แต่ประเด็นสำคัญยิ่งคือการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลเพื่อการลงทุน หรือการลดภาษีนั้นย่อมหมายถึงการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ และการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้วในขณะนี้ จริงอยู่ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างเสมอมาว่าหากสามารถลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% และลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บั่นทอนการทำธุรกิจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้เร็วขึ้นอีกเท่าตัว คือจาก 1.5-2.0% ต่อปีเป็น 3-4% ต่อปี ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณตกไป แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐปัจจุบันขยายตัวประมาณ 2% ปีนั้น ก็ขยายตัวจนเกือบเต็มกำลังแล้ว (เห็นได้จากการที่การว่างงานต่ำเพียง 5.8%) แปลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอาจนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมากกว่าการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวม

ดังนั้นการลดภาษีและการเพิ่มการลงทุนขนาดใหญ่ จึงน่าจะขึ้นกับเงื่อนไขสำคัญ คือจะสามารถหาเงินภาษีส่วนอื่น หรือลดรายจ่ายด้านอื่นมาทดแทนข้อเสนอลดภาษีนิติบุคคล และการเพิ่มรายจ่ายการลงทุนภาครัฐได้อย่างไร ซึ่งมีประเด็นที่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก คือร่างกฎหมายประกันสุขภาพของประธานสภาผู้แทนราษฎรนายพอลล์ ไรอันที่ตกไปนั้นได้มีเงื่อนไขที่จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดภาระทางการคลังจากนโยบายลดภาษีรายได้นิติบุคคลและเพิ่มงบลงทุนของภาครัฐได้ (ด้วยเหตุนี้สำนักงาน Congressional Budget Office จึงประเมินว่าร่างกฎหมายประกันสุขภาพของนายไรอันจึงทำให้ระบบประกันสุขภาพที่นำเสนอขึ้นมาใหม่ จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ลดลงในภาพรวม)

การควบคุมมิให้รายจ่ายใหม่สูงเกินกว่ารายได้ของรัฐบาล หรือควบคุมไม่ให้ขาดดุลงบประมาณมากกว่าเดิมนั้น นอกจากจะเป็นประเด็นสำคัญในเชิงเศรษฐศาสตร์และการรักษาวินัยทางการคลังแล้ว ก็ยังมีความสำคัญยิ่งในเชิงการเมืองของการผ่านกฎหมายเศรษฐกิจของสหรัฐอีกด้วย ซึ่งมีความสลับซับซ้อน แต่ผมต้องขออธิบายให้รับรู้ร่วมกันเพื่อจะได้สามารถติดตามกระบวนการทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐได้อย่างถูกต้อง กล่าวคือโดยปกติแล้วการผ่านร่างกฎหมายนั้นปัญหาหลักจะเกิดขึ้นในวุฒิสภามากกว่าในสภาผู้แทนราษฎร เพราะวุฒิสมาชิกที่มีเพียง 100 คน และจำนวนวุฒิสมาชิกของทั้ง 2 พรรคมักจะก้ำกึ่งกันมาโดยตลอด

ทั้งนี้วุฒิสภาแต่ละคนจะมีอำนาจทางการเมืองมาก เช่น มีงบประมาณให้ว่าจ้างผู้ช่วย 40-50 คนต่อวุฒิสมาชิก 1 คนและยังมีอำนาจชะลอการผ่านของกฎหมาย เพราะวุฒิสมาชิกทุกคนจะสามารถอภิปรายได้โดยไม่ถูกจำกัดเวลาและเมื่อวุฒิสมาชิกใช้อำนาจอภิปรายอย่างไม่จำกัดดังกล่าว (หรือที่เรียกกันว่า filibuster) ก็จะทำให้เกิดความล่าช้าและไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ เช่น หากสว. 46 คนของพรรคเดโมแครตต้องการจะชะลอการผ่านของร่างกฎหมาย ก็จะสามารถผลัดกันอภิปรายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ เว้นแต่จะมีการลงคะแนนเสียงยุติการอภิปรายดังกล่าว แต่ต้องมีเสียงสนับสนุนตั้งแต่ 60 เสียงขึ้นไป (cloture)

อย่างไรก็ดีจากปี 1974 เป็นต้นมา ก็ได้มีการปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ ที่จะจำกัดการอภิปรายพร่ำเพรื่อดังกล่าวภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า Budget Reconciliation ซึ่งเป็นการกำหนดเกณฑ์ในภาพใหญ่เกี่ยวกับการทำงบประมาณการเก็บภาษี และแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นพื้นฐานในการประเมินว่าจะอาศัยกระบวนการปกติ (ที่วุฒิสมาชิกสามารถอภิปรายได้โดยไม่จำกัด) หรือจะให้ผ่านกฎหมายการเงินได้โดยจำกัดการอภิปรายได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมง ซึ่งผมจะขอนำไปขยายความในครั้งต่อไปครับ
[/size]
โพสต์โพสต์