Too good to be true/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

Too good to be true/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานและติดตามศึกษาหุ้นตลอดเวลารวมทั้งพยายามจดจำกรณีศึกษาหุ้นที่น่าสนใจและมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ก็มักจะพบหุ้นกลุ่มหนึ่งที่ “เคย” เป็นหุ้นที่โดดเด่นสุดยอดในแง่ของการที่หุ้นมีราคาปรับตัวขึ้นไปสูงสุดยอดในเวลาอันสั้น บางทีกว่า 10 เท่าในเวลาเพียง 2-3 ปี และนี่ไม่ใช่หุ้น “Turnaround” ที่หุ้นฟื้นตัวจากวิกฤติที่บริษัทเกือบเอาตัวไม่รอดและมูลค่าหุ้นเหลือเพียงน้อยนิดราคาหุ้นเป็นเศษสตางค์ แต่เป็นหุ้นธรรมดา ๆ ขนาดย่อม ๆ ที่อยู่ ๆ ก็มีราคาวิ่งขึ้นมหาศาลจนบางทีมีมูลค่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทกลายเป็นหุ้นขนาดกลางหรือใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกลายเป็น “หุ้นนางฟ้า” ปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยครั้งเกิดขึ้นเนื่องจากผลประกอบการที่โตขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” เช่นโตขึ้นกว่า 30-50% เมื่อเทียบกับปีก่อนไตรมาศต่อไตรมาศและดำเนินต่อกันมาหลายไตรมาศ บางบริษัทเป็นเพราะมีการเปิดดำเนินการของธุรกิจใหม่ที่ “มีอนาคตที่สดใส” และเป็น “เมกาเทรนด์” ที่อาจจะดำเนินต่อไปอีกนาน แต่บางบริษัทก็เป็นเพราะมีการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่ “มีขนาดใหญ่แบบไม่จำกัด” ซึ่งทั้งสองกรณีทำให้บริษัทถูกมองว่าจะกลายเป็นบริษัทที่โตได้ “ในระดับโลก”

ลำพังแค่กำไรของบริษัทโตมากจากฐานที่ต่ำในเวลาสั้น ๆ เพียง 4-5 ไตรมาศคงไม่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปได้มากเป็นเท่า ๆ และมีค่า PE เป็น 50-100 เท่าได้ Story หรือเรื่องราวว่าบริษัททำธุรกิจที่มีอนาคตสดใสเป็นเมกาเทรนด์หรือบริษัทขยายกิจการไปสู่ตลาดใหญ่ระดับโลกก็ไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจอะไรนักเนื่องจากมีบริษัทจำนวนไม่น้อยก็ทำแบบนั้น ว่าที่จริงหลาย ๆ บริษัทก็ทำแบบเดียวกันมาแล้วแต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือหลาย ๆ บริษัทอาจจะประสบความสำเร็จแต่ความสำเร็จนั้นก็อาจจะไม่โดดเด่นพอที่จะทำให้บริษัทโดยรวมที่มีขนาดใหญ่มีกำไรโตมากพอที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุน แต่สิ่งที่ทำให้หุ้นเหล่านั้นกลายเป็น “หุ้นนางฟ้า” ได้นั้นผมคิดว่าเป็นเพราะขนาดของ Free Float หรือจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุน ซึ่งนั่นทำให้หุ้นมักจะถูก “Corner” หรือถูกซื้อเกือบหมดโดยนักลงทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่เข้าไปซื้อหุ้นโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ผลก็คือ ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วโดยอาจจะไม่ได้อิงกับพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการ และนั่นนำมาซึ่ง ….สิ่งดี ๆ ทั้งหลายเกี่ยวกับหุ้น เพราะราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นเรื่อย ๆ นั้น มันมักจะเป็นสิ่งที่ “ยืนยัน”

ว่าบริษัทดี ยิ่งราคาหุ้นขึ้นไปมากเท่าไร บริษัทก็ยิ่งดูดีขึ้นเท่านั้น จนถึงวันหนึ่งมันก็ถึงจุดที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้อย่างที่พูดในภาษาอังกฤษว่า “Too good to be true”

