ปรุงกำไร/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

ปรุงกำไร/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ตัวเลข “กำไรสุทธิ” ของบริษัทจดทะเบียนนั้น บางครั้งมันก็อาจจะไม่ใช่ตัวที่ชี้ว่าบริษัทกำลังทำผลงานทางธุรกิจได้ดีและจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว แต่พอบริษัทมีกำไรเติบโตโดดเด่น โดยเฉพาะติดต่อกันมาซัก 2-3 ปีหรือบางทีน้อยกว่านั้นด้วย ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปสูงลิ่วจนไม่น่าเชื่อ ซึ่งก็จะทำให้คนที่มีหุ้นมากหรือคนที่ซื้อหุ้นไว้ก่อนสามารถทำกำไรจากหุ้นได้มหาศาลในระยะสั้น ดังนั้น กำไรของบริษัทจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนในแวดวงตลาดหุ้นสนใจกันมากที่สุดตัวหนึ่ง เพราะมันทำให้รวยหรือเจ๊งได้

เหตุผลที่ตัวเลขกำไรสุทธิในระยะสั้นอาจจะไม่ใช่เครื่องบ่งบอกความดีของบริษัทในระยะยาวนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าตัวเลข “กำไร” นั้น เป็นตัวเลข “ทางบัญชี” ที่บางส่วนขึ้นอยู่กับ “ความเห็น” ของผู้บริหารและเจ้าของหุ้นที่มีอำนาจในการจัดการบริษัทด้วย และกิจการหลายอย่างนั้น ความเห็นที่แตกต่างก็อาจจะทำให้กำไรแตกต่างกันได้มาก เช่น ถ้ามีความเห็นแบบหนึ่งก็กำไรมาก แต่ถ้ามีความเห็นอีกแบบหนึ่งก็อาจจะทำให้บริษัทขาดทุนได้ เรียกว่ากำไรนั้นสามารถ “ปรุงแต่ง” ได้โดยความเห็นของฝ่ายจัดการและเจ้าของหุ้นที่มีอำนาจในระยะสั้น

แรงจูงใจที่จะปรุงแต่งกำไรให้เติบโตโดดเด่นในช่วงสั้น ๆ 2-3 ปีนั้น มักจะมาจากการที่ฝ่ายบริหารและ/หรือเจ้าของหุ้น ต้องการทำกำไรจากหุ้นที่ตนเองถืออยู่หรือไม่ก็เป็นเรื่องของการต้องการแสดงผลงานที่โดดเด่นในช่วงนั้นด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม วิธีการ “ปรุงกำไร” นั้น บางครั้งก็ไม่ผิดกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย แต่หลายครั้งก็ผิดโดยเฉพาะเมื่อถูกจับได้โดยหน่วยงานควบคุมของรัฐเช่น กลต. เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว การปรุงกำไรแบบไม่ผิดกฎหมายนั้น ผลกระทบต่อกำไรก็อาจจะไม่มากเท่าวิธีที่ฉ้อฉล อย่างไรก็ตาม นี่เป็นประเด็นที่ผู้บริหารและเจ้าของหุ้นจะต้องเลือกว่าจะเสี่ยงแค่ไหนในการปรุงกำไร บางทีผู้บริหารก็จะต้องประเมินถึงโอกาสของการถูกจับได้ว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าดูแล้วโอกาสถูกจับได้น้อยเนื่องจากลักษณะของกิจกรรมหรือสถานที่ที่อาจจะอยู่ไกลเช่นในต่างประเทศและในสังคมที่ระบบบัญชีหรือการควบคุมยังมีมาตรฐานไม่สูง ผู้บริหารก็อาจจะกล้าทำมากขึ้น เป็นต้น

กรณีของหุ้น Enron บริษัทผู้ผลิตพลังงานขนาดใหญ่มากของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงประมาณปี 2000 นั้น ผู้บริหาร “ปรุงกำไร” ได้อย่างโดดเด่นติดต่อกันหลายปีมาก พวกเขาต่างก็ทำเงินมหาศาลจากหุ้นรวมถึงผลตอบแทนในฐานะผู้บริหารที่ได้รับ ไม่นับชื่อเสียงที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในระดับ

“ซุปเปอร์สตาร์” ในแวดวงธุรกิจ หุ้นเอนรอนเป็นขวัญใจของนักลงทุนสถาบันและทุกคนในตลาดหุ้น เพราะมันทำกำไรให้พวกเขามหาศาลในช่วงที่กำไรยังถูกปรุงให้โดดเด่นอยู่ และนี่ก็คือหุ้นของกิจการพลังงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วและขยายไปทั่วโลกด้วยการเทคโอเวอร์และวิศวกรรมการเงินที่ซับซ้อนในธุรกิจที่ร้อนแรง และอาจจะถูกออกแบบโดยผู้บริหารที่จะช่วยให้การ “ปรุงกำไร” ถูกมองข้ามแม้ว่าจะมี “ข้อสังเกตเล็ก ๆ” มานานจากคน “ขี้สงสัย” บางคน เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าคนส่วนใหญ่ในตลาดยังมีความสุขจาก “ปาร์ตี้” ใครจะอยากให้เลิก?

ผมคงไม่ต้องพูดต่อว่าในที่สุดเอนรอนก็ล้มละลายเนื่องจาก “ความจริง” ที่ปรากฏขึ้นว่ากิจการมีการฉ้อฉลจากการปรุงกำไรอย่างหนัก ราคาหุ้นเคยขึ้นไปจากประมาณ 45 เหรียญเป็นเกือบ 180 เหรียญในเวลา 2 ปี ก่อนที่จะตกลงมาเหลือ 0 เหรียญในเวลาเพียงปีเดียว ทุกอย่างที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนเคยมองว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นกิจการที่ “Defensive” เพราะเป็นเรื่องของพลังงานนั้นกลายเป็นความล้มเหลว ว่าที่จริงมันไม่เคยดีเลย มันถูกเชื่อว่าดีเพราะบริษัทแสดงตัวเลขกำไรที่ยืนยันและตอบโต้กับทุกคนที่อาจจะมีข้อสงสัยได้

ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น ในยามที่ตลาดหุ้นร้อนแรงมีการเก็งกำไรสูงมากโดยเฉพาะใน “หุ้นตัวเล็ก” ผมเองเชื่อว่าแรงจูงใจในการ “ปรุงกำไร” ก็น่าจะมีอยู่ไม่น้อย เหตุผลที่ผู้บริหารและเจ้าของหุ้นอยากทำนั้น ผมคิดว่ามีอยู่หลายประการ เริ่มตั้งแต่ “ผลตอบแทน” ที่อาจจะสูงลิ่วอานิสงค์จากการที่หุ้นตอบสนองต่อกำไรที่เพิ่มขึ้นมากมหาศาล การเพิ่มกำไรเพียงหุ้นละ 1 บาทบางทีสามารถเพิ่มมูลค่าหุ้นได้ 50 หรือ 100 บาท นี่เป็นข้อแรก ประเด็นต่อมาก็คือ ในบางธุรกิจนั้น การปรุงกำไรอาจจะทำได้ง่ายและไม่ผิดกฎเกณฑ์อะไร เช่น ในธุรกิจการเงินที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยแบ้งค์ชาตินั้น บริษัทสามารถกำหนดแนวทางการจัดการเรื่องหนี้เสียซึ่งปกติเป็นต้นทุนที่สำคัญได้ด้วยตนเอง เป็นต้น นอกจากนั้น กิจกรรมการเทคโอเวอร์หรือการซื้อขายติดต่อกับต่างประเทศเองก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะสามารถทำการปรุงกำไรได้อย่างสะดวกไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎ เหตุผลก็เพราะว่าการควบคุมของทางการหรือแม้แต่ผู้สอบบัญชีก็ทำได้ยากมาก

คำถามที่ว่าบริษัทมีการ “ปรุงกำไร” หรือเปล่านั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครยกหรืออยากยกขึ้นมาเป็นประเด็นโดยเฉพาะในยามที่กำไรกำลังโตขึ้นอย่างโดดเด่นพร้อมกับราคาหุ้นที่ “วิ่งทะลุฟ้า” และผู้บริหารกำลังได้รับการยอมรับเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” ในแวดวงธุรกิจ ในฐานะ VI ที่ดีนั้น การลงทุนในหุ้นที่เพิ่งจะมีกำไรโดดเด่นมาก ๆ ในช่วงสั้น ๆ จะต้องเป็นสิ่งที่เราระวังและตรวจสอบให้ดีว่าจะเป็นกำไรที่ “ปกติ” ไม่ได้ผ่านการปรุงจากผู้บริหารหรือไม่ เราจะต้องหาเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมกำไรจึงดีขึ้นมากและกำไรนั้นจะเติบโตต่อไปอีกนานแค่ไหน แหล่งของกำไรเองก็เป็นประเด็นที่สำคัญว่ามันเป็นแหล่งที่

ตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน การเทียบกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมเองก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะช่วยให้เราประเมินได้ดีขึ้นว่าบริษัทน่าจะมีการทำกำไรได้ปกติหรือไม่

ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นที่มีกำไรโดดเด่นขึ้นมาอย่างรวดเร็วจะต้องมาจากการปรุงกำไรของผู้บริหาร ที่จริงเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะรู้ว่าบริษัทมีการปรุงกำไรหรือไม่เนื่องจากเราเป็น “คนนอก” ที่มักจะติดตามแค่จากข่าวและตัวเลขการดำเนินงานของบริษัทที่มาจากบริษัทเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้ว่าเราจะรู้แบบ 100% ว่าบริษัทมีการปรุงกำไรและเราก็ไม่ควรจะคิดแบบนั้นตราบที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตาม การประเมินสถานการณ์และเหตุการรวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริหารโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับราคาหุ้นของบริษัทก็จะช่วยให้เราพิจารณาได้ดีขึ้นว่าความเสี่ยงของการที่บริษัทจะ “ปรุงกำไร” มีมากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวผมเองแล้ว หุ้นที่มีความเสี่ยงก็มักจะเป็นหุ้นที่ผมจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าราคาหุ้นก็ขึ้นไป “หลุดโลก” อยู่แล้ว ผมไม่รู้ว่าจะซื้อหุ้นทำไม เพราะถ้าบริษัทไม่ได้ปรุงกำไร อย่างมากผมก็แค่ “เจ๊า” เพราะราคาหุ้นมันสูงเกินไปอยู่แล้ว แต่ถ้าบริษัทกำลังเล่นแร่แปรธาตุอยู่ อนาคตก็คือ “หายนะ”
imerlot
Verified User
โพสต์: 2697
ผู้ติดตาม: 13

Re: ปรุงกำไร/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ปี 2016 หรือก่อนนี้ นิด
5,300 Wells Fargo employees fired over 2 million phony accounts
http://money.cnn.com/2016/09/08/investi ... bank-fees/

หรือ
ก่อนหรือหลังนั้นนิดๆ
The astonishing Volkswagen emissions scandal yesterday took another expensive step down its extremely long path to eventual resolution, as the company agreed to pay $4.3 billion to resolve the Justice Department’s criminal and civil investigation of the matter.
http://fortune.com/2017/01/11/volkswage ... scandal-2/

ทั้ง 2 บ มีประวัติ ยาวนาน บ แรก ถึง 100ปี
มันก็ยังเกิดเหตุได้ ..เนอะ

แต่บางที ไม่ได้ทำผิด
แค่ไปลงทุนผิด ไม่เป็นตามคาด
อย่างกรณี
After acquiring a majority stake in Pittsburgh-based Westinghouse Electric in 2006 for $5.4 billion, the Tokyo technology conglomerate had high hopes for rolling out a new generation of safer, smaller, cheaper power plants, as well as a series of streamlined full-scale reactors. Four of the latter are under construction in the United States, representing the only new reactors currently being built in the country. But the company was bedeviled by cost overruns, technical problems, conflicts with contractors, and regulatory challenges that set those projects back by years.

On Tuesday, Toshiba projected a $6.3 billion write-down for its nuclear unit and said it was looking to unload its stake.
https://www.technologyreview.com/s/6036 ... in-the-us/
ก็หายนะ พอกัน
pakhakorn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 957
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรุงกำไร/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

กรณีสงสัยว่า ดีเกินจริง เขาปรุงกำไรมาให้เรา

ตามที่ท่านอาจารย์สอน เราก็สามารถทอนเอาส่วนที่คิดว่า เกิน ออกมาได้

แล้วเอาส่วนที่เหลือ มาประเมินเองใหม่

:bow: :bow: :bow: :bow:
โพสต์โพสต์