หุ้นที่ “Too good to be true” นั้นโดยทั่วไปมักจะมีตัวเลขทั้งในเรื่องของการประกอบการและผลประกอบการที่โดดเด่นกว่าตัวเลขเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่าง “เทียบกันไม่ได้” เรื่องราวที่ฟังจากผู้บริหารก็มักจะออกมาในแนวที่ว่า บริษัทมีระบบการทำงานและพนักงานที่มีข้อมูลความรู้และทักษะที่เหนือกว่าบริษัทอื่นที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีการวิเคราะห์วิจัยระบบการทำงานหรือมีการอบรมพนักงานเป็นพิเศษ สิ่งที่บริษัททำก็ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทอื่นจะทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เวลาผู้บริหารพูด นักวิเคราะห์และนักลงทุนก็มักจะไม่ตั้งคำถาม นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ว่าถ้าคุณประสบความสำเร็จดูจากราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงและเร็วขนาดนั้น คุณจะพูดอะไรคนก็จะเชื่อและดูดีไปหมด แต่ถ้าหุ้นตก นักลงทุนขาดทุน นักวิเคราะห์ผิดหวัง ต่อให้คุณอธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครคิดหรือเชื่อว่าระบบหรือคนของคุณดี ตัวอย่างที่เห็นก็เช่นในเรื่องของธุรกิจปล่อยเงินกู้รายย่อยที่มีหลายบริษัทมีการดำเนินงานและตัวเลขสำคัญ เช่น อัตราหนี้เสียที่ดี “เหลือเชื่อ” แต่นักลงทุนและนักวิคราะห์ก็เชื่อ เป็นต้น

ตัวเลขเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นก็เป็นตัวเลขที่ดูเหมือนว่ามันจะดีจน “เหลือเชื่อ” ได้เช่นกัน “หุ้นนางฟ้า” นั้นมักจะมีมูลค่าหุ้นที่สูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน หุ้นนางฟ้าบางบริษัทนั้น “รายได้” ทั้งบริษัทเป็นแค่ครึ่งเดียวของ “กำไร” ของบริษัทอื่น แต่มูลค่าหุ้นเป็นสองเท่าของบริษัทนั้นก็มี โดยเหตุผลที่ใช้ในการ “สร้างความชอบธรรมของราคาหุ้น” ก็คือ “มันโตเร็วกว่ามาก” และการมีค่า PE 50-100 เท่าในขณะที่คู่แข่งที่ใหญ่กว่ามากในแง่ธุรกิจนั้นหุ้นมีค่า PE เพียง 10-15 เท่า ก็เป็นเรื่องปกติ เหนือสิ่งอื่นใด เขาใช้ค่า PEG ในการประเมินมูลค่าหุ้น นั่นก็คือ ถ้ากำไรบริษัทโตได้ 50-100% ใน 1 ปี ค่า PE ก็เป็น 50-100 เท่าได้ นี่เป็นเหตุผลที่นักวิเคราะห์ใช้เพื่อบอกว่าราคาหุ้นนางฟ้าเหล่านั้น “ไม่แพง” และควร “ซื้อ” มีนักวิเคราะห์น้อยมากที่กล้าหาญแนะนำให้ขายหุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นแรงแบบหุ้นนางฟ้าไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นเท่าไร

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็คือเรื่องราวของหุ้นที่เปลี่ยนจาก “หุ้นธรรมดา” มาเป็น “นางฟ้า” ในช่วง “ข้ามคืน” หรือไม่กี่ไตรมาศหรือแค่ 2-3 ปี หุ้นหลายตัวสามารถรักษาสถานะนั้นไว้ได้ บางตัวก็เป็นปี ๆ ตราบที่ตัวเลขดี ๆ เช่น กำไรที่โตขึ้นยังออกมาเรื่อย ๆ และ Story ดี ๆ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังดำรงอยู่ ซึ่งทั้งหมดนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า “ราคาหุ้นจะต้องคงอยู่ในระดับสูง” เพราะถ้าความมั่นใจหมดไป อาจจะเพราะว่าคนเริ่มสงสัยในความดีหรือสิ่งดี ๆ ของบริษัทและ/หรือราคาหุ้นเริ่มตกลงอย่างรวดเร็ว สถานะ “นางฟ้า” ของหุ้นก็จะถล่มทะลาย หลังจากนั้น ราคาหุ้นก็จะตกลงมาอย่างหนัก บางทีเกินครึ่ง บางตัวเหลือไม่ถึง 10% ของราคาเดิม เรื่องดี ๆ ต่าง ๆ ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุน

ชื่นชมสรรเสริญก็จะหายไป นั่นก็คือนาทีที่ “นางฟ้าตกสวรรค์” คนที่เสียหายหนักก็คือ นักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปเล่น ส่วนรายใหญ่หรือเจ้าของหุ้นเองนั้น บางคนก็ “กลับไปที่เดิม” แต่ส่วนมากก็จะรวยจากการขายหุ้นไปบางส่วนในราคาที่สูงเหลือเชื่อ ซึ่งแม้ว่าราคาจะตกลงมาครึ่งหนึ่งจากราคาสูงสุด เขาก็ยังได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

จากประสบการณ์ของผม หุ้นนางฟ้าส่วนใหญ่นั้นมักไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว เหตุผลก็เพราะว่า “สิ่งดี ๆ” ของหุ้นเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้น “ชั่วคราว” ในบางสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย บางบริษัทเองนั้น ผู้บริหารก็เป็น “คนสร้าง” สิ่งดี ๆ เหล่านั้นขึ้นเองด้วยวิธีการที่แยบยลและไม่โปร่งใส โดยส่วนใหญ่แล้ว ในช่วงแรก ๆ ไม่มีใครสนใจขุดคุ้ยหรือหาเหตุผลที่แท้จริง ทุกคนที่เกี่ยวข้องแม้แต่นักนักวิเคราะห์นั้นต่างก็มีผลประโยชน์เวลาหุ้นขึ้นไปเร็วและแรง ทุกคนอยากเห็นหุ้นขึ้น แต่ถ้ามันไม่ดีจริงในระยะยาว วันหนึ่งหุ้นก็จะต้องตกลงมาที่พื้นฐานของมัน หน้าที่ของ VI ที่ดีก็คือ อย่าเข้าไปร่วมเล่นกับมัน ผมเองเชื่อในสุภาษิตฝรั่งที่ว่า “If it is too good to be true, it probably is.” แปลว่า “ถ้าอะไรมันดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริง มันก็คงจะไม่จริง” และถ้ามันไม่จริง วันหนึ่งหุ้นก็จะต้องตกลงมาในจุดที่มันเป็นจริง เราไม่รู้ว่าวันนั้นคือวันไหน มันอาจจะเกิดขึ้นเร็วจนเรา “ขายหุ้นไม่ทัน”
donnyvi
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 466
ผู้ติดตาม: 9

Re: Too good to be true/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากเลยครับอาจารย์ ^^
"The Winners .... never Quit, The Quitters .... never Win"
ภาพประจำตัวสมาชิก
newbie_12
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2913
ผู้ติดตาม: 10

Re: Too good to be true/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

หุ้นนางฟ้านี่ถ้าเล่นดีๆทำหลายๆเซียนรวยกันหลายสิบเด้งกันมาแล้วนะครับ

จำได้ว่าหุ้นนางฟ้ายุคบุกเบิกที่อ. นิเวศน์ให้คำจำกัดความชุดแรกน่าจะเป็น 3 ทหารเสือ snc uec และ ums เหล่าสมาชิก thaivi เล่นกันทั้งเว็บ(สมัยก่อนสมาชิกยังน้อย แทบทุกคนรู้จักกันหมด ไม่เยอะเหมือนทุกวันนี้) ราคาหุ้นวิ่งกันหลายเด้งภายในปีเดียว คนที่เล่นเป็นก็รวยไม่รู้เรื่องกันไป

หลังจากนั้นก็มีหุ้นนางฟ้าพวกนี้มาอีกเยอะครับ หุ้นจำพวกที่มีช่วงที่ดีเป็นพิเศษอยู่ช่วงนึง กำไรโตติดๆกันหลายไตรมาส เริ่มมีคนเชื่อว่ามันจะดีแบบนี้ต่อไปตลอดกาล ราคาหุ้น PE และปริมาณซื้อขายติด top active อยู่บ่อยๆ แม้ว่าจะเป็นหุ้นตัวเล็กๆ

แต่อย่างที่บอกแหละครับ หุ้นพวกนี้ถ้าเล่นช่วงที่ฝุ่นกำลังตลบอบอวลไปด้วยความคาดหวัง แล้วออกทันก่อนที่ความจริงจะปรากฏ เข้าหุ้นนางฟ้าพวกนี้ถูกซัก 4-5 รอบก็รวยเละไม่รู้เรื่องละครับ

สิ่งสำคัญก็คือเราเล่นหุ้นนางฟ้าต้องรู้ว่ามันจะเป็นนางฟ้าเฉพาะช่วงที่ความจริงยังไม่ปรากฏ ถ้าฝุ่นเริ่มหาย เริ่มเห็นความจริงลางๆ แล้วยังหลอกตัวเองอยู่ว่าเป็น VI ถือยาว พื้นฐานบริษัทยังดี แบบนี้หายนะจะมาเยือนแน่นอน

เฉกเช่นเดียวกัน ถ้าเข้าหุ้นนางฟ้าโดยไม่รู้ว่ามันเป็นหุ้นนางฟ้า ถือยาวเป็น VI โดนหุ้นพวกนี้แล้วออกไม่ทัน 4-5 รอบ ก็จะเจ๊งโดยไม่รู้ตัว
.
.
อดีตอันรุ่งโรจน์ ไม่ได้การันตีอนาคตจะรุ่งเรือง

----------------------------
โพสต์โพสต์